综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดู "การเมือง"

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าเมื่อตรวจสอบกระแสความคิดที่หลั่งไหลผ่าน Social Media ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Twitter ดูเหมือนผู้คนจะหายใจเข้าหายใจออกเป็นการเมืองและการเลือกตั้งไปเสียหมด
นั่นอาจจะเป็นเพราะห้วงเวลาที่ผ่านมา เป็นการเปิดรับสมัคร ส.ส.ทั้งในระบบบัญชีรายชื่อ และระบบเขตเลือกตั้ง จึงทำให้การรณรงค์หาเสียงในช่วงออกสตาร์ทมีความคึกคักเป็นพิเศษ พรรคการเมืองต่างๆ พยายามหากลยุทธ์มาช่วงชิงพื้นที่ในสื่อมวลชนทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์ชนิดไม่มีใครยอมใคร
ขณะที่กระแสการกล่าวขวัญถึงละครที่ออกอากาศวันไหน มีอันที่ Timeline ของ Twitter จะต้องท่วมท้นไปกับความคิดเห็นที่สะท้อนออกมาจากผู้ชมแบบเรียลไทม์อย่าง “ดอกส้มสีทอง” ได้ปิดฉากรูดม่านไปเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากเราเอาเรื่องราวทางการเมืองและการเลือกตั้งที่กำลังเข้มข้นในขณะนี้ มาผูกโยงกับละครหลังข่าวที่ถือว่าเป็นรายการที่มีเรทติ้งสูงเป็นอันดับต้นๆ ในบรรดารายการโทรทัศน์ที่ออกอากาศอยู่ในขณะนี้แล้ว บางคนอาจจะบอกว่า มันน่าจะเป็น “คนละเรื่องกัน”
แต่หากเราจะมองไปในอีกมุมหนึ่งว่า ละครเป็นการแสดง ตัวละครเป็นเพียงภาพสมมติที่นักแสดงจะต้องสวมบทบาทให้เหมือนจริง เช่นนี้แล้ว การเมืองย่อมไม่ต่างจากละคร เพราะการเมืองเป็นเรื่องของผลประโยชน์ มีนักการเมืองสวมบทบาทตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ที่หลากหลาย แต่ภายนอกต้องแสดงให้สมจริงว่าทำหน้าที่ตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใหญ่ นั่นคือ ประชาชนคนชั้นกลางจนถึงล่าง
ถ้านักการเมืองแสดงได้สมบทบาท ก็จะกลายเป็นพระเอก แต่เมื่อไหร่ที่แสดงได้ไม่สมบทบาทจนธาตุแท้ถูกเปิดโปงออกมาว่า ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ของคนกลุ่มน้อยเพียงไม่กี่คน แต่เป็นคนชั้นสูงที่มีฐานะร่ำรวยมาจากการประกอบธุรกิจที่ผูกขาด เอารัดเอาเปรียบรัฐ นักการเมืองคนนั้น ก็จะกลายเป็นผู้ร้ายในบัดดล
กระนั้นก็ตาม บางครั้ง นักแสดงในหัวโขนของความเป็นนักการเมือง อาจแสดงได้แนบเนียนในหน้าฉากจนกระทั่งสามารถสร้างภาพได้ว่า เป็นผู้ที่ห่วงใยชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนคนหมู่มาก แต่เมื่ออยู่หลังฉากแล้ว นักการเมืองคนเดียวกัน ก็อาจคอยแต่จะปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง เครือญาติและพวกพ้อง
ประชาชนที่รู้เท่าทัน ก็จะไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองและพยายามหาทางป้องกันไม่ให้นักการเมืองประเภทนี้ได้เข้ามามีอำนาจทางการเมือง แต่ก็มีประชาชนอีกจำนวนมากที่รู้ไม่เท่าทัน จนกลายเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเข้ามาสู่อำนาจ
ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนคนดูจะต้องเฝ้าดูการเมืองอย่างใช้วิจารณญาน เพราะการเมืองนั้นต่างจากละครตรงที่ละครนั้น ผู้ชมรู้มาตั้งแต่แรกแล้วว่า ละครคือการแสดง นักแสดงทั้งหลายล้วนเป็นตัวสมมุติ แต่การเมืองแม้เป็นเรื่องสมมติ มีนักการเมืองเข้ามารับบทบาทที่หลากหลาย แต่หากผู้ชมไปหลงเข้าใจว่า เป็นเรื่องจริงจัง ก็มีโอกาสสูงที่จะตกไปเป็นเครื่องมือของนักการเมืองโดยไม่รู้ตัว
เมื่อรู้กันอย่างนี้แล้ว เวลาที่เราเห็นภาพข่าวนักการเมืองออกเดินสายหาเสียง แล้วมีผู้คนมากมายมาห้อมล้อมติดตาม ประหนึ่งว่า มีผู้ให้การสนับสนุนจำนวนมาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว คนที่ห้อมล้อมหรือมาเชียร์ให้กำลังใจ ส่วนใหญ่ได้รับค่าตอบแทนจากการมาต้อนรับหรือแสดงความยินดี
ป้ายหรือฉากที่นำมาประกอบเพื่อให้ภาพที่ถูกเผยแพร่ออกมาเป็นภาพข่าวทั้งทางโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ “ดูดี” เหล่านี้ ล้วนมีการวางแผน เตรียมการกันอย่างรอบคอบ โดยทีมงานนักรณรงค์ที่ส่วนใหญ่มักมีประสบการณ์มาจากภาคธุรกิจมากกว่าเฉพาะเจาะจงด้านการรณรงค์หาเสียงทางการเมือง

ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดู "การเมือง"

บางครั้ง เราจึงได้เห็นถึงความไม่ “สมจริง” ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครบางพรรค บางคน แต่ก็มีผู้คนจำนวนไม่มากนักที่ “จับได้ไล่ทัน” นักการเมืองเหล่านี้
แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์ในการทำข่าวการเมืองมาพอสมควร ย่อมจะต้องมองเห็นถึงบทบาทของนักการเมืองในฐานะตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี และเมื่อมองเห็นในมุมที่ว่านี้ ก็คงจะแยกแยะลำบากระหว่างละครหลังข่าวกับละครการเมือง
ส่วนพี่น้องประชาชนคนมีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งหลาย คงต้องลองพยายามหาความเชื่อมโยงกันระหว่างบทบาทของนักแสดงในละครโทรทัศน์ กับบทบาทของนักการเมืองในฐานะตัวกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
เพื่อให้รู้เท่าทันทั้ง “ละคร” และ “การเมือง” ในยุคที่การสื่อสารนั้นรวดเร็วและมีช่องทางการส่งสารที่หลากหลาย และเมื่อนั้น เราก็จะมองการเมืองอย่างเข้าใจและไม่หลงไหลได้ปลื้มไปกับนักการเมืองหรือพรรคการเมืองใด โดยปราศจากการกลั่นกรองข้อมูลที่เปรียบเสมือนคำแนะนำที่ผู้ปกครองควรมีแก่เด็กในระหว่างการดูละครนั่นเอง…

﹑﹑

未经允许不得转载:综合资讯 » ดูหนังดูละคร แล้วย้อนดู "การเมือง"

赞 (0)
分享到:更多 ()