หาคำตอบโพล กอ.รมน. โฆษกฯ การันตีไม่มีแน่นอน แต่ยอมรับส่งทหารปูพรม 27 จ. ชี้มีกลุ่มคนพยายาม ดึงกอ.รมน.คลุกฝุ่นการเมือง พ้อบังคับให้ใครเข้าใจไม่ได้…
นับได้ว่าผ่านครึ่งทางการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งกำหนดเปิดหีบในวันที่ 3 ก.ค. 2554 แล้ว ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 พ.ค.ที่ผ่านมา กกต. ได้เปิดรับสมัคร ส.ส.ระบบเขตเป็นวันแรก หลังจากระหว่างวันที่ 19-24 พ.ค. 2554 ได้เปิดรับสมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อพร้อมจับสลากหมายเลขพรรคการเมือง ซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปแล้ว และจะใช้เป็นหมายเลขเดียวกันกับหมายเลขประจำตัว ส.ส. ระบบเขตของแต่ละพรรคด้วย
ทั้งนี้ทั้งนั้น เชื่อว่า แม้หมายเลขประจำพรรค และ ส.ส. ระบบเขตจะมีผลต่อการกาบัตรลงคะแนนบ้าง แต่ย่อมไม่สำคัญเท่านโยบายที่แต่ละพรรคได้นำเสนอจะตอบสนองความต้องการและโดน ใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง สรุปเอาเป็นว่า ขณะนี้ ทุกพรรคได้เปิดนโยบายและโฉมหน้าผู้สมัคร ส.ส. อย่างเป็นทางการให้ได้เลือกกันตามอัธยาศัย ท่ามกลางสารพัดโพลที่ได้เปิดเผยผลสำรวจเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ออกมาเป็นระยะๆ
จะว่าไปแล้วโพลการเลือกตั้งครั้งนี้นั้น มีทั้งของแต่ละพรรคการเมืองเอง มหาวิทยาลัย สำนักวิจัยและหน่วยงานต่างๆ ไม่นับรวมกรณีมีประชาชนจำนวนไม่น้อยปักใจเชื่อว่า กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. ได้ทำโพลแบบเงียบๆ มาตลอด ถึงขั้นนักการเมืองและแกนนำการชุมนุมบางคนอ้างว่า โพล กอ.รมน.ชี้ว่า พท.จะชนะการเลือกตั้งทิ้งห่างคู่แข็งจนต้องมีการส่งเจ้าหน้าที่ตามประกบ โดยขาดหลักฐานยืนยัน
เกี่ยวกับเรื่องนี้ พล.ต.ต.ดิฏฐพร ศศะสมิต ในฐานะโฆษก กอ.รมน. เปิดประเด็นว่า ในช่วงนี้ มีกลุ่มคนพยายามดึงงานของ กอ.รมน.ไปกระทบการเมือง โดยพยายามเชื่อมโยงให้ประชาชนเข้าใจผิด และบิดเบือนว่า กอ.รมน.จัดทำโพล เลือกตั้ง หรือ จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งเจตนาของคนกลุ่มนี้ ต้องมองให้ชัดเจนว่า มุ่งหมายอะไร ขณะเดียวกัน กอ.รมน. ที่เป็นองค์กรของรัฐก็ไม่ได้ปิดกั้น หรือ บังคับให้คิดเหมือน และเข้าใจถูกต้องทั้งหมด
จุดมุ่งหมายหลักของ กอ.รมน. คือทำให้เกิดความมั่นคงในประเทศเป็นหลัก ทั้งเฝ้าติดตามการกระทำที่กระทบกับความมั่นคง ตรวจสอบและยับยั้ง รวมทั้งอำนวยการ ประสานงาน และ เสริมสร้างการปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ เสริมสร้างให้ประชาชนตระหนักถึงหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ตลอดจนเสริมสร้างความรักความสามัคคีและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมป้องกัน แก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงและความสงบสุขของประเทศ ดังนั้น จะเห็นได้ว่า งานของ กอ.รมน.แทบจะต้องไปแตะแทบทั้งนั้น แต่เป็นไปในลักษณะเป็นตัวกลางและประสานให้แต่ละหน่วยงานร่วมมือกันไม่ทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกัน โดยในอนาคตได้เตรียมเสนอขอยกระดับ กอ.รมน.เป็นหน่วยงานระดับทบวง ลักษณะเดียวกับของสหรัฐฯ
โฆษก กอ.รมน. กล่าวต่อว่า จากภัยคุกคามทั้งหมด กอ.รมน.ได้แบ่งองค์กรเพื่อรองรับงานเป็น 6 ศูนย์ประสานการปฏิบัติ ได้แก่ ศูนย์ฯ ที่ 1 ดูแลงานด้านยาเสพติดมีเลขาฯ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. เป็น ผอ. โดยทหารเป็นกำลังเสริม ศูนย์ฯ ที่ 2 เรื่องแรงงานต่างด้าวและหลบหนีเข้าเมืองมีกระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพ ศูนย์ฯ ที่ 3 ด้านการก่อการร้ายและอาชญากรรมข้ามชาติมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ ศูนย์ฯ ที่ 4 การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้มีทหารดูแล ศูนย์ฯ ที่ 5 เรื่องเหตุรุนแรงในภาคใต้ โดยกองทัพบกเป็นหลัก และศูนย์ฯ ที่ 6 ดำเนินการด้านโครงการพระราชดำริ โดยพ่วงการดูแลการล่วงละเมิดสถาบันด้วย
ในเรื่องการดำเนินการจับกุมวิทยุชุมชนครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมานั้น พื้นฐานเริ่มจากประชาชนร้องเรียน กอ.รมน. เรื่องคลื่นรบกวนสัญญาณทีวีและวิทยุหลัก ประกอบกับมีการยุยงปลุกปั่นให้เกิดการเข้าใจผิดต่อสถาบันและเกิดความแตกแยก จึงได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจตามกฎหมายไปตรวจสอบ จนมีการรวบรวมพยานหลักฐานและขออนุมัติหมายศาล ร่วมกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเข้าดำเนินการในแต่ละพื้นที่
จากนั้น เมื่อเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการกลับพบความผิดเพิ่มขึ้น นอกจากมาตรา 116 เรื่องยุยงปลุกปั่น ยังผิดมาตรา 112 ในเนื้อหาบางส่วนที่เชื่อว่า ผู้ดำเนินรายการส่วนใหญ่ทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการมีการนำเทปหรือคำปราศรัยมา เผยแพร่ซ้ำ ตลอดจนการใช้กำลังส่งเกินกำลัง จนนำพาไปสู่การดำเนินการดังที่เกิดขึ้นทั้ง 13 สถานี ขณะเดียวกันผู้เสียประโยชน์กลับไปสร้างเงื่อนไขว่าเลือกปฏิบัติ หรือ 2 มาตรฐาน ซึ่งทั้ง กอ.รมน. และเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า มีฐานความผิดครบถ้วนไม่มีการกลั่นแกล้ง และยังติดตามดูทุกฝ่ายอยู่อีกจำนวนมาก ท่ามกลางกฎหมายและผู้รับผิดชอบยังไม่สมบูรณ์ ซึ่งทั้งหมดก็ลำบากใจ และแม้ถูกโยงเป็นเรื่องการเมืองแต่ก็ต้องดำเนินการ
เมื่อถามถึงกรณี กอ.รมน.ส่งทหารลงประกบนักการเมืองลงพื้นที่หาเสียงตลอดจนแกนนำมวลชน พล.ต.ต.ดิฏฐพร ชี้แจงว่า กอ.รมน.ตกเป็นเป้าทางการเมืองอยู่แล้ว สืบเนื่องจากมีกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อเดือน เม.ย.-พ.ค. 2553 ซึ่งได้รับผลกระทบการการปฏิบัติหน้าที่ของ กอ.รมน. ในการนำกำลังแก้ไขปัญหาตามความจำเป็นดังที่ทราบกัน จนเกิดการคับแค้นใจและอาฆาตมาดร้ายมาถึงปัจจุบัน
กอ.รมน.ทำอะไร นอกกรอบอำนาจหน้าที่ไม่ได้ โดยเรื่องการเลือกตั้งก็ไม่มีระบุในหน้าที่ ดังนั้น จึงไม่สามารถเบิกงบประมาณมาใช้จ่ายเรื่องเหล่านี้ ได้ ขณะเดียวกันงานใน 6 ศูนย์ฯ มีจำนวนมากเกินกำลังเจ้าหน้าที่จะทำได้อยู่แล้ว และการขอกำลังจากภายนอกยากลำบาก แต่ยังมีความพยายามจะเชื่อมโยงให้เข้าไปเกี่ยวข้อง โดยในความเป็นจริง กอ.รมน. เพียงจัดชุดประสานงานที่เรียกว่า ชุดประสานงานมวลชนเข้าไปในพื้นที่หลายพื้นที่ ซึ่งถูกปรับภารกิจมาจากชุดสันตินิมิตรเดิมและชุดเสริมสร้างเศรษฐกิจพอเพียง
ขณะนี้ มีเจ้าหน้าที่ในความรับผิดชอบของ กอ.รมน. 2 ชุด คือ ชุดประสานงานมวลชน หรือ ชปมส. เข้าไปในพื้นที่ 27 จังหวัดทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนเข้าใจและตระหนักถึงหน้าที่พิทักษ์ รักษาไว้ ซึ่งสถาบันหลัก สร้างความรัก ความสามัคคีคนในชาติ และความเข้าใจความสำคัญการมีส่วนร่วมการแก้ปัญหาความมั่นคง และอีกชุดเป็นชุดเสริมสร้างความเข้าใจเรียกว่า ชสจ. เน้น 2 ภารกิจคือ พิทักษ์ ปกป้อง เทิดทูนสถาบัน และแก้ปัญหายาเสพติด โดยจัดวิทยากรลงพื้นที่จัดอบรมในพื้นที่กองทัพภาคที่ 1, 2 และ 3 จำนวน 100 ชุด แต่ละชุดประกอบด้วย ป.ป.ส. ทหาร และตำรวจ
"ไม่ทราบเจตนาของผู้ กล่าวหา กอ.รมน. แต่ในส่วนงานของ กอ.รมน.ต้องทำ ส่วนใครจะเชื่อไม่เชื่อไม่ว่าอะไรในสิ่งที่ชุดต่างๆ ลงพื้นที่ แต่ขอให้ไปตรวจสอบกับประชาชนในพื้นที่ว่า ได้อะไรจากเจ้าหน้าที่เหล่านี้ที่ไป ซึ่งเป็นการประเมินผลอีกทางหนึ่งด้วยว่า เข้าใจตรงกับเจตนาไหมที่ต้องการเสริมสร้างความเข้าใจด้านความมั่นคงของ ประเทศชาติ การปกป้องสถาบันและภัยยาเสพติด แต่ถ้าตอบว่าเจ้าหน้าที่ไปหาข่าวด้านการเมืองมาบอกเลยว่า พื้นที่ไหนและชุดอะไรจะได้ดำเนินการ เพราะปฏิบัติหน้าที่ไม่ตรงตามมอบหมาย" พล.ต.ต.ดิฏฐพร กล่าวและว่า
ขอยืนยันว่า กอ.รมน. มีเจตนาดูแลด้านความมั่นคงเป็นหลักอย่างเดียว ส่วนเรื่องการเมืองเรื่องเลือกตั้งนั้น เป็นเรื่องประชาธิปไตย โดยแต่ละพรรคจะไปหาเสียงกับประชาชนเอง แต่ละพรรคแข่งขันกันอยู่แล้ว กอ.รมน.ไม่เกี่ยวข้องและไม่ได้ไปแข่งขันด้วย เพียงดูแลในส่วนไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งและความรุนแรงในระหว่างเลือกตั้ง โดยตำรวจเป็นหลักเท่านั้น
โฆษกฯ กล่าวย้ำว่า การส่งชุดปฏิบัติการลงพื้นที่ไม่ใช่เพิ่งอนุมัติให้มีการลงพื้นที่ แต่มีการฝึกอบรมมานานแล้ว แต่ช่วงจังหวะเวลาที่ลงพื้นที่เป็นช่วงที่กำลังจะเลือกตั้งพอดี แต่เป็นงานที่ต้องทำต่อเนื่องและหยุดไม่ได้ เพราะประชาชนจะเสียโอกาสในการทำความเข้าใจกับเรื่องความมั่นคง เป็นเรื่องที่มันใจว่า เจตนาจะทำอะไร ภารกิจทหารในปัจจุบันมากมายอยากให้ประชาชนเห็นใจและเข้าใจ ทั้งสับเปลี่ยนกำลังลงพื้นที่ชายแดนภาคใต้ และประจำตามแนวชายแดนสกัดกั้นยาเสพติด และช่วยเหลือประชาชนเมื่อประสบภัยพิบัติ
สำหรับข้อกังขาของหลายคน เรื่องโพลเลือกตั้ง กอ.รมน.นั้น พล.ต.ต.ดิฏฐพร กล่าวว่า เรื่องนี้ เป็นอีกประการหนึ่งที่น่าขำ เพราะแม้การติดตามการเลือกตั้งยังไม่มีกำลังเพียงพอ ขณะที่การทำโพลจะใช้งบประมาณจากไหน และกอ.รมน.ไม่มีสายงานด้านนี้ ไม่มีความเชี่ยวชาญ ไม่มีความรู้ หัวข้อโพลต้องทราบหลักการในการตั้งคำถาม มีหลักวิชา คนไม่ได้เรียนทำออกมาก็ไม่ได้ความชัดเจนตามที่ต้องการ จึงไม่มีความหมาย
"เป็นเรื่องของคนที่อยากจะทำแต่ทำไม่ได้จึงพยายามหาองค์กรเข้ามารับเหมาว่า ทำให้ ซึ่งที่อ้างว่าโพล กอ.รมน. ผลที่ออกมาก็ฟังและขำ ประหลาดใจว่า จะได้ยอดตามนั้นจริงหรือไม่ คิดว่าจะเป็นไปตามที่ว่าหรือไม่ ไม่รู้ทำมาจากไหนเอามาจากไหน" โฆษก กอ.รมน.กล่าว และว่า พูดได้เลยว่า กอ.รมน. ไม่มีโพล และตนอยู่ที่ กอ.รมน.มา 3 ปี ไม่เห็นใครเก่งพอจะทำโพลได้
เรื่องนี้ มองว่าเป็นการสร้างประเด็นไว้ก่อน โดยกรณีพลาดท่าจะได้อ้างได้ แต่ถ้า กอ.รมน.ไม่ออกมาปฏิเสธเลยจะเหมือนรับสมอ้าง ขอยืนยันและปฏิเสธแทนองค์กรได้เลยในฐานะทำหน้าที่ตรงนี้คือ งานต่างๆ ที่ผ่าน กอ.รมน. ออกไปคิดว่า คงไม่มีอะไรที่ตนไม่รู้ เพราะทุกวันนี้ต้องติดตาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก และ รอง ผอ.รมน. และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กอ.รมน. และในช่วงที่ผ่านมา ทำหน้าที่เลขาฯ นายอภิสิทธิ์ ในฐานะ ผอ.รมน. ซึ่ง ผอ.รมน.จะอนุมัติเรื่องอะไรก็ต้องรับรู้ทุกเรื่องด้วย จึงเป็นไปไม่ได้ถ้ามีโพล กอ.รมน.โดยที่ตนไม่รับรู้ ยืนยันว่า ภายใน 6 ศูนย์ฯ ของ กอ.รมน. และกองทัพภาคต่างๆ ไม่มีโพล
พล.ต.ต.ดิฏฐพร กล่าวถึงคำถามเป็นไปได้หรือไม่เจ้าหน้าที่ชุดต่างๆ ของ กอ.รมน.ซึ่งลงพื้นที่จะไปทำโพลหรือเก็บข้อมูลแบบไม่เป็นทางการ ว่า ถ้าเป็นจริงคำถามคำตอบจะได้มาตรฐานเพียงพอจะเชื่อถือได้หรือไม่ กรณีมีการสะท้อนข้อมูลมาเจ้าหน้าที่ส่วนกลางก็ไม่อาจเชื่อได้ว่า มาตรฐานเท่าเที่ยมกัน ในเรื่องโพลต่างๆ นั้น ความจริงจะปรากฏเมื่อผลออกมาและถึงเวลา โดยเป็นการชี้นำได้เพียงส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เคยมีการคิดจะฟ้องร้องผู้นำชื่อ กอ.รมน.ไปแอบอ้าง แต่ยังไม่มีการดำเนินการชัดเจนจากผู้ใหญ่ โดยเป็นเรื่องขององค์กร
อย่างไรก็ตาม กล่าวสำหรับการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา ตำรวจสันติบาลนับเป็นอีกหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งเป็นแม่งานหลักด้านการข่าว และ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา การข่าวของตำรวจสันติบาลกับการเลือกตั้ง โดยเฉพาะคาดการณ์คะแนนเสียงหรือโพลลับตำรวจสันติบาล ว่าผู้สมัคร ส.ส.รายใดจะได้เข้าสภามีความแม่นยำค่อนข้างสูง โดยคลาดเคลื่อนไม่เกิน 5% จนเป็นที่ยอมรับ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามกฎ
ที่ผ่านมา ทุกการเลือกตั้งตำรวจสันติบาลจะให้นายตำรวจระดับสารวัตร เจ้าหน้าที่ กำลังหน่วยข่าวและสายข่าว ซึ่งเกาะติดทุกพื้นที่ ทุกจังหวัดทั่วประเทศอยู่แล้วหาข่าวและเช็กกระแสการเมืองเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถคาดการณ์ผลการเลือกตั้งภาพรวมได้ แม้ไม่เคยมีนายตำรวจระดับสูงหรือแม้กระทั่งผู้เกี่ยวข้องออกมายอมรับ แต่ก็ไม่เคยปฏิเสธเต็มปากเต็มคำ วัตถุประสงค์ก็เพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหลัก
未经允许不得转载:综合资讯 » แกะรอยโพล กอ.รมน…ชี้พท.ชนะเลือกตั้ง???