综合资讯
当前位置:综合资讯 > 文化 > 文化走廊 > 正文

คลังหนังสือนักเขียนเมื่อน้ำมาน้ำตาท่วม

คลังหนังสือนักเขียนเมื่อน้ำมาน้ำตาท่วม

“ยังไม่รู้จะทำอย่างไรกับชีวิตดี”  เจ้าของนามปากกา อาริตา ตอบด้วยเสียงสั่นเครือ เมื่อถามถึงคลังหนังสือมหาศาลที่ถูกน้ำท่วมเสียหาย
“เขียนหนังสือก็เขียนไม่ออก ได้บรรทัดสองบรรทัดก็ต้องหยุด นวนิยายที่เขียนส่งนิตยสารก็ต้องบอกบรรณาธิการว่า ต้องขอพักสัปดาห์สองสัปดาห์ก่อน ยังมึนอยู่กับเหตุการณ์ ยังทำอะไรไม่ได้”
“อาริตา” หรือ ทัศนีย์ คล้ายกัน เจ้าของสำนักพิมพ์ ลีลาบุ๊คส์ เป็นนักเขียนนวนิยายและเจ้าของสำนักพิมพ์ มหาอุทกภัยปี พ.ศ.2554 นี้ ทำให้เธอสูญหนังสือหลายหมื่นเล่ม แถมบ้านอีก 3 หลัง จมอยู่ในน้ำอย่างไร้ทางป้องกันใดๆ
ตัวเธอเองต้องกระหืดกระหอบหนีเอาตัวรอด ไปเช่าคอนโดฯ อยู่ในจังหวัดชลบุรี และยังอยู่ในสภาพอกสั่นขวัญหาย “น้ำมาเร็วมาก เร็วจนเราทำอะไรไม่ทัน คว้าได้แต่โน้ตบุ๊ก แล้วรีบพาแม่ออกมาจากบ้านเพื่อเอาตัวรอด”
บ้านของอาริตาหลังแรกที่น้ำจู่โจม อยู่ในหมู่บ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี ตำบลประชาธิปัตย์ ตรงข้ามกับตลาดรังสิต “เพิ่งเก็บหนังสือมาจากงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เอามาเก็บไว้ในคลังทั้งหมด ชะตากรรมของหนังสือในงานก็รู้ๆกันอยู่ว่าเป็นอย่างไร” อาริตาบอก พลางระบายลมหายใจอย่างอ่อนล้า
เธออธิบายว่า คลังหนังสือที่อยู่ในบ้านรัตนโกสินทร์ 200 ปี มีทั้งหนังสือใหม่และหนังสือเก่า หนังสือใหม่คือ หนังสือที่สำนักพิมพ์เพิ่งจัดพิมพ์ออกมา ทั้งผลงานของตนเอง ผลงานของนักเขียนคนอื่นๆ
“บางเล่มยังไม่ได้จ่ายค่าพิมพ์ เพิ่งจะพิมพ์ออกมา แล้วเข้าสต๊อกไว้ ยังไม่ทันได้ออกขายเลยสักเล่มเดียว จมน้ำไปหมดแล้ว”
ส่วนหนังสือเก่า “เป็นหนังสือวิชาการ หนังสืออ้างอิง และหนังสือเล่มโปรดที่เราซื้อเก็บไว้ บางเล่มหาซื้อที่ไหนไม่ได้ อีกแล้ว บางเล่มชอบมาก เอามาไว้ที่ที่นอนเลย”
อาริตาฉายภาพเหตุการณ์วันน้ำเข้าบ้านว่า ปกติฝนตกน้ำท่วมอย่างไรก็ตาม จะไม่เกิดปัญหาเพราะมีการป้องกันไว้เป็นอย่างดี แม้ระดับน้ำจะเหนือถนนประมาณ 1 เมตรก็สามารถกั้นอยู่ แต่คราวนี้ไม่อาจทำอย่างที่ผ่านมาได้
“น้ำทะลักเข้ามา เรากั้นไม่อยู่ น้ำค่อยๆ เข้ามาและสูงขึ้นๆ วันแรกเลยคือวันที่แนวกั้นน้ำที่นวนครแตก ระดับน้ำที่เข้ามา แค่วันแรกก็เอารถเข้าบ้านไม่ได้แล้ว”
หลังที่สองอยู่ที่บ้านภัสสร ตั้งอยู่บริเวณถนนเลียบคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี
บ้านหลังนี้ “ตัวบ้านใหญ่ใช้เก็บหนังสือ มีห้องทำงาน แรกๆ มีการวางแผนว่าจะไม่ย้ายออกไปไหน หวังเป็นที่อยู่ของคนในครอบครัวทั้ง 6 คน แต่เมื่อถึงวันที่ 20 ตุลาคม ระดับน้ำเพิ่มขึ้นมาอย่างน่าใจหาย สูงถึง 1 เมตร จึงต้องหนี”
บ้านหลังที่สามของอาริตา อยู่ริมถนนรังสิต -นครนายก “บ้าน หลังนี้ เก็บนวนิยายเก่าๆ ไว้มาก น้ำเข้าไปเป็นหลังล่าสุด มันจมไปอย่างรวดเร็ว ค่าของหนังสือเก่า เราประเมินค่าไม่ได้ แต่ถ้าคิดเฉพาะหนังสือใหม่ไม่ต่ำกว่าห้าล้านบาท นี่ไม่รวมความเสียหายอื่นๆ”
นาทีนี้คิดจะทำอะไรหรือ “เราไม่รู้เลยว่า น้ำจะท่วมเจ็ดวัน สิบห้าวัน หนึ่งเดือน หรือว่าสองเดือน ไม่มีโอกาสรู้เลยว่าจะท่วมขัง อยู่นานแค่ไหน และไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้กลับบ้าน เราเขียนนิยาย เรากำหนดเรื่องราวได้ แต่นี่เป็นเรื่องของธรรมชาติ มันเกินคาดคิด เราไม่สามารถกำหนดอะไรได้เลย” อาริตาบอก
ธรรมชาติเขียนบทชีวิตให้คนบ้างแล้ว
ชีวิตของอาริตาเคยพบน้ำท่วมหนักๆ มาแล้วอย่างน้อยก็ 2 ครั้ง คือเมื่อปี พ.ศ.2526 และ พ.ศ.2538 สองครั้งนั้นไม่เคยหวาดหวั่น ไม่เคยกลัวและไม่น่ากลัวแต่อย่างใด แต่คราวนี้ “เราต้องทิ้งบ้าน
รถเมล์ไม่วิ่ง อาหารการกินหาซื้อไม่ได้ เราไม่อาจใช้ชีวิตอยู่อย่างปกติท่ามกลางน้ำท่วมได้เหมือนเมื่อปีก่อนๆ”
ท่วมครั้งก่อนๆ “เราเดินลุยน้ำไปจ่ายตลาดได้ โอภาปราศรัยกับเพื่อนบ้านได้ ทำงานที่บ้านได้ แต่ครั้งนี้เราต้องหนีออกจากบ้าน ได้มาแต่คอมพิวเตอร์และงานที่อยู่ในเครื่องบรรจุข้อมูลบางส่วนเท่านั้น อย่างอื่นต้องซื้อหาเอาข้างหน้าทั้งหมด”
การตัดสินใจหนีออกจากบ้าน “เราตัดสินใจถูกแล้วที่ออกมาเพราะระดับน้ำที่บ้านสูงมาก สูงขึ้นไปถึงที่นอนเลย ไม่รู้ชะตากรรมบ้านของตัวเองเหมือนกันว่า เดี๋ยวนี้ระดับน้ำเพิ่มไปถึงไหนแล้ว แต่ที่แน่ๆ คนในหมู่บ้านแทบไม่มีใครอยู่แล้ว”
สภาพปัจจุบัน “มันทำให้เราเกิดอาการจิตหลอน มันดราม่าสุดขีด ยิ่งกว่านวนิยายที่เราเขียนเสียอีก”
สาเหตุการท่วมขัง เธอมองว่า การบริหารจัดการน้ำไม่เป็นเอกภาพ การกักน้ำ การปล่อยน้ำไม่มีความสัมพันธ์กัน และย้ำว่า “อย่าคิดว่ารังสิต คลองหลวงเป็นท้องทุ่งนาสิ นักวิชาการบางคนคิดกันอย่างนั้น เดี๋ยวนี้ทุ่งรังสิต คลองหลวงเป็นหมู่บ้านหมดแล้ว การกักน้ำ การปล่อยน้ำต้องคิดถึงความเป็นจริงตรงนี้ด้วย”
และที่สำคัญ “การกักน้ำไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ อย่างไม่เหมาะสมนั้น นับเป็นความเห็นแก่ตัว ถ้ามีการยอมกันบ้าง เสียสละกันบ้าง ความเดือดร้อนก็จะไม่หนักหนาอย่างนี้”
บรรดานักเขียนที่คลังหนังสือจมน้ำ มิใช่เพียง “อาริตา”ที่ยังช็อกอยู่กับเหตุการณ์เท่านั้น ยังมี ลันนา เจริญสิทธิชัย ที่อยู่บ้านบัวทอง หนังสือจมน้ำนับ 10,000 เล่ม ชีวี ชีวา หรือ จตุพล บุญพรัด ที่บ้านอยู่นนทบุรี และที่หนักหนาสาหัสสุดๆ เห็นจะเป็น สุชาติ สวัสดิ์ศรี บรรณาธิการนิตยสารช่อการะเกด
บ้านสุชาติอยู่ข้างเมืองเอก เลยจากตลาดรังสิตเข้าไป ความเสียหายมีทั้งหนังสือ และภาพเขียน
สุชาติ นอกจากจะเป็นนักเขียน ศิลปินวาดภาพ ยังเป็นนักสะสมหนังสือตัวยง บ้านของสุชาติมีอยู่ 4 หลัง สร้างเป็นบ้านชั้นเดียวให้หนังสืออยู่ถึง 3 หลัง รวมหนังสือในบ้านกว่า 100,000 เล่ม เมื่อน้ำมาอย่างรวดเร็ว นอกจากจะนำหนังสืออะไรออกมาไม่ได้แล้ว ตนเองและครอบครัวก็หนีน้ำออกมาอย่างทุลักทุเล
การซับน้ำตานักเขียนที่คลังหนังสือถูกน้ำท่วมเสียหาย ไพลิน รุ้งรัตน์ อดีตนายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย บอกว่า ชาวแวดวงน้ำหมึกน่าจะมีการช่วยกัน ถ้าไม่ใช่เรื่องเงินก็อาจเป็นแรง เพื่อเป็นการส่งแรงใจให้แก่กัน
การจะทำอะไรให้เป็นรูปเป็นร่างยามนี้ “ยังคิดไม่ออก เพราะมึนกับเหตุการณ์เหมือนกัน อาจจะเป็นการตั้งกองทุน หรือเพื่อการรองรับเหตุการณ์ที่อาจจะมีต่อไป หรือเป็นห้องสมุดเพื่อให้นักเขียนได้นำหนังสือไปฝากไว้ในที่ปลอดภัยก็ได้”
วงการหนังสือในภาวะน้ำท่วม นอกจากนักเขียนถูกน้ำท่วมคลังหนังสือแล้ว สำนักพิมพ์ต่างๆ ยังผวาไปตามๆ กัน เพราะถ้าน้ำเข้าคลังได้เมื่อใด
เมื่อนั้นหนังสือราคาแพงๆจะกลายเป็นกระดาษเปียกน้ำอันไร้ค่าไปทันที.

ss

未经允许不得转载:综合资讯 » คลังหนังสือนักเขียนเมื่อน้ำมาน้ำตาท่วม

赞 (0)
分享到:更多 ()