โฟกัสกระบวนท่า"จอมยุทธ์"โดนวิกฤติต้อนเข้ามุมอับ งัดมุกใหม่ไฟต์บังคับผ่าทางตัน
หากเปรียบการเมืองเหมือนฉากประลองฝีมือ ที่เหล่าจอมยุทธ์ต้องปรับกระบวนท่าในเกมการต่อสู้อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะในยามที่ตัวเองเพลี่ยงพล้ำ ทำท่าจะเป็นรองคู่ต่อสู้ ยิ่งต้องรู้หลบเป็นปีกรู้หลีกเป็นหาง
อย่างน้อยก็ต้องเอาตัวรอดเฉพาะหน้าไว้ก่อน
และโดยสถานการณ์ในรอบปีที่ผ่านมา การเมืองจ่อพลิกอยู่หลายตลบ เริ่มจากห้วงวิกฤติสุดในเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง นปช. นำมาสู่การสลาย ม็อบ ที่มีคนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองประเทศไทย ต่อมาก็คิวการปรับเปลี่ยนภายในพรรคร่วมรัฐบาล การจัดแถวใหม่ของขุนทหารในกองทัพ ปรากฏการณ์ลุ้นคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ฯลฯ
แต่ละช็อตล้วนก่อให้เกิดแรงกระเพื่อม ต้องลุ้นการเมืองพลิกไปพลิกมา
ท่ามกลางปรากฏการณ์เกมการต่อสู้ที่ขึงพืดกันอยู่ วิกฤติความแตกแยก การแบ่งขั้วแบ่งฝ่ายในบ้านเมืองที่ยังเป็นไฟสุมขอนคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา
เมื่อเดิมพันในเกมอำนาจยังไม่จบสิ้น นั่นก็ทำให้บรรดาขุน โคน เบี้ย ในกระดานการเมือง จำเป็นต้องดิ้นรักษาสถานภาพของตัวเอง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความจริงที่ว่า จากผลพวงของการต่อสู้ในเกมรบที่ลากยาวมาหลายปี แต่ละฝ่ายต่างบาดเจ็บสะบักสะบอม เหนื่อยล้าด้วยกันทั้งนั้น
ผลัดกันรุกผลัดกันรับ จากฝ่ายรับพลิกเป็นฝ่ายรุก จากฝ่ายรุกพลิกเป็นฝ่ายรับ
และก็เป็นที่น่าสังเกตว่า ยิ่งเกมการต่อสู้ใกล้ถึงจุดสุดท้าย ฉากจบงวดเข้ามามากเท่าไหร่ เหล่าจอมยุทธ์ยิ่งโดนวิกฤติต้อนเข้ามุมอับ เจอไฟต์บังคับให้ต้องรีบปรับกระบวนท่า
งัดมุกใหม่ "ผ่าทางตัน" เพื่อประคองตัวเล่นอยู่ในเกมอำนาจต่อไป.
ปลีกวิเวกหลบกระแส
จากเซียนการตลาดตัวพ่อ ผู้เชี่ยวชาญมุกชิงพื้นที่ข่าว เบียดชิงกระแสกับฝ่ายคุมเกมอำนาจชนิดที่ตามเกมกันไม่ทัน แต่ภายหลังจากที่กลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงโดนกองทัพภายใต้การสั่งการของศูนย์อำนวยการสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) เดินหน้าสลายการชุมนุม มีคนบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากเป็นประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ลุกลามบานปลายถึงขั้นเผาบ้านเผาเมืองเป็นจลาจล นับตั้งแต่นาทีนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "นายใหญ่" อยู่เบื้องหลังสั่งการแกนนำม็อบเสื้อแดง ก็หายเงียบไปจากกระดานข่าว
ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวให้เป็นเป้าสายตา แม้แต่ที่พำนักเป็นหลักแหล่งก็ไม่ชัดเจน
อดีตนายกฯทักษิณเล่นบทใหม่ ปลีกวิเวกเต็มรูปแบบ จากที่เคยเปิดแนวรบไฮเทค ทำสงครามการสื่อสารตามแบบฉบับของอัศวินคลื่นลูกที่ 3 ก็ปิดแนวรบลงดื้อๆ ลดการโฟนอินตามมุกถนัด แม้แต่การสื่อสารแบบไม่ต้องลงทุนผ่านเว็บไซต์ทวิตเตอร์ คุยกับแฟนคลับผ่านเฟซบุ๊ก ก็หายไปจากกระดาน
ไม่มีการติดต่อสื่อสารกับกลุ่มผู้สนับสนุนนานหลายเดือน
เพิ่งจะกลับมาเป็นข่าวฮือฮาในช่วงปลายปี เมื่อมีข่าวว่าอดีตนายกฯทักษิณได้รับเทียบเชิญให้เข้าชี้แจงเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะข้อมูลเรื่องการสลายม็อบเสื้อแดงจนมีคนเจ็บคนตาย ต่อคณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (ซีเอสซีอี) ที่สหรัฐอเมริกา
แต่ก็เป็นการแถลงผ่านนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย แล้วที่สุดก็เลื่อนคิวออกไปไม่มีกำหนด
"ทักษิณ" หลบเข้ากลีบเมฆตามเดิม
ตามจังหวะที่จับทางได้ มันคือไฟต์บังคับของฝ่ายที่เพลี่ยงพล้ำ จำเป็นต้องถอยไปตั้งหลัก "นายใหญ่" ต้องเปลี่ยนเกมเล่นใหม่ เบื้องต้นเลยต้องหลบกระแสที่โดนฝ่ายคุมเกมอำนาจป่าวประกาศผ่านเครือข่าย ประจานไปทั่วโลกว่าอยู่เบื้องหลังเหตุเผาบ้านเผาเมือง ทำลายประเทศชาติบ้านเกิดของตัวเอง
แต่ท่ามกลางความเงียบ ก็ไม่ได้สงัดซะทีเดียว
ยังมีการโยนมุกปรองดองออกมาถามทางเป็นระยะ ขณะเดียวกันก็เดินเกมเงียบด้วยการจ้างทนายระดับโลกปฏิบัติการล็อบบี้เวทีนานาชาติ ลากคดีปราบม็อบเสื้อแดงขึ้นศาลโลก บลัฟฝ่ายคุมเกมอำนาจในประเทศไทย
"ทักษิณ" ซุ่มรอจังหวะ "เอาคืน" อยู่ตลอดเหมือนกัน.
ขอแค่ยื้อเกมต่อยอมได้
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นพวกเส้นใหญ่ กองเชียร์พ่อยกแม่ยกแน่นหนา มีโอกาส "ขอตัวช่วย" ได้แบบไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่ถึงจังหวะคับขัน ในอารมณ์ลุ้นระทึก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ก็มี อาการแกว่งให้เห็นเหมือนกัน
เพื่อผ่าทางตัน สามารถทำได้ทุกอย่าง
ทั้งๆที่เคยประกาศเสียงแข็ง อ้างหลักการหรูๆ สนับสนุนระบบเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เรียงเบอร์ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 สามารถป้องกันการซื้อเสียงได้มาก ทำให้คนดีๆ โดยเฉพาะคนของพรรคประชาธิปัตย์ที่เน้นการเลือกตั้งแบบบริสุทธิ์ยุติธรรม ได้มีโอกาสฝ่าด่านเงินเข้าสภาผู้แทนราษฎร
และที่ "อภิสิทธิ์" ไม่ได้พูดตรงๆ แต่คนทั่วไปก็รู้กันอยู่ว่า ระบบเลือกตั้งแบบเขตใหญ่ เรียงเบอร์ เป็นการเอื้อให้ผู้สมัครของพรรคประชาธิปัตย์ประเภทที่เรียกกันว่า "หมาหลง" มีโอกาสโหนกระแสพรรค อาศัยเพื่อนช่วยหนีบเข้าสภา โดยเฉพาะในพื้นที่เมืองกรุง และหัวเมืองใหญ่ที่กระแสนิยมประชาธิปัตย์หนาแน่น สามารถเอาแต้มรวมไปฉุดคะแนนที่เบาบางในเขตนอกเมืองได้
เขตเลือกตั้งใหญ่เอื้อประโยชน์ให้ประชาธิปัตย์เต็มๆ
แต่ถึงจังหวะวัดใจ โดยเฉพาะนาทีเข้าด้ายเข้าเข็มในห้วงที่คดียุบพรรคประชาธิปัตย์กำลังลุ้นพลิกคว่ำพลิกหงาย จ่อโดน 2 เด้ง ทั้งปมใช้เงินกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ผิดวัตถุประสงค์ และประเด็นไซฟ่อนเงินบริจาค 258 ล้านบาท โอกาสที่นายกฯอภิสิทธิ์ได้ลุ้นต่อโปรโมชั่นตั๋วพิเศษก้ำกึ่งเต็มที
ท่ามกลางหลายสูตรการเมืองที่ถูกคาดการณ์ล่วงหน้า แต่ที่แน่ๆ ก่อนอื่นเลยยี่ห้อประชาธิปัตย์ต้องล็อกสิทธิความเป็นแกนนำจัดรัฐบาลไว้ก่อน
เหนืออื่นใดเพื่อแลกกับการต่อเวลาบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรี "อภิสิทธิ์" จำเป็นต้องให้ใจเพื่อน จัดให้ตามที่เคยให้สัญญาลูกผู้ชายไว้กับพรรคร่วมรัฐบาลที่ต้องการแก้รัฐธรรมนูญกลับไปเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว เพื่อสู้กระแสพรรคการเมืองใหญ่
กล้าขัดใจกับคนของประชาธิปัตย์ "อภิสิทธิ์" เลือกเจาะช่องหายใจไว้ก่อน
ไม่นับคิวโปรยหว่านนโยบาย "ประชาวิวัฒน์" ตกเขียวคะแนนเสียงเลือกตั้งล่วงหน้า ขัดกับอารมณ์ก่อนหน้า ที่ "อภิสิทธิ์" กับคนยี่ห้อประชาธิปัตย์เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายประชานิยมของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร แต่ถึงคิวตัวเอง "อภิสิทธิ์" กลับไม่ขัดเขิน
ไฟต์บังคับให้ทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาเกมอำนาจให้นานที่สุด.
พึ่งเจ้าเคลียร์ปมด้อย
โดยสภาพ "ผีหัวขาด" ของ พรรคเพื่อไทย แม้จะมีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รับเป็นหัวหน้าพรรค "ตราตั้ง" แต่ก็ยังถูกมองว่า "ขัดตาทัพ" ไม่ใช่แค่ ส.ส.ลูกพรรคเท่านั้น แม้แต่คนนอกก็มองข้ามหัว ลืมกันไปเลยว่า นายยงยุทธคือหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
เรื่องของเรื่อง ก็อย่างที่ปรากฏเป็นข่าวตอกย้ำความพิลึกพิลั่น
กับคิวที่มีชื่อของ "บิ๊กโก" พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ อดีตรองนายกฯ และอดีต รมว.มหาดไทย สมัยรัฐบาล พรรคพลังประชาชน โผล่ออกมาเป็น "ตัวเต็ง" จ่อรับธงหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่
ตามชื่อชั้นของอดีตตำรวจตระเวนชายแดน ผู้รับใช้ใกล้ชิดสถาบัน
แต่แค่ข้ามวันก็เกิดเหตุพลิกล็อก หลัง ส.ส.ลูกพรรคบินไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงที่พำนักในประเทศรัสเซีย เคลียร์ข้อมูลลึกวงใน "บิ๊กโก" มีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับยี่ห้อ "เพื่อนเนวิน" มากกว่า ระแวงว่าจะเป็นไส้ศึกส่งเข้ามายึดค่าย สุดท้ายก็เลยต้องล้มเลิกกลางคัน ต้องพึ่งบริการนายยงยุทธขัดตาทัพต่อไป
ก่อนจะถึงคิวเซอร์ไพรส์ "บิ๊กจิ๋ว" พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทย ปล่อยปริศนา "จะมีเครื่องหมายแห่งความจงรักภักดีมาอยู่กับพวกเรา เป็นหม่อมเจ้ารุ่นสุดท้าย" ก่อนที่จะปล่อยชื่อ "ท่านใหม่" พลตรีหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล เป็นข่าวพาดหัวไม้บนหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน
แต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น "ท่านใหม่" ก็ออกมาปฏิเสธทันควัน ยืนยันเลยว่า ตัวเองเป็นเจ้า ไม่เคยคิดเล่นการเมืองให้เปลืองตัว ขณะที่ "บิ๊กจิ๋ว" เอง ก็ต้องรีบออกมาชี้แจงแถลงไขแก้ข่าว ขอประทานอภัย "ท่านใหม่" ที่มีข่าวทำให้เกิดความเข้าใจผิด
หน้าแหกหมอไม่รับเย็บ กลายเป็นเรื่องโอละพ่อ
ท่ามกลางลูกหาบประชาธิปัตย์ได้ทีถากถางเย้ยหยัน พรรคเพื่อไทยคงต้องหันไปทาบทาม "หม่อมเหยิน" อาจจะยอมรับเป็นหัวหน้าพรรคให้
แต่ทั้งหมดทั้งปวงมันคือไฟต์บังคับของพรรคเพื่อไทย ลูกข่ายนายใหญ่ที่จำเป็นต้องสลัดข้อหาไม่จงรักภักดี ที่ถูกฝ่ายตรงข้ามประโคมกระแสประทับภาพให้
ถ้าเคลียร์ไม่หลุดก็ยากจะผ่าทางตันกลับมาเป็นรัฐบาล.
เหลืองจนแต้มแดงจนใจ
หลังจาก "กินไข่" กันพุงกาง พรรคการเมืองใหม่ประสบความล้มเหลวในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ในกรุงเทพฯไม่ได้ที่นั่ง ส.ก.และ ส.ข.แม้แต่เก้าอี้เดียว บรรดาขาใหญ่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ก็เหมือนเจอทางตัน จำเป็นต้องขยับปรับยุทธศาสตร์กันใหม่
กลับมาเล่นมุกเก่า ปลุกม็อบเสื้อเหลืองเขย่ารัฐบาล
แต่ตามปรากฏการณ์ที่ฟ้องด้วยภาพ กับคิวเรียกพลชุมนุมคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และขวางลำการทำข้อตกลงร่วมกับรัฐบาลกัมพูชาในเรื่องเขตแดนเขาพระวิหาร ถึงเวลาขาใหญ่มากันครบหน้าครบตา ทีมแกนนำชุดใหญ่ แต่แนวร่วมคนเสื้อเหลืองมากันแค่หลักร้อย มากันแบบเช้าไปเย็นกลับ สุดท้ายยังต้องประกาศเลื่อนนัดชุมนุมใหญ่ออกไปเป็นต้นปีหน้า อ้างกันเนียนๆว่า ไม่ให้ขัดบรรยากาศเดือนมหามงคล
แต่คนทั่วไปก็มองออกอยู่ว่า "จนแต้ม"
ด้วยความเกี่ยวโยงที่ม็อบพันธมิตรฯกับพรรคประชาธิปัตย์เคยถ้อยทีถ้อยอาศัยเกื้อกูลกัน ถึงวันหนึ่งเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ "ชักมือออก" กองกำลังพันธมิตรฯที่ทับสัมปทานฐานเสียงกันอยู่ก็อ่อนกำลังลงโดยปริยาย ไม่อย่างนั้น "เทพเทือก" นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ คงไม่กล้าขึ้นเวทีตอกหน้า นายสนธิ ลิ้มทองกุล ก็มีพฤติกรรมพอกันกับอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร
ถึงเวลาเตะตัดขา ไม่ให้ราคากันแล้ว
หันไปที่ม็อบเสื้อแดง นปช.ก็ต้องเปลี่ยนมุกใหม่ด้วยการให้ "สหายปูน" นางธิดา ถาวรเศรษฐ ภรรยาของ นพ.เหวง โตจิราการ ขึ้นทำหน้าที่รักษาการประธาน นปช. พร้อมด้วยภรรยาของบรรดาแกนนำ รับหน้าที่แทนสามีที่ติดคุก
นัยว่าให้ผู้หญิงถือธงนำ กระตุกพลังกันใหม่
แต่จริงๆมันก็คือการปรับยุทธศาสตร์ตามไฟต์บังคับ หลังแกนนำหลักของคนเสื้อแดง นปช.ถูกขังลืมอยู่ในเรือนจำ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเคลียร์กระแสม็อบเสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง ต้องสลัดภาพฮาร์ดคอร์ ลดความรุนแรง ดึงแนวร่วมคนกลางๆให้กลับคืนมา
สรุปว่าเจอทางตันกันทั้งม็อบเหลือง ม็อบแดง
ท่ามกลางกระแส "เบื่อม็อบ" กลับมาแรงแทน.
รถถังยังไม่ดับเครื่อง
กองทัพถึงคิวขยับปรับแถวขุนศึก กองทัพบกได้ฤกษ์เปลี่ยนจ่าฝูงคนใหม่มาเป็น "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ต่อแถวสืบทอดตำนานนักรบ "บูรพาพยัคฆ์"
พร้อมๆกับจังหวะที่ยักษ์ต้องวางกระบอง "งานเลี้ยงต้องมีวันเลิกรา" ฝ่ายคุมเกมอำนาจหมดเวลาลากยาวกระบอง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และจำเป็นต้องยุบศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.)
แต่ยักษ์ไม่มีกระบองแล้วก็เหมือนยักษ์ไม่มีฤทธิ์ ตามเหลี่ยม เสธ.แบบทหาร ก็แค่เปลี่ยนมุกจาก ศอฉ. ไปเป็นศูนย์ติดตามสถานการณ์ (ศตส.) โดยมี พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เสธ.ทบ. คนที่ถนัด "กระชับพื้นที่" รับหน้าเสื่อเป็นผู้อำนวยการ คุมเกมขู่กำราบม็อบเสื้อแดง
ฤทธิ์เดชกระบองยังคงเข้มขลังเหมือนเดิม พร้อมทุบทันทีถ้ามีการ "ลองของ"
และก็เป็นอะไรที่แทรกคิวมาทันควันเหมือนกัน พลันที่มีการขยับเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฝ่ายคุมเกมจำใจต้องยุบ ศอฉ. ก็มีเสียงแทรกทวงถามงบลับที่ ศอฉ.ใช้ไปในการจัดการกับกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดง นปช. ขอดูใบเสร็จ เคลียร์บิลค่าใช้จ่าย
ยั่วจน "บิ๊กตู่" นอตหลุด เสียงแข็งใส่นักข่าว ถามคำถามไม่สร้างสรรค์
และนั่นยังโยงไปถึงอารมณ์กรุ่นๆ กับคิวก่อนหน้าที่มีการปล่อยสำนวนสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) หลุดออกมาถึงมือแกนนำคนเสื้อแดง แฉตีกินออกอากาศ ทหารยอมรับยิง 6 ศพในวัดปทุมวนาราม
ตามจังหวะ ศอฉ.เสื่อมขลัง ทหารก็เริ่มไม่มีเกราะกำบัง
ท่ามกลางกระแสข่าวปฏิวัติรัฐประหารที่ยังคงลอยวน ถึงขนาดที่คนระดับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ปูดข่าวเองเลยว่า ถ้าจำเป็น ต้องยุบสภาก่อน เพื่อตัดหน้าอำนาจนอกระบบไม่ให้แทรกแซง ดักคอพวกจ้องล้มกระดาน
ตามเงื่อนไขไฟต์บังคับที่จับทางกันได้ ในกรณีลงสนามเลือกตั้งใหม่ ในสถานการณ์ที่หากพรรคเพื่อไทยลูกข่ายของอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ชนะเลือกตั้ง กลับมา เป็นรัฐบาล
ฝ่ายคุมเกมอำนาจเสียวสันหลังเกมเอาคืน อย่างไรเสียก็คงต้องสกัด ถ้าจำเป็นก็ต้องผ่าทางตันด้วย "แอ่นแอ๊น".
เซียนเขี้ยวไม่มีวันตาย
ตลอดรอบปี 2553 และนับจากนี้ไป ถือเป็นสถานการณ์ "ปราบเซียน" ของเหล่านักเลือกตั้งอาชีพ ได้วัดฝีมือ "ผู้มีบารมีตัวจริง" ของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสัญญาณยุบสภา เลือกตั้งใหญ่ในปี 2554
ที่แน่ๆไฟต์บังคับร่วมให้พรรคร่วมรัฐบาลที่เป็นพรรคขนาดกลางและค่ายขนาดเล็กต้องรวมหัว ช่วยกันกดดันจนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และพรรคประชาธิปัตย์ ยอมปลดล็อกให้แก้ไขรัฐธรรมนูญกลับไปเลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
เปิดช่องให้ค่ายเอสเอ็มอีได้มีพื้นที่ยืนสู้กระแสกับค่ายการเมืองใหญ่
แต่เหนื่อยกว่าใครเลย ก็คือ "3 พี" พรรคเพื่อแผ่นดิน "พินิจ จารุสมบัติไพโรจน์ สุวรรณ-ฉวีปรีชา เลาหพงศ์ชนะ" ที่ต้องหลุดวงโคจรจากพรรคร่วมรัฐบาล
เพราะทนแรงเสียดทานของ "เนวิน ชิดชอบ" ไม่ได้
โดยสภาพฝ่ายค้านก็ไม่ใช่ ฝ่ายรัฐบาลก็ไม่เชิง สุดท้ายก็เลยนำมาซึ่งการ "ควบรวมกิจการ" ระหว่างกลุ่ม 3 พี พรรคเพื่อแผ่นดิน กับค่ายรวมชาติพัฒนาของยี่ห้อ "สุวัจน์ ลิปตพัลลภ"
ไปๆมาๆกลายเป็นขั้วใหม่ ส่งชื่อ "สุวัจน์" สปอตไลต์ฉายส่อง
แต่ที่ออกตัวแรงตั้งแต่ต้น จนถึงตอนนี้ก็ยังเหยียบคันเร่งอยู่ตลอดเวลาโดยไม่กลัว "เครื่องไหม้" ตามสไตล์มวยบุกยี่ห้อ "เนวิน"
ตามปรากฏการณ์การต่อสู้ในสนามเลือกตั้งซ่อมในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสุรินทร์ที่ค่ายภูมิใจไทยเปิดฉากโค่นพรรคเพื่อไทย ล้มคนของอดีตนายใหญ่สำเร็จ โดยที่ "เนวิน" เกหมดหน้าตัก ทั้งอำนาจรัฐในขุมข่ายมหาดไทย อัดยุทธปัจจัยเต็มสูบ แต่อีกฝ่ายยังไม่ได้ "ปล่อยของ" เต็มที่
ปัญหาก็คือ วันนี้อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ได้ "ลองยา" แล้ว รู้ตัวแล้วว่าแค่อาศัยบุญเก่าตีกินกระแสแล้วแพ้ เลือกตั้งใหญ่ก็ต้อง "จัดหนัก" เพื่อบดกับอดีตน้องรักอย่าง "เนวิน"
เอาเป็นว่า แนวโน้มภูมิใจไทยหืดขึ้นคอ ลุ้นอีสานอย่างเดียวอาจไม่เข้าเป้า ไฟต์บังคับ "เนวิน" คงต้องหันมาเจาะพื้นที่ภาคกลาง แย่งแต้มกับคนกันเองอย่าง "บิ๊กเติ้ง" นายบรรหาร ศิลปอาชา หลงจู๊ใหญ่พรรคชาติไทยพัฒนา
จังหวะผ่าทางตัน ไม่สนอาไม่สนหลานทั้งนั้น.
"ทีมการเมือง"
未经允许不得转载:综合资讯 » วิเคราะห์การเมือง