โฆษกกระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนอย่าเสพข้อมูลหรือข่าวการเมืองมากเกินไป จะเกิดผลเสีย สมองทำงานหนัก ประสาททำงานลัดวงจร เกิดความเครียด ร่างกาย จิตใจเหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ปวดตึงศีรษะโดยเฉพาะผู้ที่เป็นโรคประจำตัวเช่นโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เสี่ยงหัวใจวาย เส้นเลือดแตก ส่วนผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืดอาการอาจแย่ลง แนะให้พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายจะช่วยสลัดความเครียดออกไปได้
แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า สังคมในยุคปัจจุบัน หรือการชุมนุมทางการเมืองขณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะผู้เกาะติดเหตุบ้านการเมืองจากสื่อมวลชน หรือการเสพข้อมูลจากสื่อที่อยู่ใกล้ตัว เช่น ไอแพด โทรศัพท์มือถือ บางคนดูข้อมูลบนมือถือตลอดเวลาตั้งแต่หลังตื่นนอนตอนเช้า แม้กระทั่งเวลาที่ทำกิจวัตรประจำวัน หรือแม้ขณะหลับก็ยังเปิดอุปกรณ์สื่อสารทิ้งไว้ เพื่อรับข้อมูลเข้ามา การเสพข้อมูลอย่างหนักจะทำให้สมองทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา ข้อมูลที่มากเกินมีผลทำให้สมองสำลักข้อมูล ทำให้เกิดความเหนื่อยล้าทั้งร่างกายและจิตใจตามมาและมีอันตรายได้
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อว่า เนื่องจากสมองคนเรามีข้อจำกัดในการดูดซับข้อมูลและการจัดเก็บข้อมูลที่รับเข้าไป ข้อมูลไหลเข้าสมองต่อเนื่องจะเกิดปัญหาล้นเกิน เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเครียด และเกิดการลัดวงจรของระบบประสาท ในที่สุดจะเสียสมดุลในการจัดการข้อมูล แม้ในเวลาหลับสมองอาจจะยังพยายามจัดการข้อมูลที่ยังค้างติดอยู่
“ผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นทันทีจากการเสพข้อมูลมากเกินไป ได้แก่ ความเหนื่อยล้า นอนไม่หลับ ปวดมึนศีรษะ มีอาการปั่นป่วนมวนท้อง คลื่นไส้ ผู้ที่ต้องระมัดระวังก็คือผู้ที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง จะทำให้เกิดภาวะหัวใจทำงานหนัก เสี่ยงหัวใจวาย ความดันโลหิตสูงขึ้น เสี่ยงเส้นเลือดแตก กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมามากขึ้น เสี่ยงเกิดโรคกระเพาะอาหาร ส่วนผู้ที่เป็นโรคกระเพาะอาหารอยู่เดิม อาการจะกำเริบได้ และผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้ เช่น หอบหืด อาจทำให้เกิดการเกร็งของทางเดินหายใจ หายใจไม่ออก อาการแย่ลงได้ จึงต้องระมัดระวัง” โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าว
ที่น่าห่วงอีกเรื่องหนึ่ง ก็คือการรับข้อมูลในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่มากเกินไปแล้ว ยังเป็นการรับข้อมูลที่ขาดการกลั่นกรองข้อเท็จจริงด้วย อาจจะเป็นการซ้ำเติมให้เกิดความเครียดลงไปอีก หากเสพไปนานๆ อาจทำให้กลายเป็นผู้ที่มองโลกในแง่ลบ โดยการเสพติดข้อมูลนั้นเป็นผลมาจากความรู้สึกว่าต้องการข่าวใหม่ๆ เข้ามาเร้าความสนใจตลอดเวลา จนทำให้เกิดอาการอยากสร้างเรื่องที่ธรรมดาให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ น่าสนใจ เช่นการส่งต่อข้อความเดิมๆ ซ้ำๆ จนเกิดความรู้สึกว่าชิ้นข่าวนั้นน่าสนใจ หรืออาจมีการต่อเติมข้อความจากความคิดของตนเอง ให้ข้อมูลธรรมดากลายเป็นเรื่องใหม่ที่น่าสนใจ ปรากฏการณ์แบบนี้ ทำได้ง่ายขึ้นในยุคเทคโนโลยีปัจจุบัน
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขกล่าวต่อไปว่า ในการป้องกันข้อมูลล้นสมอง ขอให้ประชาชนจัดแบ่งเวลาในการรับข้อมูลที่พอประมาณ หลีกเลี่ยงการสนทนาการเมือง แบ่งเวลาในการทำกิจกรรมอื่น ทั้งหน้าที่งานประจำ พักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ชีวิตเกิดความสมดุล ควรจัดเวลาออกกำลังกายด้วยอย่างน้อยวันละไม่ต่ำกว่า 30 นาที เนื่องจากการออกกำลังกายจะทำให้สมองหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียกว่าสารเอนดอร์ฟีน (endorphine) สามารถขจัดความเครียดได้ตามธรรมชาติ ช่วยให้ร่างกายเกิดการผ่อนคลาย และนอนหลับได้ดีขึ้น
*************************** 8 ธันวาคม 2556
亽亽
未经允许不得转载:综合资讯 » กระทรวงสาธารณสุข