"ถ้ารัฐบาลไม่ซื้อเราก็ไม่มีใช้ เราก็จะด้อยกว่าประเทศรอบบ้าน ถึงแม้ที่ผ่านมาเราจะพยายามพัฒนาขีดความสามารถ แต่การปราบเรือดำน้ำในทางปฏิบัติแล้วประสิทธิภาพมันไม่สามารถจะหวังผลได้ เราเคยฝึกในสถานการณ์ สมมติมีข้อขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำ เราก็จะปั่นป่วนไปหมดทั้งกองเรือ แค่เจอเรือดำน้ำเขาแค่ลำเดียว"…
พล.ร.ต.สุริยะ พรสุริยะ ผู้บัญชาการกองเรือดำน้ำ (กร.) กองเรือยุทธการกองทัพเรือ คนแรกของไทย กล่าวเปิดใจกับทีมข่าว "ไทยรัฐออนไลน์" หลังจากมีข่าวกองทัพเรือเสนอ ครม. ซื้อเรือดำน้ำมือ 2 จากประเทศเยอรมนี รุ่น 206A ถึง 6 ลำ งบประมาณกว่า 7.7 พันล้านบาท ทำไมต้องซื้อเรือดำน้ำถึง 6 ลำ ว่า "กรณีความขัดแย้งไทย-กัมพูชา อาจจะไม่เกี่ยว เพราะเวลาที่มีปัญหาคุยกันไม่รู้เรื่องหรือปะทะกัน เราก็จะส่งกำลังไปแสดงตาม พื้นที่อยู่แล้ว มันก็ทำให้น้ำหนักในการเจรจาต่อรองมันสูง แต่ว่าสาเหตุสำคัญที่เราเดือดเนื้อร้อนใจที่จะต้องมีเรือดำน้ำเพราะว่า ประเทศรอบบ้านมีเรือดำน้ำหมดแล้ว ต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าเรือดำน้ำมันมีพิษสงร้ายแรงมาก มันมีสมรรถภาพที่น่ากลัวมาก เพราะว่ามันตรวจจับยาก เวลาดำไปแล้วหายากมาก ต้องมีเรือดำน้ำที่ดีถึงจะตรวจจับได้ เรือดำน้ำกับเรือดำน้ำถึงจะสู้กันได้เพราะฉะนั้นมันทำให้ศักยภาพของเราด้อยกว่าและเสียเปรียบเขา
ภาพจาก wikipedia.org
-ความจำเป็นที่ไทยต้องมีเรือดำน้ำ
พล.ร.ต.สุริยะ กล่าวอีกว่า "สมมติว่าถ้าเรามีปัญหากับประเทศหนึ่งในย่านอาเซียน ซึ่งเกิดเป็นประเทศที่มีเรือดำน้ำทันสมัยมาก แล้วถ้าเกิดเขาประกาศปิดอ่าวไทย และประกาศว่าเขตนี้เป็นเขตที่ไม่รับรองความปลอดภัย เราต้องทุ่มเทกำลังทางเรือแทบจะทั้งหมดเลยไปคุ้มกันเรือเข้า-ออก คุ้มกันดีไม่ดี ก็อาจโดนเรือดำน้ำเขาสอยอีก ถ้าเราจะสู้กับเรือดำน้ำมันต้องใช้ทรัพยากรมาก ต้องใช้เรือฟรีเกต 4-5 ลำ รวมกับเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำอีก 2 ลำ มันลงทุนนิดเดียวสำหรับพวกที่ใช้เรือดำน้ำ แต่เราต้องทุ่มกำลังไปเยอะ บางทีเขาขู่แล้วดำน้ำหายไป แต่เราเห็น เราก็เดือดเนื้อร้อนใจแล้ว ว่าเขาจะมาจัดการอะไรกับเราหรือเปล่า"
"จริงๆแล้วปัจจุบันเหลือแค่ไทย เขมร บรูไน ที่ยังไม่มีเรือดำน้ำ พม่าเนี่ยถึงแม้จะไม่มีตอนนี้ แต่ก็ได้ส่งคนไปฝึกกับอินเดียแล้ว และจะสั่งซื้อจากจีนในไม่ช้า เพราะฉะนั้นถ้าเรามองในแง่ศักดิ์ศรีของประเทศ และในแง่ผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ในแง่ทางยุธศาสตร์ว่าถ้าเกิดเรามีข้อขัดแย้งกัน คุยกันไม่รู้เรื่อง การที่เรามีกำลังทางเรือ ซึ่งเราเสียเปรียบเขาเนี่ย ทำให้เราสบตาเขาไม่ได้"
– มีความเป็นมาในการจัดซื้อเป็นอย่างไร
" อาจจะเป็นโชคหรือโอกาสของกองทัพเรือที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดเพราะ เป็นเรือที่ใช้แล้วและราคาถูก เนื่องจากว่าเยอรมนีจะตัดลดงบประมาณทางทหาร ต้องมีโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน ปัจจุบันเยอรมนีมีเรือดำน้ำ 2 ชุด คือชุด206Aซึ่งเป็นชุดเก่า กับเรือชุดใหม่คือ212 ถ้าเขาใช้เรือสองชุดก็จะสิ้นเปลืองทั้งคนทั้งเทคโนโลยีเขาเห็นว่าส่วนนี้ถ้า โละเรือชุดเก่าออก 6 ลำ ก็จะช่วยในการปรับลดงบประมาณ ซึ่งตามแผนเดิมจะโละในปี 2015 แต่ทางด้านกระทรวงกลาโหมเยอรมัน เตรียมปลดระวางไวขึ้น เพราะเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีผู้บังคับบัญชาหลายท่านที่สนิทสนมกัน เขาจึงติดต่อขายให้เราเป็นประเทศแรก เพราะเขาทราบดีีว่าเราสนใจที่จะมีเรือดำน้ำ"
ตอนปี 2552 เคยเสนอโครงการเรือดำน้ำใหม่ แต่วงเงินสูงถึง" สี่หมื่นแปดพันล้าน" แค่ 2 ลำแต่มันใหม่ ในขณะที่ชุดนี้ มี 6 ลำ ซึ่งใช้ในงานจริง 4 ลำ อีก 2 ลำจะใช้ในการฝึกและใช้เป็นอะไหล่ คือที่ใช้จริงๆ 4 ลำ สามารถที่จะมีเรือพร้อมใช้ทางด้านอ่าวไทยและอันดามัน เพราะการที่มีเรือดำน้ำในพื้นที่มันเป็นอะไรที่มีความป้องปรามสูงยามศึกสงคราม ส่วนในยามสงบเราก็สามารถใช้ในการเฝ้าตรวจทางทะเล การทำผิดกฎหมาย การลักลอบต่างๆ ซึ่งทางนาโต้เคยใช้เรือชุดนี้ 6ลำ ในยุทธการต่อต้านการก่อการร้ายประจำอยู่นอกท่าเรือในนอกอ่าวของทางด้านประเทศกลุ่มตะวันออกกลาง เพื่อไปเฝ้าดูการเคลื่อนไหว ซึ่งก็ใช้ได้ผลดี
-มีข้อท้วงติงอ่าวไทยอยู่ในเขตน้ำตื้น ซื้อมาทำไม ?
พล.ร.ต. สุริยะ ยืนยันว่า เรือชุดนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้ในเขตน้ำตื้น เพราะฉะนั้นตรงนี้มันจึงเหมาะสมกับทางด้านอ่าวไทยของเราพอดี แล้วเรือดำน้ำ มันต้องออกปฏิบัติการนอกบ้านเรา จะไม่ได้อยู่ในบ้านเรา ต้องไปเฝ้าตรวจการเคลื่อนไหวในพื้นที่ที่ล่อแหลม ที่มีการลักลอบทำอะไรสักอย่าง ซึ่งผิดกฎหมาย ในยามสงบเราก็อาจจะใช้ในเรื่องของทางทะเล การลักลอบของผิดกฎหมาย โจรสลัด เราสามารถใช้เรือไปตรวจสอบได้ และถ่ายภาพความเคลื่อนไหว มารายงานที่ฝ่ายความมั่นคง ถ้ายามสงครามเราสามารถไปตรวจความเคลื่อนไหวจากนอกบ้านเรา
เราใช้กำลังพลประจำเรือประมาณ 23 คน แต่ต้องจัดคนลงเรือ และ ในขั้นต้นต้องส่งคนไปฝึกที่ทางกลาโหมเยอรมัน เพราะเขาจะฝึกคนให้เรา 2 ปี และ ฝึกให้เรา 2 ชุด และ ทีมต่อไปเราก็อาจจะต้องมาฝึกเอง ขอยืนยันว่าไม่มีปัญหาอะไรกับภูมิประเทศของเรา เพราะเรือดีไซน์ไว้ให้ใช้กับทะเลน้ำตื้นใกล้เคียงอ่าวไทย แต่มันต่างที่น้ำทะเลของเขาอุณหภูมิเย็นกว่าน้ำทะเลของเรามาก ตัวเรือเป็นเหล็กป้องกันสนิมที่เกิดจากน้ำเค็ม ยอมรับว่าอาจจะต้องปรับปรุงในเรื่องของการทาสี เคลือบสารที่จะป้องกันเรือ โดยเฉพาะเพรียงทะเล แต่ในส่วนการปรับปรุงนี้อยู่ในแพ็คเกจที่เขาได้ขายให้เราอยู่แล้ว ทางด้าน อาวุธในเรือเป็นตอปิโดขนาดใหญ่ ที่สามารถจมเรือได้ทั้งลำ และ ตอปิโดที่เรือเยอรมันทั้ง 6 ลำนั้นก็เป็นมาตรฐาน นาโต้ ที่มีประสิทธิภาพสูง
"อย่างสิงคโปร์ ซึ่งเขามีเศรษฐกิจดีกว่าเรา แต่เรือดำน้ำสิงคโปร์เนี่ยอายุมากกว่าเราด้วยซ้ำไป ตั้ง 40 กว่าปี (ของไทย 30ปีถ้าตัดสินใจซื้อ) โดยเขาเลือกที่จะฝึกคนจากเรือเก่าก่อน ให้ได้ขีดความสามารถในการใช้เรือดำน้ำก่อน พอเขารู้วิทยาการเรือดำน้ำแล้วก็จะเปลี่ยนเรือให้ใหม่ขึ้นมานิดนึง แต่ไม่ได้ซื้อเรือใหม่ ขั้นที่สอง เพียงแต่ซื้อลำใหม่ขึ้นมาอีกนิด (จาก 40 เป็น 20 ปี) ส่วนของไทยเราที่จะซื้อคือ 30 กว่าปี ทั้ง 6 ลำ แต่มันได้รับการปรับปรุงครึ่งอายุมาแล้ว ถ้าซื้อมา เราต้องติดตั้งระบบปรับอากาศใหม่ เพราะเรือชุดนี้เคยปฏิบัติการในทะเลเหนือ (บอลติก) ซึ่งอากาศหนาว แต่ถ้ามาบ้านเรา มันร้อนต้องติดแอร์ ถ้าเราซื้อ ทางเยอรมนี ก็จะต้องถ่ายทอดทั้งวิทยาการ อาวุธ ซีมูเลเตอร์ อะไหล่ อุปกรณ์ทั้งหลาย เพียงแต่ว่าเราต้องฝึกคนเราก่อนเท่านั้น" ผบ.เรือดำน้ำคนแรกของไทยกล่าว
"ถ้ามองอันดับแรกต้องมองก่อนว่า เรือดำน้ำมันมีพิษสงร้ายแรง คือ ถ้าหากจะมีประเทศที่เป็นคู่อริ หรือ แบ่งแย่งผลประโยชน์กัน มันก็ต้องระวัง มันเหมือนเป็นตัวช่วยที่ทำให้เรามีการป้องกันไปด้านยุทธศาสตร์ เหมือนเป็นศักยภาพในการป้องกันอย่างสูง เราขาดวิทยาการเรือดำน้ำมาถึง 60 ปีเพราะเรือดำน้ำลำแรกของไทยจริงๆ ชื่อ"มัจฉาณุ" ปลดประจำการไปตั้งแต่ปี 2494
เรามองว่าอย่างสั้นที่สุดยังสามารถใช้งานเรือดำน้ำที่ซื้อมาใหม่ไปได้อีกประมาณ 10 ปี แต่จริง ๆ มันน่าจะใช้งานไปได้ถึง 15 ปี ผมว่าคุ้มค่ามาก ถ้ามองว่าเรือเรา 30 กว่าปี ให้มองสิงคโปร์ของเขา 40 กว่าปี เขาก็จะใช้งานไปต่ออีกเป็นสิบปีเหมือนกัน .. ยอมรับเราก็ต้องมองที่จะนำเรือชุดใหม่เข้ามาหลังจากที่เราใช้เรือชุดนี้ไปซักสิบปี เราจะเริ่มมีวิทยาการทางเรือดำน้ำก็ต้องคิดว่าจะใช้ประโยชน์จากมันยังไง ถึงจะได้ประสิทธิภาพสูงสุด แล้วก็ถ้าเกิดเราไม่มีเงินจริง เราก็อาจจะซื้อเรือมือสองมาใหม่ก็ได้ แต่เป็นเรือมือสองที่ใหม่ขึ้นเหมือนที่ทางสิงคโปร์เขาทำ ซึ่งในท้องตลาดในพื้นที่นี้ก็มีหลายๆ ประเทศที่มีเรือดำน้ำมือสอง อย่างเช่นเกาหลีใต้ เกาหลีและหลาย ๆ ประเทศก็มาเสนอขายเรือดำน้ำกับเรา แต่เขาขายเป็นเรือใหม่ซึ่งมีราคาก็สูงเป็นหมื่นล้าน สำหรับประเทศพม่า ถ้ามีเรือดำน้ำขึ้นมาศักยภาพของกำลังจะเปลี่ยนไปทันที ไทยที่เคยส่งเรือไปลาดตระเวนในพื้นที่เราก็อาจจะส่งไปไม่ได้ ผบ.กองเรือดำน้ำไทยกล่าว
-ทำไมต้องเป็นเรือดำน้ำใช้เชื้อเพลิงดีเซล จะคุ้มค่าหรือไม่ ถ้าเป็นแบบใช้พลังงานนิวเคลียร์ล่ะ?
พล.ร.ต.สุริยะ กล่าวอีกว่า "เรือดำน้ำของเราใช้ดีเซลไฟฟ้า ซึ่งประหยัดน้ำมันมาก แค่ใช้น้ำมันสตาร์ทเครื่องยนต์ ที่เหลือก็ใช้แค่แบตเตอรี่ ถ้าเป็นนิวเคลียร์ ต้องเป็นประเทศมหาอำนาจเท่านั้น เพราะมันแพงมาก มีแค่ประเทศสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส อังกฤษ จีน ที่ใช้ งบประมาณ 7.7 พันล้าน ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะเราจะมีกองเรือดำน้ำได้ทันที ถ้าเราต่อเรือดำน้ำใหม่ต้องใช้เวลาในการต่อเรือนานเกือบๆ 6 ปี เมื่อต่อเสร็จถึงจะฝึกคนได้เพราะคนต้องไปฝึกกับเรือดำน้ำที่เราจะใช้
แต่ถ้าซื้อกับเยอรมนีเราแค่จัดคนไปแล้วก็ไปฝึกได้เลย ส่วนเทคโนโลยีของเมืองไทย ต่อเรือดำน้ำไม่ได้แน่นอน เพราะต้องมีการซื้อเทคโนโลยี แต่ของเกาหลีที่เขาต่อเรือกันได้เพราะเกาหลีเขามีอุตสาหกรรมต่อเรือที่เจริญกว่าเรามาก
-ทำไม พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ ผบ.ทร. ถึงได้เลือกท่านมาเป็นผบ.กองเรือดำน้ำ
พล.ร.ต.สุริยะ กล่าวอีกว่า"ผมเคยทำงานกับท่านสมัยอยู่กรมยุทธการทหารเรือ ผู้บัญชาการมีนโยบายที่อยากจะให้มีหน่วยงานสักหน่วยงานที่เป็นแหล่งในการ รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของเรือดำน้ำ ท่านจึงมอบหมายให้ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ และท่านผู้บัญชาการกองเรือยุทธการก็มอบหมายให้ผม ผมก็ศึกษาข้อมูลเอาไว้ข้างต้นแต่ว่ามันยังไม่มีโครงการอะไรที่เป็นรูปธรรม แต่ผมย้ายมาก็เป็นส่วนหนึ่งในการจัดโครงการขึ้น เพราะเราผ่านงานด้านนี้มานาน เคยไปประชุมเรื่องเรียนดำน้ำกับประเทศแถบแปซิฟิก ประเทศส่วนใหญ่เขามีเรือดำน้ำกันหมด เช่น มาเลย์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มีเรือดำน้ำหมด เราก็ไม่มีเรือดำน้ำแต่ต้องไปประชุมกับเขา ผมจึงทำได้แค่ติดตามข้อมูลติดตามวิทยาการ
ท้ายสุดแล้วจะเหลือเรากับเขมร และบรูไน ที่ไม่มีเรือดำน้ำ
ซึ่งประเทศเราเมื่อก่อนเป็นประเทศที่มีอำนาจทางเรือสูงมาก สิงคโปร์ มาเลเซีย เมื่อก่อนต้องมาเรียนกับเรา ต้องมาให้เราช่วยฝึกให้ แต่ตอนนี้กำลังรบจะเป็นมหาอำนาจเหมือนยุโรปแล้วเพราะเขาเน้นยุทธโทปกรณ์ที่ ทันสมัยไม่ได้เน้นกำลังพล เดิมทีเราอยู่ในกลุ่มแนวหน้า ตอนนี้เราอยู่ในกลุ่มพม่า เขมร ไทย แล้วถ้าพม่ามี (ซึ่งขณะนี้เขาเริ่มโครงการแล้ว) เราก็จะอยู่กับเขมร เราจึงต้องมองว่าในอาเซียนเราจะอยู่กับเขมรหรือจะไปอยู่ชั้นแนวหน้า ทำไมเวลาผ่านไปเราจึงถอยลงเรื่อยๆ .. แล้ววันดีคืนดีถ้าเขมรมีเรือดำน้ำขึ้นมา ศักยภาพทางทหารจะเปลี่ยนทันที ถ้าเขามีเรือดำน้ำ เราจะไม่กล้าทำอะไรเลย .. ดูง่ายๆ เมื่อก่อนเขมรเกรงใจเรา มาเลเซียเกรงใจเรา เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว ซึ่งเราก็เข้าใจเศรษฐกิจและสภาพบ้านเมืองตอนนี้ แต่ถ้ามีโอกาสเข้ามาก็ควรคว้าไว้"
-มีข้อครหาค่าคอมมิสชั่น ผลประโยชน์จำนวนมาก
เรื่องคอมมิชชั่นไม่มีแน่นอนเพราะมันเรือเก่าที่ใช้แล้ว ส่วนจะทันไม่ทันก็ต้องลุ้นให้ผ่านก่อนเดือนเมษายน เพราะถ้าพ้นเดือนเมษายนไปทางเยอรมนีจะขายให้ประเทศอื่นที่รอซื้อต่อหากไทยไม่เอา
– อย่างที่ผ่านมาที่เยอรมนีไม่ยอมขายเครื่องยนต์สำหรับนำไปใช้ประกอบรถเกราะยูเครน ที่กองทัพบกจัดซื้อ แล้วถ้าถึงเวลาที่เราซื้อเรือมาแล้วเขาไม่ให้มาเป็นอย่างเขาบอกล่ะ
"ผมเชื่อว่าเขาพูดคำไหนคำนั้นเพราะเขาไม่ขายเขาก็บอกว่าไม่ขาย ไม่ให้ก็บอกว่าไม่ให้ แต่นี่เขาบอกว่าให้ เขาพูดตรงไปตรงมา ซึ่งถ้าให้ไม่ได้เขาก็บอกว่าให้ไม่ได้ ซึ่งตอนนี้เขาขอแค่เราตกลงซื้อก่อนและเขาจะเปิดเผยทุกอย่าง เพราะการจะกลับคำและทำแบบที่ทำกับชุดเกราะนั้นสำหรับเรือดำน้ำมันไม่ใช่ทำง่าย ๆ เพราะทุกระบบของเรือดำน้ำมันออกแบบให้ลงตัวกันให้หมด พื้นที่ในเรือมันแคบมาก เครื่องไม้เครื่องมืออุปกรณ์ทั้งหลายมันต้องออกแบบมาให้ลงตัวกันมากที่สุด พาวเวอร์เครื่องกำลังทั้งหลายมันต้องพอดีกัน"
-แล้วถ้าครม.อนุมัติเราจะได้เห็นเรือดำน้ำลำแรกเมื่อไหร่
พล.ร.ต.สุริยะ กล่าวอีกว่า เราจะได้เรือลำแรกประมาณ 2 ปี นับจาก ครม.อนุมัติ เพราะการซ่อมปรับปรุงใช้เวลาไม่นาน แต่นานคือการฝึกคนที่จะมีความสามารถใช้เรือดำน้ำได้อย่างน้อย 2 ปี (แค่เบสิก) ส่วนการฝึกยุทธวิธีให้ช่ำชองต้องใช้เวลาอย่างน้อยอีก 2 ปี ถึงจะเป็นนักรบใต้น้ำได้ เรือดำน้ำ 2 ลำแรกใช้ได้ภายในสองปี แต่อีก 4 ลำนั้นใช้้เวลาประมาณ 4 ปี
ขณะที่ทหารที่อยู่ประจำเรือ ก็จะลำบากและเสี่ยงอันตรายกว่าทหารที่อยู่บนเรือปกติมาก จึงมีนโยบายเพิ่มเติม ว่าจะต้องมีเงินเพิ่มพิเศษสำหรับผู้ที่ปฎิบัติงานในเรือดำน้ำ อย่างน้อยต้องให้เท่ากับเครื่องบินขับไล่ของทหารอากาศ เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ต้องอยู่ในเรือซึ่งแคบ และปฎิบัติงานท่ามกลางความเครียดตลอด อย่างน้อย 3 อาทิตย์ การคัดเลือกเจ้าหน้าที่จึงต้องตรวจสุขภาพจิตว่าทนน้ำได้ไหม ไปอยู่ในที่แคบๆนานๆอยู่ได้ไหม
-ถ้าสุดท้ายครม. ไม่อนุมัติซื้อเรือดำน้ำล่ะ
"ถ้ารัฐบาลไม่ซื้อ เราก็ไม่มีใช้ เราก็จะด้อยกว่าประเทศรอบบ้าน ถึงแม้ที่ผ่านมาเราจะพยายามพัฒนาขีดความสามารถ แต่การปราบเรือดำน้ำในทางปฎิบัติแล้วประสิทธิภาพมันไม่สามารถจะหวังผลได้ เราเคยฝึกในสถานการณ์ สมมติมีข้อขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีเรือดำน้ำ เราก็จะปั่นป่วนไปหมดทั้งกองเรือ แค่เจอเรือดำน้ำเขาแค่ลำเดียว" พล.ร.ต.สุริยะกล่าว
未经允许不得转载:综合资讯 » ผบ.กร. เปิดใจไทยไม่มีเรือดำน้ำ ก็ถอยหลังไปอยู่กับเขมร