综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

คนไร้รากเหง้า คำใหม่ปัญหาเก่า

“คนไร้รากเหง้า”…เป็นคำใหม่ พวกเขาเหล่านี้เป็นคนไทยแท้หรือเปล่า คงต้องเริ่มกล่าวถึงภาษากฎหมายที่หมายถึง…คนไม่มีรัฐ ไม่มีประเทศไหนรับเขาเอาไว้ แต่ถ้ารัฐไหนจดทะเบียนเขาไว้แล้ว พิสูจน์ว่าเป็นคนสัญชาตินั้นก็รับสัญชาตินั้น
หากพิสูจน์ไม่ได้…ก็เป็นคนไร้สัญชาติ
มานะ งามเนตร์ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชน 7 ว. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ บอกว่า คนไร้รากเหง้า ก็ไม่รู้ว่าเป็นใคร…พิสูจน์ไม่ได้ว่าเกิดที่ไหน ไม่มีบุพการีหรือบุพการีทอดทิ้งมาตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งบุคคลที่เกิดมาจากนอกประเทศและในประเทศ
มติ ครม. วันที่ 7 ธันวาคม 2553 กำหนดเช่นเดียวกับบุคคลต่างด้าว …ต้องเข้ามาก่อนวันที่ 18 มกราคม 2538 จะมีสิทธิขออนุญาตเป็นบุคคล ต่างด้าวเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย (อยู่แบบถาวร)
ส่วนบุตรที่เกิดในประเทศให้ได้สัญชาติไทย ถ้าใครยังไม่มีชื่อ…รายการบุคคลหรือเลข 13 หลัก จะได้รับการสำรวจจากสถานสงเคราะห์ ชุมชน วัดและ โรงเรียน ปริยัติธรรมที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบ
มานะ บอกว่า หลักการของเราที่จะพิสูจน์สัญชาติต้องเริ่มที่ว่าคุณเกิด ที่ไหน ถ้าไม่รู้ ไม่มีใครบอก ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ก็ยังเป็นเครื่องหมายคำถามอยู่ คำถามต่อมาคุณเกิดเมื่อไหร่? การเกิดที่ไหนถ้าเกิดในดินแดนไทยก็อาจจะได้สัญชาติตามหลักดินแดน แต่ถ้าถามถึงวันเกิด ทุกคนมีกฎหมายสัญชาติบังคับว่าจะเป็นอย่างไร
การแก้ปัญหาคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติคนไร้รากเหง้ามาเป็นขั้นเป็นตอน วันนี้ เราต้องแก้ปัญหาคนที่อยู่มานานแล้ว เจาะจงเฉพาะกลุ่มคนไร้รากเหง้าก็ยังครอบคลุมเฉพาะคนที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของรัฐ 3,000 คน ไม่นับรวมคนที่อยู่ในชุมชน นอกสถานสงเคราะห์ เรือนจำ โรงพยาบาล ที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะยังไม่มีการสำรวจ
“ทั้งๆที่ความเป็นจริง เราควรจะสำรวจคนทุกคนเพื่อจะได้ทราบความจริงที่ชัดเจนว่า เป็นใคร แล้วค่อยไปพิสูจน์หาการที่จะมีสัญชาติไทยหรือไม่ได้ แต่ความบกพร่อง…มีปัญหาว่ารัฐมนตรีแต่ละยุคไม่ทราบว่าประเทศไทยลงนามเป็นภาคีพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่ว่าทุกคนที่เกิดมาต้องให้เอกสารการเกิด บันทึกชื่อเขาไว้…”
ข้อติดขัดนี้วันนี้ได้รับการแก้ไขแล้ว ทำให้เด็กที่เกิดมา พ่อแม่ที่ไม่มีอะไรเลย ต้องได้ใบเกิด เพื่อที่จะระบุว่า เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่เกิดมาในประเทศไทย…ไม่สามารถที่จะพิสูจน์อะไรได้ ก็ให้เอกสารที่แสดงว่าเขาไม่ได้สัญชาติไทยไปก่อน เพื่อที่จะแก้ปัญหาเรื่องเก่า แล้วก็ไม่มีปัญหาใหม่เกิดขึ้น
ห้องที่คุยกันกับมานะไม่ได้รับเฉพาะปัญหาบุคคลไร้รากเหง้า หาก แต่เป็นห้องรวมฮิต ผู้ที่มาติดต่อ อาจจะเป็นคนไทย อาจจะเป็นคนที่มีเชื้อ สายไทยมีคุณสมบัติเป็นไทยแต่ไม่สามารถจะหาอะไรมาโยงใยได้ อย่างกรณี คุณยายวัย 62 ปี…ที่นั่งอยู่ตรงหน้า ตอนเป็นสาวใช้ชีวิตอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี ตอนนี้ก็พยายามค้นหาแต่ก็ได้ข้อมูลเพียงว่า ตอนนั้นยายอยู่ที่บ้านไหนวัดอะไร
แล้วพอย้ายไปอยู่กับสามีที่บ้านสมุทรสาคร 30 ปีมาแล้ว ก็ไม่เคยสนใจเรื่องทะเบียน ไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน เป็นเหตุให้ไม่มีบัตรประจำตัวประชาชน จนกระทั่งมีปัญหาเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล จากเดิมที่ใช้บัตรทอง 30 บาท รักษาทุกโรค แต่ตอนหลังเปลี่ยนเป็นช่วยคนไทยห่างไกลโรค… “พอไม่ใช่คนไทย จะทำยังไง”
“คุณยายไม่มีบัตรประชาชนจะทำอย่างไร อายุเยอะ 62 ปีเข้าไปแล้ว เจ็บป่วยก็รักษาไม่ได้” มานะ ว่า “ตอนนี้กำลังตามล่าหาทะเบียนบ้านแบบเก่า …นี่คือคนไทยที่คิดว่าไร้รากเหง้า เป็นสิ่งที่เราจะช่วยค้นคนที่เป็นคนไทยให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ เพราะอย่างไรก็เป็นคนไทย”
หนุ่มอีกคนมีเบาะแสเกิดที่โรงพยาบาลด่านขุนทด ปัจจุบันอายุ 32 ปี แต่หาหลักฐานการเกิดไม่ได้ ก็พยายามที่จะหาพยานที่มายืนยัน สถานะ ที่เจอแล้วคือคุณครูที่รู้เห็นการเรียนมาตั้งแต่ชั้นอนุบาล กำลังหาช่องว่างระหว่างตั้งแต่เกิดมาถึงชั้นอนุบาล ซึ่งพบอีกว่ามีญาติอยู่ที่สุโขทัย
เจ้าตัวเล่าว่า…ปัจจุบันทำงานเป็นช่างแอร์ย่านบางนา ปัญหาที่เจอเคย หุ้นกับเพื่อนก็โดนโกง เพราะต้องใช้ชื่อเพื่อนทั้งหมด เราไม่มีหลักฐานอะไรเลย …ทั้งบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน
“จะทำอะไรแต่ละอย่างก็ยาก คิดจะเรียนต่อก็ไม่ได้ จบแค่ ป.6 แม้ว่าอายุ จะไม่มาก แต่เจ็บป่วยเข้าคลินิก จ่ายเงินรักษาเองก็ยังยาก…บอกเขาว่าไม่มีก็ยังให้เขียนชื่อนามสกุลเพื่อค้นหา ท้ายที่สุดก็ไม่เจอ คนอื่นที่มีบัตรมาทีหลังก็ได้รักษาก่อน…ความคาดหวังวันนี้น้อยเต็มทีแล้ว ยอมรับว่าเหนื่อยเหลือเกิน”
ที่มาลงทะเบียนสำรวจบุคคลไร้รากเหง้าที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี แม้ว่าเราไม่เข้าใจคำว่าคนไร้รากเหง้า ได้ยินข่าวก็คิดเอาเองว่า…น่าจะเข้าข่ายคล้ายๆชีวิตเราแต่พอมาจริงๆก็รู้ว่าไม่ใช่ ต้องไปตามหาญาติไปตามหลักฐานค้นความเป็นมา…จากกรุงเทพฯไปสุโขทัย จากสุโขทัยกลับกรุงเทพฯ วิ่งไปวิ่งมา คงสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว
“ไม่มีทางเลือก…ถ้าไม่มีความหวัง ชีวิตนี้ก็คงไม่ได้เห็นบัตรประชาชนของตัวเอง”
วิธีคัดกรองยากง่ายอย่างไร มานะย้ำว่า เจ้าตัวต้องให้ความร่วมมือ เอาความจริงมาพูดกัน เกิดเมื่อไหร่ เกิดที่ไหน เกิดโดยใครทำให้เกิด สถานะพ่อแม่ ณ วันนั้นเป็นใคร
ถามว่าจะมีคนต่างด้าวแอบมาเป็นคนไร้รากเหง้าสวมสิทธิ์เป็นคนไทยได้ไหม มานะ อธิบายว่า อย่างไรเสียก็จะต้องเริ่มจากการพิสูจน์ และการสวมสิทธิ์ ก็เป็นอีกประเด็น…อย่างบางรายมีชื่ออยู่แล้ว นางไพลิน แต่ปัญหามีว่าไม่ได้ ติดต่อใครเลย ก็มีไพลินอีกคนสวมชื่อ ลักษณะนี้เจอเยอะไปหมด
กฎหมายสัญชาติเขียนไว้นานแล้ว ที่กลัวกันว่าคนต่างด้าวจะมาผลิตลูกเพื่อให้ได้สัญชาติไทย ไม่น่าห่วงเพราะถ้าเป็นบุคคลต่างด้าวเข้ามาอยู่ประเทศไทย ถ้าอยู่ชั่วคราวหรือหลบหนีเข้าเมืองไม่ให้สัญชาติไทย แต่ถ้าเป็นคนต่างด้าวที่อยู่ถาวร…มีใบต่างด้าว…มีใบถิ่นที่อยู่…มีชื่อในทะเบียนบ้านเล่มสีน้ำเงิน ลูกออกมาได้ สัญชาติไทยอัตโนมัติตามหลักกฎหมายสัญชาติว่าด้วยการเกิดในดินแดนไทย
หน่วยทะเบียนเมื่อมีคนเกิด…มาแจ้งต้องรับแจ้ง แล้วบันทึกไว้ลูกของใคร พ่อแม่เป็นคนต่างด้าว ลูกก็จะต้องเป็นคนต่างด้าวตามพ่อแม่ จนกว่าในอนาคตกฎหมายจะแก้ย้อนหลัง
แรงงานต่างด้าว ก็แยกย่อยเป็นอีกประเด็นปัญหาเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมเราจำเป็นต้องมีการเอกซเรย์ทุกชุมชน เพื่อให้ทุกคนมีเลข13หลัก
ถ้าเราจัดการพร้อมกันอย่างเข้าใจ เอกซเรย์พร้อมกันทีเดียวก็จะนำมาคัดแยกแต่ละปัญหาได้ ใครเป็นใครส่วนคนที่เข้ามาใหม่ใครจะพาใครมาทำผิด ลักลอบเข้าเมืองไทย ก็จะรู้ความเคลื่อนไหว ไม่มีปัญหาซ่อนอยู่เหมือนวันนี้…และจะไม่มีการบิณฑบาต คนของใคร ใต้ความคุ้มครองของใคร
เช่น คนขายโรตี ต้องจ่ายรายเดือนอยู่ได้ ถ้าเราสำรวจครบแล้ว เราจะจัดการคนเหล่านี้ได้ ให้เลข 13 หลัก เอกสารแสดงตัวเอาไว้เพื่อเก็บไว้แสดงสถานะ อยู่ชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี…ตรองให้ดีๆจะปล่อยให้คนเหล่านี้อยู่อย่างผิด กฎหมาย แล้วถูกละเมิดด้วยเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นค่าบัตรผ่าน…บัตรแสดงตัวต่างๆ อย่างที่เป็นอยู่อย่างนี้ต่อไปไหม
“ฝากเรียกร้องสำนักทะเบียน อาจมีข้อจำกัดในการทำหน้าที่ แต่ขอร้องว่าคนที่ไม่มีอะไรเลย…ในชุมชน ในท้องที่ขอให้รับไว้ก่อน ลงทะเบียนบันทึกเอาไว้ว่าเขาคนนั้นใช้ชื่ออะไร วันเกิดรู้ไหม เกิดที่ไหน ใครเป็นพ่อแม่ แล้วตอนนี้อยู่ที่ไหนในชุมชนนั้น…เพื่อเอามาค้นว่าเขาเป็นใครกันแน่ แล้วจะได้จัดการกับคนเหล่านี้ต่อไป”
ผู้ที่มาลงทะเบียนก็ต้องเตรียมข้อมูลต่างๆ พยานบุคคลเป็นอย่างไรบ้าง กระบวนการที่ต้องทำง่ายๆ เอาความเป็นจริงมาพูดกัน โดยใช้หลัก “3 ม” เริ่มจาก “ข้อมูล” ที่มีความแม่นยำ… “กฎหมาย” …เจ้าหน้าที่ แล้วจะสร้าง “ม” ที่สามคือ “มั่นใจ”…ความมั่นใจในการรับรองของเจ้าหน้าที่ พยานทุกคน นับรวมไปถึงคนมีอำนาจ
สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการและผู้สูงอายุ (สท.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) รับลงทะเบียนบุคคลไร้รากเหง้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ วันที่ 1- 14 มิถุนายน 2554 (ในวันและเวลาราชการ) ที่สถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี…สำหรับส่วนภูมิภาคจะมีพัฒนาสังคมจังหวัดแต่ละจังหวัดเป็นผู้ดูแล
ผู้ใดที่ไม่สามารถลงทะเบียนได้ในวันและเวลาที่กำหนด ติดต่อภายหลังได้ที่สำนักงานทะเบียนอำเภอ สำนักงานทะเบียนท้องถิ่นเขต หรือเทศบาลตามทะเบียนบ้าน หรือภูมิลำเนาที่บุคคลไร้รากเหง้าอาศัยอยู่ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02– 3068–7912 เว็บไซต์

ゝゝ

未经允许不得转载:综合资讯 » คนไร้รากเหง้า คำใหม่ปัญหาเก่า

赞 (0)
分享到:更多 ()