综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

ปีชิงอำนาจกระชับปรองดอง

ปีชิงอำนาจกระชับปรองดอง

1 มกราคม วันเริ่มต้นของปีใหม่ 2554

ผู้คนส่วนใหญ่ถือว่าวันนี้เป็นวันดี เพราะเป็นวันแรกที่ได้เริ่มดำเนินชีวิตในรอบขวบปีใหม่

"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ"  จึงใช้โอกาสในวันแรกของปี 2554 มองสำรวจไปข้างหน้า  เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในรอบปีนี้

สิ่งที่มองเห็นตามปฏิทินเวลาทางการเมือง ก็คือ ตั้งแต่วันที่ 21 มกราคมนี้จะได้ฤกษ์เปิดสมัยประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไป เป็นระยะเวลา 120 วัน

ซึ่งมีเรื่องสำคัญที่มีการดำเนินการกันมาข้ามปีรอ อยู่ นั่นก็คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น ที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นเจ้าภาพเสนอ

โดยรัฐสภาได้ให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขทั้ง 2 ประเด็นในวาระแรก และตั้งคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นมาแปรญัตติ โดยได้ทำงานกันมาตลอดแม้เป็นช่วงปิดสมัยประชุม

เมื่อเปิดสมัยประชุมรัฐสภาคราวนี้ ก็จะต้องมีการนำผลการพิจารณาแปรญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ร่าง 2 ประเด็น ที่คณะกรรมาธิการฯพิจารณาเสร็จแล้ว เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระที่ 2 และ 3 ต่อไป

ที่สำคัญ  เมื่อการเปิดสมัยประชุมรัฐสภาในครั้งนี้ เป็นสมัยประชุมสามัญทั่วไป

โดยกติกาของรัฐธรรมนูญ  ฝ่ายค้านมีสิทธิที่จะยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลได้ ภายในเขตสมัยประชุม

และหากฝ่ายค้านยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว  นายกรัฐมนตรีจะไม่มี สิทธิประกาศยุบสภา

ทั้งนี้ โดยปฏิทินเวลาของสภา  เมื่อหมดสมัยประชุมสามัญทั่วไป 120 วันแล้ว ก็จะเข้าสู่ช่วงปิดสมัยประชุมประมาณ 2 เดือน

จากนั้นจะมีการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา สมัยสามัญนิติบัญญัติ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมอีกครั้ง ซึ่งเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้ปีหนึ่งมี 2 สมัยประชุม

โดยในห้วงเปิดสมัยประชุมสามัญนิติบัญญัติ 120 วัน สภาฯ จะพิจารณาเฉพาะร่างกฎหมาย  และกระทู้ถามเท่านั้น  ฝ่ายค้านไม่มีโอกาสยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล  และใน ห้วงสมัยประชุมนี้ สภาฯก็มีภารกิจสำคัญ คือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555

เหนืออื่นใด  เมื่อเวลาก้าวผ่านไปถึงช่วงปลายปี ในวันที่ 22 ธันวาคม 2554 ก็จะเป็นวันครบเทอม 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้

ซึ่งนั่นก็หมายความว่า รัฐบาลก็จะครบวาระไปตามเทอมของสภาฯ ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะต้องจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงต้นปี 2555

ทั้งหมดนี้ คือ ตารางเวลาทางการเมืองภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและภารกิจของรัฐสภา

ถ้าทุกอย่างเดินไปตามปฏิทินเวลา  เมื่อเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปปลายเดือนมกราคมนี้

สิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นแน่ๆ คือ การพิจารณาร่างแก้ไข รัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น ในวาระที่ 2 และ 3

โดยทีมของเราฟันธงว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาแน่นอน

และเมื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จลุล่วงไปแล้ว  สิ่งที่จะต้องติดตาม  ก็คือ  เรื่องการยุบสภา  ที่นายกฯอภิสิทธิ์เคยระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะยุบสภาในห้วงเดือนมีนาคม-เมษายน

ภายใต้เงื่อนไข 3 ข้อ คือ เศรษฐกิจฟื้นตัว แก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จ  และสถานการณ์บ้านเมืองสงบ  ทุกพรรคไปหาเสียงได้ทุกพื้นที่ โดยไม่มีเหตุรุนแรงในสนามเลือกตั้ง

ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละฝ่ายจะมีความเชื่อใจและจริงใจที่จะปรองดองกันแค่ไหน

แต่เรื่องที่จะยุบสภาเพื่อหนีญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านนั้น  เราขอชี้ว่า มีน้ำหนักน้อยมาก เพราะหัวหน้ารัฐบาลที่ชื่อ "อภิสิทธิ์" ไม่มีแผลเรื่องการทุจริตคอรัปชัน

ที่สำคัญ  เวทีสภาเป็นเวทีที่เขาถนัด  ชี้แจงได้ทุกเรื่อง  พร้อมที่จะโซ้ยกับฝ่ายค้านแน่นอน

แต่ที่สุดแล้วก็คงต้องวัดใจฝ่ายค้าน  พรรคเพื่อไทย  ด้วยเหมือนกัน  เพราะภายใต้ยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมา  เน้นไปที่การกดดันให้ นายกฯ ยุบสภา

เพื่อกลับไปชิง อำนาจในสนามเลือกตั้ง หวังได้ชัยชนะพลิกกลับมาเป็นรัฐบาล

ถึงขั้นที่แกนนำพรรคไปร่วมปลุกระดมม็อบเสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคมปีที่แล้ว จนเหตุการณ์บานปลายกลายเป็นความรุนแรง เกิดจลาจลเผาบ้านเผาเมือง

เป้าหมายใหญ่ครั้งนั้น ก็เพื่อบีบให้มีการยุบสภา

มาคราวนี้ต้องจับตาว่า พรรคเพื่อไทยจะตัดสินใจยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลหรือไม่ ถ้ายื่นจะยื่นช่วงไหนของสมัยประชุม

เพราะถ้ายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ  นายกฯก็ยุบสภาไม่ได้

จึงต้องรอดูว่าฝ่ายค้านจะเอาญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจมาขวางการยุบสภาหรือไม่

ขณะเดียวกัน  เมื่อโฟกัสเข้าไปในรัฐบาล  แม้พรรคแกนนำกับพรรคร่วมรัฐบาลจะมีปัญหาระหองระแหงกันบ้าง  แต่ก็ยังไปจับมือกันแน่น เพราะมีผลประโยชน์เป็นตัวยึดโยง

ฉะนั้น จึงเชื่อได้ว่าการปรับ ครม.ใหญ่จะไม่เกิดขึ้น แม้การตัดสินใจปรับ ครม.เป็นอำนาจของนายกฯ แต่ด้วยองคาพยพที่ลงตัวอยู่แล้วในขณะนี้  ก็คงต้องชั่งน้ำหนักว่าปรับแล้วได้หรือเสียมากกว่ากัน

สำหรับเรื่องการยุบสภาที่นายกฯอภิสิทธิ์ส่งสัญญาณออกมานั้น แน่นอนว่าพวกที่สมประโยชน์ในการเป็นรัฐบาล ทั้งที่อยู่ในพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาล ต่างก็ไม่อยากให้ยุบ

เพราะต้องการอยู่เป็นรัฐบาลต่อไปเพื่อจัดทำงบฯปี 2555 และแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการลอตใหญ่

ส่วนนายกฯอภิสิทธิ์ที่อยากจะยุบสภา  ก็คงเป็นอย่างที่เขาเคยบอกไว้ตั้งแต่แรกว่า  ถ้าเลือกได้ก็ไม่อยากเป็นนายกฯ ที่มาจากการพลิกขั้วการเมือง แต่อยากเป็นนายกฯหลังการเลือกตั้งมากกว่า

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คนที่มีภาพสง่างามอย่างเขาต้องลงมาคลุกฝุ่นเปรอะเปื้อน  เป็นนายกฯจากการพลิกขั้ว  คงทำให้เขาอยากอาบน้ำใหม่ กลับไปเลือกตั้งใหม่

แต่อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่เป็นรัฐบาลผสม และต้องการพันธมิตรหลังเลือกตั้ง  จะไม่ฟังเสียงคนในพรรคตัวเองและพรรคร่วมรัฐบาลก็คงไม่ได้

ยกตัวอย่างง่ายๆ ถ้านายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรค  ยืนยันยังไม่พร้อมเลือกตั้ง  นายกฯอภิสิทธิ์ก็คงไม่ฝืนยุบสภาในสภาวะที่ปัจจัยในพรรคยังไม่พร้อม

ตรงนี้จึงทำให้ฟันธงได้ยากว่าการยุบสภาจะเกิดขึ้น ช่วงไหนกันแน่

แต่อย่างไรก็ตาม ปี 2554  จะเป็นปีแห่งการเลือกตั้งแน่นอน และจะเป็นการเลือกตั้งที่ชิงชัยกันระหว่างการเมือง 2 ขั้วเหมือนเดิม คือ

พรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย ใครได้เสียงข้างมากก็ได้จัดตั้งรัฐบาล

แต่การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นยังมีปัจจัยประกอบในเรื่องความแตกแยกของคนในชาติ  ที่อยู่ระหว่างการเดินไปตามแนวทางกรอบการปรองดอง

สถานการณ์ปีนี้  จึงเป็นบรรยากาศของการชิงอำนาจและกระชับปรองดองไปพร้อมๆกัน

เมื่อหันมาที่การเมืองนอกสภา  ความเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อแดงก็ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง  เพราะมีการประกาศชัดว่าจะจัดชุมนุมกันทุกวันที่ 10 และวันที่ 19 ของทุกเดือน

แม้มีเสียงยืนยันจากนางธิดา  ถาวรเศรษฐ  รักษาการประธาน นปช. ว่าจะเป็นการชุมนุมโดยสงบ แต่ถ้ามีการปิดถนนย่อมส่งผลกระทบต่อประชาชน  และยังอาจมีการขยายผลเป็นม็อบใหญ่ได้ตลอดเวลา

ในขณะที่ม็อบเสื้อเหลืองแม้จะแผ่วลงไป  แต่ก็ประกาศจองกฐินล่วงหน้าไว้แล้วว่า วันที่ 25 มกราคมนี้ จะนัดชุมนุมประท้วงเรื่องเขตแดนเขาพระวิหาร  พ่วงคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ฉะนั้น  เชื่อได้ว่าปัญหาม็อบแดง  ม็อบเหลือง  ยังมีให้เห็นตลอดทั้งปี

สำหรับเรื่องของการเลือกตั้ง ไม่ว่ารัฐบาลจะมีการยุบสภาเลือกตั้งกันภายในปีนี้ หรืออยู่จนครบเทอมเพื่อไปเลือกตั้งกันต้นปีหน้า

ก็อย่างที่บอก การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นจะเป็นการต่อสู้ กันระหว่างพรรคประชาธิปัตย์ กับพรรคเพื่อไทย

ทางด้านพรรคประชาธิปัตย์  เป็นแกนนำรัฐบาลบริหารประเทศมาแล้ว 2 ปี ภายใต้การนำของนายกฯอภิสิทธิ์ ที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะกลับมาเป็นนายกฯ สมัยที่ 2

โดยหวังว่านโยบายประชาวิวัฒน์  ลดแลกแจกแถมจะออก ดอกออกผล เจาะคะแนนนิยมจากคนรากหญ้าได้ ที่สำคัญยังมีอำนาจรัฐอยู่ในมือ มีเสบียงกรังพอสมควร

ถือได้ว่าพรรคประชาธิปัตย์มีความพร้อมในการลงสนามเลือกตั้ง ที่สำคัญเมื่อมองถึงความสัมพันธ์กับพรรคร่วมรัฐบาลที่ยังจับมือกันแน่น หากคงเสียงไว้ได้จนไปถึงการจัดตั้งรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า

"ประชาธิปัตย์" ก็มีสิทธิสูงมากที่ จะกลับมาเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง

สำหรับพรรคเพื่อไทย ต้องยอมรับว่ายังมีกระแสขานรับจากคนรากหญ้า ที่ถือว่าเป็นสมบัติเก่าของ "นายใหญ่"

เรื่องกระสุนเสบียงกรังก็ถือว่ากินขาด ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ตั้งใจเกสู้จริงๆ จะเป็นรองก็แค่อำนาจรัฐ และพี่เลี้ยงที่มีสีเท่านั้น

รวมไปถึงเรื่องคนที่จะเอามาชูเป็นหัวหน้าพรรคในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่มาถึงตอนนี้ "นายใหญ่" ก็ยังไม่ยอมเคาะชื่อออกมาอย่างเป็นทางการ

โดยองคาพยพของพรรคเพื่อไทยในวันนี้ ต้องยอมรับว่า ไม่แน่นเหมือนเดิม แต่จากกระแสเก่าของ "ทักษิณ" ก็ถือว่าไม่เป็นรองใคร ยังเป็นที่หวั่นไหวของคู่แข่ง

แต่ที่ตีปี๊บประกาศว่าจะกวาด ส.ส.พรรคเดียวเกินครึ่งสภาฯ คงไม่ใช่เรื่องไม่ง่าย

ทั้งนี้ทีมของเราขอฟันธงว่า  ผลการเลือกตั้งที่จะออกมาจะไม่มีพรรคการเมืองใดได้เสียง ส.ส.เกินครึ่งสภาฯ

นั่นก็หมายความว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะเป็นรัฐบาลผสมอย่างแน่นอน

ที่สำคัญ การเป็นรัฐบาลผสมในสูตรที่มีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนนำและมีพรรคร่วมรัฐบาลหน้าเดิมเข้าร่วมนั้น ถือว่ามีความเป็นไปได้ในอันดับแรก

แต่สูตรนี้ ก็ไม่ได้เป็นจุดเปลี่ยนในการแก้ปัญหาบ้านเมืองหรือการปรองดองแต่อย่างใด

เพราะสถานการณ์จะอมโรคเหมือนเดิม

หรืออีกสูตรหนึ่ง พรรคร่วมรัฐบาลในปัจจุบันพลิกขั้วไปหนุนพรรคเพื่อไทยให้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ปฏิบัติการย้ายขั้ว ผลักให้ประชาธิปัตย์ไปเป็นฝ่ายค้าน

ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คงไม่ต่างไปจากสูตรแรก ปรองดองไม่เกิด อมทุกข์อมโรคเหมือนกัน

สำหรับสูตรที่จะชะงัดในการกระชับความปรองดองมากที่สุด ก็คือ พรรคอันดับ 1 กับพรรคอันดับ 2 "ประชาธิปัตย์" กับ "เพื่อไทย" จับมือกันตั้งรัฐบาล

สูตรนี้ การปรองดองจะเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็ว เพราะ 2 ขั้วการเมืองที่เป็นต้นเหตุของความขัดแย้ง มารวมกันเป็นขั้วเดียว เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงเหตุ

โดยหลักทฤษฎีเป็นอย่างนี้ แต่ในการปฏิบัติจริงจะเป็นไปได้แค่ไหน ยังเป็นเรื่องยาก ที่จะให้คำตอบ เพราะยังมีอีกหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง

"ชิงอำนาจกระชับปรองดอง" เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันตลอดปี 2554.

"ทีมการเมือง"

未经允许不得转载:综合资讯 » ปีชิงอำนาจกระชับปรองดอง

赞 (0)
分享到:更多 ()