อัยการสูงสุดฟันธง ’ไม่ผิด-ไม่ขัด“ กสทช.มีมติออกใบอนุญาตอัตโนมัตินำเข้าอุปกรณ์ 3จี
ประเด็นการทำสัญญาดำเนินธุรกิจรูปแบบใหม่เพื่อให้บริการ 3จี บนคลื่นความถี่เดิม หรือเอชเอสพีเอ ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ว่าเข้าข่ายพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมการงานหรือดำเนินในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ) หรือไม่ และขัดต่อประกาศกทช. เรื่องการขายส่งขายต่อบริการและสัญญาเช่าอุปกรณ์โทรคมนาคมหรือไม่
ล่าสุดข้อสงสัยดังกล่าว ได้รับการยืนยันจากอัยการสูงสุดผ่านหนังสือที่ กสท ถามไถ่ในประเด็นดังกล่าว ซึ่งส่งกลับมายัง กสท เมื่อวันที่ 11 ก.ค. ที่ผ่านมา และส่งมายังกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)
โดยระบุว่า การทำสัญญาดังกล่าวไม่เข้าข่าย พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ เพราะเป็นการเช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมตามระเบียบของ กสท ว่าด้วยการพัสดุ โดยวิธีตกลงราคากัน อีกทั้ง กสท มีสถานภาพเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด เป็นเพียงผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งเทียบเท่ากับเอกชนรายอื่น ๆ ที่ต้องปฏิบัติตามประกาศของกสทช.ซึ่งแตกต่างจากเดิมที่ กสท นำคลื่นความถี่ไปจัดสรรให้สัมปทานกับเอกชน และเมื่อ กสทช.ได้กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแล้ว การอนุญาตและการประกอบกิจการ จึงไม่ใช่เป็นการใช้ทรัพย์สินของส่วนราชการหรือของหน่วยงานรัฐ ตามพ.ร.บ.ร่วมทุน 2535 แต่เป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ พ.ร.บ.กสทช. 2553
ถัดมาอีกวัน นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงไอซีที ซึ่งได้รับสำเนาหนังสือตอบกลับของอัยการสูงสุดจาก กสท กล่าวว่า หลังอ่านข้อความแล้ว เนื้อหายืนยันว่าสัญญาการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ระหว่าง กสท กับทรู ไม่เข้าข่ายพ.ร.บ. ร่วมทุนฯ และไม่ขัดต่อประกาศกทช. เรื่องการขายส่งขายต่อบริการและสัญญาเช่าอุปกรณ์โทรคมนาคม แต่ต้องให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เห็นชอบว่าสัญญาเหมาะสมหรือไม่ โดยอัยการสูงสุดเห็นว่า กสทช.มีอำนาจค้านการดำเนินการตามสัญญาและถ้าไม่เห็นชอบก็สามารถให้ กสทนำสัญญากลับไปพิจารณาใหม่ได้
นางจีราวรรณ กล่าวต่อว่า ตามหน้าที่ไอซีที จะพิจารณาเรื่องของงบประมาณที่ กสท ใช้ในการลงทุนจำวน 1.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งงบที่ กสท ต้องใช้ลงทุนตลอดอายุสัญญา 14.6 ปี จำนวนกว่า 2 แสนล้านบาท ไอซีทีได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว คาดจะได้คำตอบจากกระทรวงการคลังก่อนการมาของรัฐมนตรีไอซีทีคนใหม่ เพื่อนำเสนอต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องยังคงอยู่ในอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีไอซีทีคนปัจจุบัน (จุติ ไกรฤกษ์)
อย่างไรก็ตามแม้จะได้คำยืนยันข้อสงสัยบางส่วนของอัยการสูงสุดแล้ว ในส่วนของไอซีทียังมีข้อสงสัยที่ยังไม่ได้คำตอบ คือ ขั้นตอนการดำเนินการในการทำสัญญาระหว่างกสท-ทรู ถูกต้องหรือยัง เช่น ผ่านความเห็นชอบจากสภาพัฒน์หรือยัง ส่วนเรื่องว่าสัญญาดังกล่าวเป็นการผูกขาดการทำตลาดโทรคมนาคมหรือไม่ ต้องให้กสทช.พิจารณาและเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ
ด้านที่ประชุม บอร์ดกสทช.สัปดาห์ที่ผ่านมา นายสุรนันท์ วงศ์วิทยกำจร ปฏิบัติหน้าที่แทน กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมมีมติอนุมัติกระบวนการออกใบอนุญาตตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 แบบอัตโนมัติ ทดแทนการต้องส่งเรื่องให้บอร์ดเป็นผู้อนุมัติทุกครั้ง โดยกระบวนการนี้จะทำให้ผู้ยื่นเรื่องขอใบอนุญาต ทั้ง 9 ประเภท อาทิ ใบอนุญาตให้ทำ ใบอนุญาตให้ใช้ ใบอนุญาตให้ตั้ง ใบอนุญาตให้นำเข้า เป็นต้น จะได้รับใบอนุญาตภายใน 3 วัน หลังจากยื่นเอกสารครบถ้วน รวดเร็วกว่าเดิมมาก
“สำหรับคำจำกัดความของวิทยุคมนาคม ครอบคลุมถึง ตัวโทรศัพท์มือถือ การติดตั้งสถานีฐาน ซึ่งหลังจากบอร์ดเห็นชอบในร่างประกาศฯ ที่ได้ประชาพิจารณ์มาหลายครั้งแล้ว คาดว่าอีก 3 วันประธาน กสทช. จะลงนามและส่งเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ภายในปลายเดือนนี้ และเมื่อมีผลบังคับใช้ไปแล้ว 3 เดือน ก็จะมีการประเมินผล” นายสุรนันท์ กล่าว
นายสุรนันท์ กล่าวต่อว่า ร่างประกาศดังกล่าวจะทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่จะดำเนินงาน 3จี สามารถยื่นขออนุญาตเพื่อนำเข้าอุปกรณ์ติดตั้งและใช้เทคโนโลยี 3จี ได้ ส่วนบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) สามารถยื่นขอใบอนุญาตนำเข้าอุปกรณ์เพื่อให้บริษัท บีเอฟเคที บริษัทในเครือของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ติดตั้งอุปกรณ์เพื่อให้บริการ 3จีบนคลื่นความถี่เดิม ตามสัญญาการทำธุรกิจรูปแบบใหม่ระหว่างกสท-ทรู
ส่วนกรณีที่อัยการสูงสุดส่งหนังสือตอบกลับว่าสัญญารูปแบบใหม่ระหว่างกสท-ทรู อัยการสูงสุดเห็นว่า กสทช.มีอำนาจค้านการดำเนินการตามสัญญาและถ้าไม่เห็นชอบก็สามารถให้ กสท นำสัญญากลับไปพิจารณาใหม่ได้ นายสุรนันท์ กล่าวว่า ยังไม่เห็นหนังสือสอบถามมายัง กสทช. ทว่าเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์ถ้า กสท ยื่นขอใบอนุญาตและมีเอกสารครบถูกต้อง กสทช.ก็ต้องอนุญาต ซึ่งเป็นคนละส่วนกับที่ไอซีทีจะส่งหนังสือมาสอบถาม
ด้านแหล่งข่าวจากกระทรวงไอซีที กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงไอซีทีได้รับหนังสือจากอัยการสูงสุดแล้ว จะนำเรื่องเข้าหารือกับกฤษฎีกาเนื่องจาก กสท.ต้องขออนุญาตการนำเข้าอุปกรณ์มาให้บริษัทบีเอฟเคทีในกลุ่มทรูเพื่อติดตั้ง ซึ่งจะไม่เข้าข่ายพ.ร.บ.ร่วมทุนฯได้อย่างไร ในเมื่อทั้งสองฝ่ายต้องร่วมกับดำเนินงาน ถ้าไม่ร่วมดำเนินงานการให้บริการ 3จี รูปแบบใหม่จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นจึงต้องให้กฤษฎีกาตีความให้ชัดเจน หรือไม่ก็ต้องรอให้ศาลปกครองตัดสิน
เรื่องของ 3จี กสท-ทรู จะเป็นอย่างไรต่อไปติดตามดู.
┢┢
未经允许不得转载:综合资讯 » ‘3จี กสท-ทรู’ ฉลุย!