ชนะยกแรกไปก่อนเลย เมื่อนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย มือดีจับสลากได้ หมายเลข 1 เลขดีที่ทุกค่ายการเมืองหมายปอง เนื่องจากง่ายต่อการจดจำ ขณะที่คู่แข่งสำคัญอย่างนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มือไม่ค่อยฉมัง จับสลากได้หมายเลข 10
ประเดิมฤกษ์ “เฮง” ของคู่ชิงแชมป์
แม้ในลีลาของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ จะงัดลูกเก๋าปลอบอก ปลอบใจลูกทีม เบอร์ 10 ของพรรคประชาธิปัตย์ก็จำง่าย ถ้าใครตั้งใจเลือกก็จำได้ และไม่วายแซวบลัฟคู่แข่งว่า พรรคเพื่อไทยได้เบอร์ 1 ก็แค่โชคดีได้เบอร์จำง่าย แต่มันก็ไม่ได้บอกว่า คะแนนจะมากหรือน้อย
ดีไม่ดี คะแนนอาจเป็นไปตามตัวเลขก็ได้
แต่เอาเป็นว่า ในอารมณ์ของนักเลือกตั้งอาชีพเปรียบสถานการณ์เหมือนการแข่งขันวิ่ง 100 เมตร การได้เบอร์หนึ่งที่จำแม่น กาง่าย ก็เหมือนพรรคเพื่อไทย ออกตัวนำหน้าคู่แข่ง ไปแล้ว 10 เมตร
ขณะที่พรรคขนาดกลางและค่ายขนาดเล็กที่มีหวังสอดแทรกในสนามเลือกตั้ง จังหวะดีก็ตกอยู่กับยี่ห้อชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่จับได้เบอร์ 2 นอกนั้นไล่เรียงตามลำดับ ค่าย
พลังชล ได้เบอร์ 6 พรรคภูมิใจไทย ได้เบอร์ 16 พรรคชาติไทยพัฒนา ได้เบอร์ 21
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในสถานการณ์ที่ ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้งยังไม่ปิดกล่อง เผลอๆเลขหมายประจำพรรคที่แปรตามกระแส อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจย้ายค่าย สลับขั้ว ไม่มากก็น้อย
แต่เบื้องต้น โฟกัสไปที่ปาร์ตี้ลิสต์ 10 อันดับแรก ที่บ่งบอกยุทธศาสตร์ของแต่ละค่าย
เริ่มจากพรรคเพื่อไทย ลำดับที่ 1.นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2.นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ 3.ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง 4.นายเสนาะ เทียนทอง 5.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก 6.นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ 7.นายปลอดประสพ สุรัสวดี 8.นายจตุพร พรหมพันธุ์ 9.นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ 10.นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช
เน้นปูนบำเหน็จให้คนที่ทุ่มเทให้ “นายใหญ่” เป็นหลัก
“จัดหนัก” เอาใจคนเสื้อแดง นปช.ในส่วนของนายจตุพรและนายณัฐวุฒิ
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ไล่ลำดับจาก 1.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 2. นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค 3.นายบัญญัติ บรรทัดฐาน 4. นายเทอดพงษ์ ไชยนันทน์ 5.นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ 6.นายกรณ์ จาติกวณิช 7. คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช 8.นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน 9.นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี 10.นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์
เรียงลำดับไหล่ตามสถานะในพรรค พ่วงความอาวุโส บวกลูกเก๋า
มองไปที่พรรคชาติไทยพัฒนา เริ่มจากลำดับที่ 1.นายชุมพล ศิลปอาชา 2.พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ 3.นายนิติวัฒน์ จันทร์สว่าง 4.นายยุทธพล อังกินันทน์ 5.นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ 6.นายปิยะพันธ์ จัมปาสุต 7.นายฐนนท์ศรณ์ เลิศฤทธิ์ศิริกุล 8.นายเกษมสันต์ วีระกุล 9.นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ 10.นายกูลเกียรติ ทับทิมทอง
ยังไงก็สลัดไม่พ้นภาพของระบบ “หลงจู๊”
ถึงคิวของค่ายภูมิใจไทย ไล่จากลำดับที่ 1.นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล 2.นายชัย ชิดชอบ 3.นายเรืองศักดิ์ งามสมภาค 4.นางนาที รัชกิจประการ 5.นายศุภชัย ใจสมุทร 6.น.ส.ณัฐธิดา เทพสุทิน 7.นายเพิ่มพูน ทองศรี 8.นายสรยุทธ เพ็ชรตระกูล 9.น.ส.ศรีวรรณ เทียมประเสริฐ และ 10.นายพิพัฒน์ พรมวราภรณ์
เรียงลำดับ สลับฟันปลาตามโควตาสายใครสายมันลักษณะคล้ายกับพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ที่จัดตามโควตาของยี่ห้อ “เอสแอนด์พี” แบ่งตามคิวของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ-พินิจ จารุสมบัติ-ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ” ไล่ตั้งแต่ลำดับที่ 1.ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ 2.นายชาญชัย
ชัยรุ่งเรือง 3.นางพรรณี จารุสมบัติ 4.นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร 5.ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี 6.นายชาติชาย พุคยาภรณ์ 7.นายประเชิญ ติยะปัญจนิตย์ 8.นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ 9.นายสุรเดช ยะสวัสดิ์ 10.นายธนการ ดำรงรัตน์
ซึ่งก็ยังถือว่าให้เกียรติประชาชนคนเลือกตั้ง ที่ยังเน้นชื่อชั้นอดีตรัฐมนตรีเป็นส่วนใหญ่
ไม่ยัดไส้สินค้ามีตำหนิมาขายแบบเหมาเข่ง
สรุปเอาเป็นว่า แต่ละพรรคแต่ละค่ายเปิดโฉมหน้าผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ โชว์สินค้าหน้าร้าน ติดเบอร์อย่างเป็นทางการ ให้เลือกกา
กันตามอัธยาศัย
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ตัวเลขไม่สำคัญเท่ากับนโยบายที่ตอบสนองความต้องการ โดนใจพี่น้องประชาชน
สำคัญกว่านั้น มันยังมีปัจจัยที่พลิกผันได้ระหว่างทาง ก่อนจะถึงคิวหย่อนบัตรลงคะแนนเสียงในวันที่ 3 กรกฎาคม ในอารมณ์ที่พวก เซียนเขี้ยวลากดินยังชิงจังหวะพลิกแต้มต่อกันตลอดเวลา
ประเภทที่ว่า นายกฯอภิสิทธิ์เพียรตามตื๊อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ท้าเปิดเวทีดีเบต อ้างว่าเหมือนการเลือกตั้งสากลทั่วไป แต่พอถูกยิงคำถาม เรื่องการลงสัตยาบัน พรรคอันดับหนึ่งต้องจัดรัฐบาลตามกติกาสากล “อภิสิทธิ์” กลับตอบน้ำเสียงอู้อี้ อ้างทุกฝ่ายเห็นร่วมกันแล้วว่าต้องเป็นเรื่องของการโหวตเสียงในสภา
ยี่ห้อประชาธิปัตย์ยังต้องดิ้นอีกเยอะ.
ทีมข่าวการเมือง รายงาน
未经允许不得转载:综合资讯 » ประเดิม ‘เฮง’ มาเลย