วันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคม 2555 เวลา 00:00 น.
“ครูที่แท้จริงนั้นต้องเป็นผู้ทำแต่ความดี คือ ต้องหมั่นขยันและอุตสาหะพากเพียร ต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และเสียสละ ต้องหนักแน่น อดทน และอดกลั้น สำรวม ระวังความประพฤติปฏิบัติของตน ให้อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดีงาม รวมทั้งต้องซื่อสัตย์ รักษาความจริงใจ วางใจเป็นกลาง ไม่ปล่อยไปตามอำนาจอคติ” อาจารย์จันทร์เพ็ญ ภู่สมบัติขจร จะนึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทุกครั้งที่รู้สึกเหนื่อยและท้อในการทำงาน เพราะทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในการเป็นข้าราชการครูที่ได้รับใช้พระองค์ท่าน และประเทศชาติในการพัฒนาเยาวชนของไทยให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ อีกทั้งยังภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการรักษาวัฒนธรรมไทย โดยการพูด ฟัง อ่าน เขียน ภาษาไทยที่ถูกต้องอีกด้วย
นางจันทร์เพ็ญ ภู่สมบัติขจร อาจารย์ผู้สอนวิชาภาษาไทย วิทยาลัยอาชีวศึกษา (วศ.)พิษณุโลก เล่าถึงเคล็ดลับของความสำเร็จที่มีส่วนทำให้ได้รับการยกย่องเป็นครูภาษาไทย ดีเด่น ประจำปี 2554 รวมถึงยังได้รับคัดเลือกให้เป็นปูชนียบุคคลด้านภาษาไทยของจังหวัดพิษณุโลก ประจำปี 2555 โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมอีกด้วย
จากประสบการณ์การสอนภาษาไทยมากว่า 28 ปี จึงทำให้อาจารย์จันทร์เพ็ญมีผลงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นรายงานการใช้สื่อการสอนรายวิชาภาษาไทย เพื่ออาชีพ 1 เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน นักศึกษาระดับ ปวช. ของวศ.พิษณุโลก, เอกสารประกอบการเรียนการสอนรายวิชาภาษาไทยเพื่องานวิชาชีพ 1, จัดทำสื่ออิเล็กทรอนิกส์ พร้อมคู่มือการใช้รายวิชาภาษาไทย, การวิจัยเรื่อง การแก้ปัญหา การออกเสียงพยัญชนะ ร ล และพยัญชนะควบกล้ำ ร ล ว ของนักเรียนระดับ ปวช.1 วศ.พิษณุโลก เป็นต้น
“ก่อนหน้านี้เคยสังเกตดูการใช้ภาษาไทยจากเฟซบุ๊กของเยาวชน ทั้งที่เป็นลูกศิษย์และนักเรียนทั่วไป พบว่าการใช้ภาษาไทยน่าปวดหัวอย่างมาก อ่านแล้วรู้สึกหดหู่ใจ เนื่องจากมีการใช้คำที่ผิดเพี้ยนไปมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการเขียน เช่น สวัสดีคร้าบหวัดดีค่ะ แทนที่จะเขียนเป็น สวัสดีครับ สวัสดีค่ะ จานสบายดีไหมคร้าบ? ซึ่งที่ถูกต้องคือ อาจารย์สบายดีไหมครับ? ซึ่งก็เข้าใจว่าเป็นภาษาวัยรุ่น แต่ถ้าไม่คำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้กลายเป็นแม่บทของคนรุ่นหลังเข้าใจสิ่งที่ผิดเป็นสิ่งที่ถูกได้ นอกจากนี้การออกสื่อต่าง ๆ บางทีก็ทำให้ภาษาไทยไปในทางที่ผิดอีกด้วย ซึ่งเราคนไทยต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างมาก
ดังนั้นครูผู้สอนภาษาไทยจึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการร่วมอนุรักษ์ภาษาไทยที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ” อาจารย์จันทร์เพ็ญ กล่าว ทุกวันนี้นอกจากจะถ่ายทอดความรู้ให้แก่นักเรียนในสถาบันแล้ว เวลาว่าง อาจารย์จันทร์เพ็ญยังได้ถ่ายทอดความรู้ภาษาไทยให้แก่คนในจังหวัดพิษณุโลกด้วยการออกเสียงตามสาย และจัดรายการวิทยุต่าง ๆ เพื่อปลุกให้ประชาชนได้เกิดความรู้สึกตระหนัก และหวงแหนภาษาไทย เหมือนที่อาจารย์จันทร์เพ็ญ รักและหวงแหนภาษาไทยเช่นกัน.
ธเนส อนุดิษฐ์
﹎﹎
未经允许不得转载:综合资讯 » ภาษาไทยคือมรดกชาติ – เปิดทำเนียบครูดีครูเด่น