ปชป.เฉือนหวิว พท.เตรียมพร้อม การเมืองวุ่น!
ทันทีที่"ศาลรัฐธรรมนูญ"มีมติให้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยคะแนน 4-2 เสียง เนื่องจากมีความเห็นว่ากระบวนการยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ กรณีการใช้เงินกองทุนพรรคการเมือง จำนวน 29 ล้านบาทผิดวัตถุประสงค์ ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งคำร้องล่าช้าเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ทำให้ประเด็น กฎหมายข้ออื่น ศาลรัฐธรรมนูญไม่จำเป็นต้องมีการวินิจฉัย อีกต่อไป
พรรคประชาธิปัตย์จึงรอดจากการถูกยุบพรรคไปได้ง่ายดาย อย่างที่สังคมคาดไม่ถึง ใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยทั้งสิ้นประมาณ 40 นาทีเท่านั้น เพราะก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมนูญเคยตัดสินยุบ 3 พรรคการเมือง โดยศาลใช้เวลาอ่านคำวินิจฉัยยาวนานกว่านี้มาก
ตุลาการเสียงข้างมาก จำนวน 4 เสียง ที่มีคำวินิจฉัยให้ยกคำร้องยุบพรรคประชาธิปัตย์ได้แก่ นายจรัญ ภักดีธนากุล นายสุพจน์ ไข่มุกด์ นายนุรักษ์ มาประณีต และ นายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างน้อย จำนวน 2 เสียง ที่เห็นควรให้ยุบพรรคประชาธิปัตย์ ได้แก่ นายชัช ชลวร ประธานตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและนายบุญส่ง กุลบุปผา
จากนี้ ดูเหมือนความวุ่นวายทางการเมือง ทั้งหมดที่เกิดจากกรณีการยุบพรรคประชาธิปัตย์ กำลังจะหมดไป หลังจากที่ศาลมีคำตัดสินออกมา แต่หากจับอาการสังเกตกันให้ดี ความวุ่นวายและผลกระทบทางการเมืองกำลังก่อตัวตามมาอย่างไม่มีทีท่าจะสิ้นสุด ทั้งเรื่อง การกล่าวหา 2 มาตรฐาน กรณีไม่เห็นด้วยกับคำตัดสิน ของศาลรัฐธรรมนูญ ความรุนแรงทางการเมืองที่อาจจะเกิดขึ้นจากการชุมนุม ของกลุ่มคนเสื้อแดง-เสื้อเหลืองที่จะตามมา
หรือ การจับขั้วร่วมเป็นรัฐบาลของพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง "ภูมิใจไทย" และ "ชาติไทยพัฒนา" และความสงสัยของพรรคเพื่อไทยที่ตั้งข้อสังเกต ถึงความเชื่อมั่นของพลพรรคค่ายพระแม่ธรณีบีบมวยผม ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาเพียง 1 วัน ซึ่งแกนนำพรรคต่างออกมาแสดงความมั่นใจว่า จะรอดจากคดียุบพรรคอย่างผิดสังเกต ทั้งหมดอาจทำให้้อุณหภูมิทางการเมืองของประเทศอาจกลับมาร้อนแรงอีกครั้งก็เป็นได้
ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงค์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า)กล่าวกับ"ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์"ถึงกรณี คำวินิจฉัยที่ออกมาจะส่งผลกระทบให้เกิดแรงกระเพื่อมทางการเมืองมากน้อยเพียงใดนั้น เชื่อว่าสังคมไทย คงรับรู้และไม่สนับสนุนการชุมนุมที่มีความรุนแรง สังคมมีบทเรียนที่มากพอ หากยังมีคนไทยบางส่วนที่ยังไม่ยอมเรียนรู้จากบทเรียนที่ผ่านมา ก็เป็นชะตากรรมของคนไทยที่จะต้องประสบ
ทั้งนี้กรณีที่เกรงว่า จะมีประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพรรคเพื่อไทย ที่ไม่เห็นด้วย ออกมากล่าว เรื่อง 2 มาตรฐานนั้น ในความเห็น ศ.ดร.สมบัติ ชี้ คงไม่สามารถไปห้ามความคิดของประชาชนได้ ถ้าสังเกตให้ดี คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ยังเห็นไม่ตรงกันได้ ดังนั้นถือเป็นเรื่องปกติ ทั่วโลกก็เป็นไปในรูปแบบเดียวกัน แต่คำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องถือเป็นจุดสิ้นสุดสังคมจึงจะเกิดความสงบสุข
อย่างไรก็ตาม เมื่อคำตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ถูกยกคำร้องแล้ว เชื่อว่า จากนี้ไปพรรคประชาธิปัตย์ก็ยังเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี อยู่ต่อไป ไม่น่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากนัก
ขณะที่กรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลอาจประกาศยุบสภา ในช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย. 2554 หรือจะอยู่ยาวถึงสิ้นปีหน้าตามอายุรัฐบาลนั้น ต้องขึ้นอยู่กับนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจ เพราะต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลมีความชอบธรรมที่จะอยู่บริหารประเทศจนถึงเดือน ธ.ค.2554
ด้านนายคมสันต์ โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยว่า คดีนี้พรรคประชาธิปัตย์จับถูกทาง แต่หากเทียบกับคดียุบพรรคการเมืองอื่นๆที่ผ่านมา ไม่สามารถเทียบเคียงได้ เพราะคดีเหล่านั้นมีหลายสาเหตุ แตกต่างกันไป ส่วนการยกคำร้องจะทำให้ถูกข้อครหาเป็นสองมาตรฐานหรือไม่ นายคมสันต์ กล่าวว่า ศาลยังไม่ได้ชี้เรื่องนี้ ศาลได้ชี้ในประเด็นข้อกฎหมาย ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าว เป็นการแพ้ทางเทคนิค โดยจะไม่มีการพิจารณาต่อ สำนวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กตต.) อ่อนมาตั้งแต่ต้น แต่คดีของพรรคประชาธิปัตย์ยังไม่จบ ยังต้องรอการพิจารณาคดีเงินบริจาค 258 ล้านบาทอีก
ขณะที่นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส. ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ระบุ พรรคเพื่อไทยจากนี้ไปก็จะลงหาเสียงเตรียมเลือกตั้งในพื้นที่ส่วนที่มีข่าวลือว่า ส.ส. พรรคเดินทางไปประเทศเวียดนาม เพื่อพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อหารือเตรียมการเลือกตั้งนั้น ปฏิเสธว่า ไม่เป็นความจริง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เดินทางมา แต่ยอมรับมี ส.ส. เพื่อไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไป ซึ่งนายสุชาติ อ้างว่า เพื่อไปพบกับกลุ่มคนเสื้อแดงที่อยู่ในประเทศเวียดนามเท่านั้น
ทั้งนี้นายสุชาติ ไม่ยอมระบุว่า มีแกนนำที่หลบหนีไป ตอนช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือน เม.ย.-พ.ค.2553 รวมอยู่ด้วยหรือไม่
未经允许不得转载:综合资讯 » วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2553