ฟังดูแล้วอาจรู้สึกเหนื่อยใจแทน 1 ใน 5 เสือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง อย่างนายประพันธ์ นัยโกวิท ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุม ดูแล การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเป็นศึกชิงชัยระหว่างผู้ที่ต้องการอำนาจ เพื่อที่จะได้เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศ ซึ่งหน้าที่ของกรรมการจึงเป็นตัวแปรที่กำลังถูกจับจ้อง ทั้งจากภาคนักการเมือง นักวิชาการ และที่สำคัญคือ ภาคประชาชน หากภารกิจเลือกตั้งดำเนินผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทุก ๆ คนคงต้องยอมรับกติกา แต่ในทางกลับกัน หากสนามเลือกตั้งครั้งนี้ เกิดข้อครหาเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของกรรมการ ในแง่มุมที่ไม่เหมาะสม สภาพบ้านเมืองคงต้องเจอกับวิกฤตมากมาย น่าสนใจตรงที่บรรดา กกต. ทั้ง 5 จะฝ่าฟันปัญหา อุปสรรคเหล่านี้ได้อย่างไร
นายประพันธ์ นัยโกวิท คณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านบริหารงานเลือกตั้ง เปิดเผยกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ว่า ตั้งแต่ที่ทาง กกต. ได้มีการจัดวันรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. ในส่วนของบัญชีรายชื่อที่ผ่านมา ถือว่าเรียบร้อยดี ไม่มีอะไร กลุ่มต่าง ๆ ที่เดินทางมาให้กำลังใจก็อยู่ในความสงบ ไม่มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งกัน โดยหลังจากที่แต่ละพรรคการเมือง รวมทั้งตัวผู้สมัครได้เบอร์แล้ว การดูแลผู้สมัครคงต้องมีความเข้มข้นขึ้น ต้องระมัดระวังเหตุที่จะเกิดกับตัวผู้สมัคร ซึ่งการเตรียมการในเรื่องดังกล่าวอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีการประสานกับทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เข้ามาช่วยควบคุม แต่ที่น่าเป็นห่วง คือ พวกหัวคะแนน เพราะทาง กตต. ไม่สามารถรู้ได้ว่า ใครคือหัวคะแนนให้กับผู้สมัครคนไหน อาจจะมีการตัดกำลังคนพวกนี้ได้
อีกทั้งได้สั่งกำชับไปยัง กกต. แต่ละจังหวัด ให้วางแผนปฏิบัติการในพื้นที่ ว่ามีปัญหาความรุนแรงหรือไม่ หากมีให้ประสานให้ยังผู้บังคับการในแต่ละจังหวัด ฝ่ายปกครอง เพื่อให้พยายามช่วยกันหาทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุการณ์ในลักษณะรุนแรง
"อย่างหลังสุดเนี่ย เกิดการยิงนายกฯ อบต. ที่จังหวัดอ่างทอง ซึ่งเป็นหัวคะแนนของนักการเมืองในพื้นที่ เราก็เป็นห่วงในเรื่องนี้ แต่ถ้าหากมองดูภาพรวมในการเลือกตั้งที่จะถึง ถือว่าเรามีความพร้อม ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"
-มีรายงานการทุจริตหรือไม่
ช่วงนี้อยู่ในระหว่างการรับสมัคร ส.ส.ความเข้มข้นจึงยังไม่มาก มีเพียงการข่าวเท่านั้น ที่บ่งบอกถึงการประชุมของหัวคะแนน และอาจจะมีการให้กระสุน แต่มันเป็นเพียงการข่าว เพราะทาง กกต.ไม่มีสายสืบเข้าไปนั่งรับฟัง อีกทั้งไม่สามารถระบุพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตามเบื้องต้นได้ดำเนินการเก็บข้อมูลเอาไว้
-เปรียบเทียบระหว่างการเลือกตั้งที่ผ่านมา กับการเลือกตั้งที่จะถึง
การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น ถือว่าเป็นการเลือกตั้งยากลำบากที่สุด ตั้งแต่มีการแต่งตั้ง กกต. ขึ้นมา เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมา ไม่มีความขัดแย้งกันถึงขนาดนี้ รวมถึงความแตกต่างในด้านความคิดที่ส่งผลไปถึงเรื่องความรุนแรง
"หลังจากการปฏิวัติรัฐประหารผ่านพ้นไป ได้มีการจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ในปี พ.ศ.2550 แต่ให้หลังจากนั้น 3-4 ปี ความแตกแยกทางความคิดมันมากขึ้นเรื่อย ๆ มาสะสมขึ้นเรื่อยๆ เดิมมีเสื้อสีเดียว แต่ปัจจุบันมีเสื้อไม่รู้กี่สี"
-กังวลหรือไม่ที่บางกลุ่มมองว่า กกต.ไม่เป็นกลาง
เป็นที่คาดการณ์ไว้แล้ว คนที่ไม่พอใจหรือแพ้ จุดหนึ่งที่เขาจะนำมาอ้างหรือไม่ยอมรับ คือ การที่กรรมการตัดสินไม่เป็นกลาง ซึ่งตรงนี้ทาง กกต.ได้ตระหนัก โดยมีการประชุมหลายครั้ง ระดมทุกฝ่ายมาพูดคุย พร้อมยึดหลักกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง และต้องทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ไม่มีการช่วยใคร ถูกคือถูก ผิดคือผิด เน้นความตรงไปตรงมา ไม่มีผลประโยชน์
-การเลือกตั้งที่ผ่านมาเกิดการโกงเลือกตั้ง โดยใช้วิธีสลับหีบหรือบัตร ใช้บัตรผี
ยืนยันไม่มีการโกงแบบนี้เกิดขึ้น หรือถ้าจะมีคงทำได้ยากมาก เนื่องจาก การทุจริตการเลือกอาจเกิดจากสมัยก่อน ที่ กกต. ยังไม่เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ แต่ในปัจจุบันทาง กกต.มีการวางเจ้าหน้าที่ที่เป็นกลาง บุคลากรทุกคนไม่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงมั่นใจพฤติกรรมการโกงในลักษณะแบบนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ
– ในกรณีของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่ออันดับ 1 พรรคเพื่อไทย ขาดคุณสมบัติจนอาจถูกเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมือง
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการที่คุณยิ่งลักษณ์ไปเบิกความในคดีหุ้น ในด้านของคดียังไม่มีสิ่งใดที่ออกมาเป็นคำพิพากษา ว่าคุณยิ่งลักษณ์ผิดอะไร ดังนั้นยังไม่เข้าข่ายการขาดคุณสมบัติ แต่ถ้ามีข้อมูลเพิ่มเติม ทาง กกต.ก็คงต้องดำเนินการ
-กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีการโฟนอินหรือสไกป์เข้ามาในพื้นที่หาเสียงของพรรคเพื่อไทยนั้น เข้าข่ายมีความผิดทางกฎหมายหรือไม่
กฎหมายได้บัญญัติเอาในการเลือกตั้ง ว่าบุคคลที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ ห้ามเข้าไปกระทำในลักษณะเป็นคณะกรรการบริหารพรรค หรือกำหนดค่าใช้จ่าย ซึ่งต้องดูตามข้อเท็จจริง ฉะนั้นมันจึงอยู่ที่พยานหลักฐานมากกว่า เพราะในกรณีแบบนี้ถือเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความละเอียด รอบคอบ ในการตรวจสอบ
"เราจะต้องทำด้วยความเป็นกลาง ต้องพิจารณาจากหลักฐาน ด้วยความละเอียด รอบคอบ ใครจะมาบอกว่าผิด แล้วยุบพรรคนี้ไปเลย มันไม่ใช่ มันต้องมีข้อเท็จจริง ต้องเอากฎหมายมาดู ไม่ใช่จะทำงานตามใบสั่งหรือตามใจตัวเอง"
-ส่วนกรณีที่กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ได้เดินทางตามไปแสดงสัญลักษณ์ หรือต่อต้านในพื้นที่ที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกหาเสียงในพื้นที่ต่าง ๆ นั้น
ขอให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำดังกล่าว เนื่องจากพฤติกรรมเหล่านี้อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายการเลือกตั้ง จนนำไปสู่การยุบพรรคได้ หากว่ามีผู้ร้องเรียน พร้อมด้วยหลักฐานที่ครบถ้วน ดังนั้นจึงอยากให้ทุกฝ่ายอยู่ในกติกา เพื่อทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย
อยากจะให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย เพื่อผลการเลือกตั้งออกมาจะได้เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าฝ่ายไหน แม้กระทั่งฝ่ายโนโหวตก็ตาม ขอเพียงให้อยู่ในความสงบ สุดท้ายถ้าผลออกมา เชื่อว่าคนไทยจะต้องกลับมานั่งคิด มิเช่นนั้นบ้านเมืองมันจะพัง จุดนี้คือสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น
และอยากจะฝากเตือนไปยังผู้สมัครและพรรคการเมืองในแต่ละพรรค ขอให้ช่วยกัน ถ้าหากรู้ว่ามวลชนของตนเองมีพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่น ไปก่อกวน สร้างความวุ่นวาย ก็ขอให้หยุด เพราะตามกฎหมายถือว่าเป็นสิ่งที่ผิด โดยถ้ามีหลักฐานแล้วตนเองเป็นถึงกรรมการบริหารก็อาจโดนตัดสิทธิ์ถึงขั้นยุบพรรค
-อันดับแรกที่อยากเห็นจากนายกฯ หลังการเลือกตั้งที่จะถึง
ส่วนตัวอยากเห็นในสิ่งที่พรรคการเมืองพยายามนำเสนอในเรื่องของความปรองดอง และอยากจะให้แข่งขันกันด้วยความยุติธรรม หากผลการเลือกออกมาก็ต้องยอมรับให้ผู้ที่ชนะได้ขึ้นไปบริหาร ตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย โดยอย่าไปคิดว่าใครชนะแล้ว ได้อำนาจรัฐแล้ว จะทำตามอำนาจของตนเอง ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ และที่สำคัญอย่าลืมวันที่ลงไปหาเสียงกับพี่น้องประชาชน
-อนาคตในเส้นทางการเมือง
ไม่มี ไม่เคยคิด เพราะทุกวันนี้ต้องการเข้ามาทำงานเพื่อประเทศชาติเท่านั้น
未经允许不得转载:综合资讯 » "เลือกตั้งที่จะถึง ยากที่สุด" จากใจ ผู้คุมการเลือกตั้ง ประพันธ์ นัยโกว