综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

วิเคราะห์การเมือง

"ทักษิณ" หยุดเคลื่อนไหว "คลาย" วิกฤติประเทศ ถอยตั้งหลัก ยกธงขาว

วิเคราะห์การเมือง

สถานการณ์ความขัดแย้ง และการเผชิญหน้า ระหว่างไทย-กัมพูชา

จากการที่สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประกาศแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ของประเทศไทย ที่อยู่ระหว่างหนีโทษอาญาในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ

ให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา

กลายเป็นเหตุกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทย-กัมพูชา ถึงขั้นที่มีการประกาศลดความสัมพันธ์ ทางการทูต ต่างฝ่ายต่างเรียกตัวเอกอัครราชทูตกลับประเทศ เป็นเวลาเกือบปี

พร้อมมีการเคลื่อนกำลังทหารประชิดชายแดน ตั้งป้อมประจันหน้าพร้อมรบ สถานการณ์เข้าขั้นตึงเครียด

แถมยังเกิดความขัดแย้งในเรื่องการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกของกัมพูชาแต่เพียงฝ่ายเดียว

โดยรัฐบาลไทยได้คัดค้านการยื่นแผนบริหารจัดการพื้นที่บริเวณปราสาทพระวิหารของกัมพูชาต่อคณะกรรมการมรดกโลก ยื้อการพิจารณาออกไปเป็นปีหน้า

ปรากฏการณ์ความขัดแย้งเหล่านี้ ทำให้นานาประเทศแสดงความวิตกกังวล เกรงปัญหาความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นสงครามระหว่างประเทศ

มีการเรียกร้องให้ทั้ง 2 ประเทศลดทิฐิ และหาทางเจรจากันโดยสันติวิธี เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ ก็ยังไม่มีอะไรกระเตื้อง มีแต่ปัญหากระทบกระทั่งกันมาตลอด

แต่แล้วจู่ๆในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาก็ออกมาแถลงการณ์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา

เท่ากับเป็นการประกาศอย่างชัดเจนว่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่ได้มีบทบาทเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับรัฐบาลกัมพูชาอีกแล้ว

และในทันทีที่รัฐบาลกัมพูชาแจ้งเรื่องนี้อย่างเป็นทางการมายังรัฐบาลไทย สถานการณ์ความขัดแย้งของ 2 ประเทศ ก็เริ่มผ่อนคลาย

รัฐบาลไทยส่งนายประศาสน์ ประศาสน์วินิจฉัย เอก-อัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา กลับไปประจำสถานทูตไทยในกัมพูชาทันที

ขณะที่รัฐบาลกัมพูชา ก็ส่งนางยู ออย เอกอัคร-ราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย เดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ ณ สถานทูตกัมพูชาในเมืองไทย ทันทีเช่นกัน

พลิกฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูต แบบฉับพลัน เพียงแค่ชั่วข้ามคืน

ส่งผลให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ คลายความเขม็งเกลียวลงไปได้อย่างรวดเร็วจนแทบไม่น่าเชื่อ

อย่างไรก็ตาม การพลิกฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทย-กัมพูชา อย่างฉับพลันทันใดในครั้งนี้ ทำให้มองได้ว่าในเบื้องลึกอาจมีการประสานเจรจาตกลงกันมาก่อน

ส่วนการออกมาแถลงอย่างเป็นทางการของกัมพูชา เรื่อง "ทักษิณ" ลาออกจากตำแหน่งที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา เหมือนเป็นเพียงแค่พิธีการ

เพื่อนำมาสู่การฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง 2 ประเทศ

ที่สำคัญปรากฏการณ์ในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณยุติบทบาทที่เกี่ยวพันกับทางกัมพูชา

ปัญหาความขัดแย้งระหว่าง 2 ประเทศ ก็เริ่มคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน เมื่อย้อนกลับมามองการเมืองภายในประเทศ ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ต่างๆก็เริ่มผ่อนคลายลงตามลำดับ

ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมา 4-5 ปี เกิดวิกฤติรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำอีก ถึงขั้นเสียเลือดเสียเนื้อ บาดเจ็บล้มตาย จลาจลเผาบ้านเผาเมือง

มาถึงตอนนี้ สถานการณ์วิกฤติความขัดแย้ง เริ่มคลายตัวลงระดับหนึ่ง

โดยเฉพาะหลังจากผ่านเหตุการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคมที่จบลงด้วยความสูญเสียครั้งใหญ่

เกิดการปะทะระหว่างเจ้าหน้าที่ทหารกับกองกำลังติดอาวุธที่แฝงอยู่ในม็อบ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก อาคารร้านค้ากลางกรุงถูกเผาวอดวาย มีผู้คนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงเป็นวงกว้าง

หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้ การเคลื่อนไหวต่อสู้ ของ พ.ต.ท.ทักษิณที่รู้ๆกันอยู่ว่าเป็นผู้บงการอยู่เบื้องหลังแกนนำกลุ่มเสื้อแดง ก็เริ่มแผ่วลงไป

ลดบทบาทในการออกมาเคลื่อนไหวปลุกระดมผ่านสื่ออินเตอร์เน็ต ทำตัวห่างหายจากวงจร ไม่มีการโฟนอิน และวีดิโอลิงค์

ขณะเดียวกัน เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณหยุดการเคลื่อนไหว ก็ส่งผลให้การขับ เคลื่อนกลุ่มมวลชนเสื้อแดงมีอาการแผ่วตามไปด้วย

แม้จะมีคนเสื้อแดงบางกลุ่มจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวต่างๆ แต่ในภาพรวมก็เป็นแค่การแสดงออกทางการเมือง เป็นสีสันในระบอบประชาธิปไตย

ไม่ถึงขั้นระดมพลชุมนุมใหญ่โค่นล้มรัฐบาลเหมือนช่วงที่ผ่านมา

โดยเฉพาะที่กังวลกันว่า หากรัฐบาลยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคอีสาน อาจมีการเคลื่อนไหวก่อความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว

แต่ในข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อรัฐบาลทยอยยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในหลายจังหวัดไปแล้ว

ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะที่จะสร้างความรุนแรง

โดยภาพรวมจึงถือได้ว่า วิกฤติความขัดแย้งลดโทนความร้อนแรงลงไป

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นชัดว่า เมื่อ "ทักษิณ" หยุดการเคลื่อนไหว  ทำให้บรรยากาศการเมืองทั้งในประเทศและระหว่างประเทศดีขึ้น

นอกจากนี้ ยังเป็นตัวบ่งชี้อีกมุมหนึ่งว่า วิกฤติการเมืองที่เกิดขึ้นในห้วง 4-5 ปีที่ผ่านมา

เป็น "วิกฤติทักษิณ" โดยแท้

แม้จะมีการชูประเด็นในเรื่องสองมาตรฐาน และปัญหาความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นที่มีอยู่จริง และมีอยู่แล้วในสังคมไทย มาขยายแผลขยายผล

ตีปี๊บปลุกเร้ามวลชนคนเสื้อแดงให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ เพื่อความเป็นธรรม แต่จุดประสงค์หลักจริงๆ ก็เพื่อเป้าหมายทางการเมืองของตัวเอง

เมื่อ "ทักษิณ" หยุด ทุกอย่างก็แผ่วลงไป

อย่างไรก็ตาม สำหรับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณ หยุดการเคลื่อนไหวต่างๆในช่วงนี้ อาจมองได้หลายมุม

มุมแรก ถูกมองว่าอาจเป็นเพราะมีปัญหาเรื่องสุขภาพ ที่มีกระแสข่าวลือออกมาเป็นระลอกว่า เขาเป็นโรคร้าย อยู่ระหว่างการบำบัดรักษาตัว

กระแสเรื่องนี้ เท็จจริงอย่างไรก็ยังไม่รู้ เพราะที่ผ่านมา ทั้งตัว "ทักษิณ" เอง และบรรดาบริวารใกล้ชิด ต่างก็ออกมาปฏิเสธอย่างสิ้นเชิง

ยืนยันว่าสุขภาพร่างกายแข็งแรงดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

อีกมุมหนึ่ง ก็มองกันว่าอาจมีการเจรจาลับระหว่าง "ทักษิณ" กับฝ่ายคุมเกมอำนาจในประเทศ ต่อรองให้สงบศึก

แต่เรื่องนี้ก็มีการปฏิเสธออกมาจากแกนนำรัฐบาลว่าไม่มีการเจรจาต่อรองใดๆกับ พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใดทั้งสิ้น

จึงไม่สามารถตอบได้ชัดเจนว่า การที่ "ทักษิณ" หยุดเคลื่อนไหว เป็นเพราะเหตุนี้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม เมื่อโฟกัสไปที่ความเคลื่อนไหวของพ.ต.ท.ทักษิณ หลังจากเกิดเหตุการณ์วิกฤติม็อบเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคม

ชัดเจนว่า การใช้ฐานมวลชนเคลื่อนไหวนอกสภา เพื่อโค่นล้มรัฐบาลไม่ประสบความสำเร็จ แกนนำกลุ่มเสื้อแดงหลายคนต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีก่อการร้าย

แม้หลังเกิดเรื่อง พ.ต.ท.ทักษิณพยายามใช้ยุทธศาสตร์ โลกล้อมประเทศไทย จ้างล็อบบี้ยิสต์ โน้มน้าวให้สหรัฐ-อเมริกาประณามรัฐบาลไทยใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดง

แต่ก็ไม่ประสบผลสำเร็จ  เพราะทางสหรัฐอเมริกากลับแสดงท่าทีสนับสนุนแผนปรองดองของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี

รวมทั้งเรื่องการจ้างทนายความต่างประเทศ หาทางดำเนินคดีกับนายกฯอภิสิทธิ์ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในข้อหาสั่งฆ่าประชาชน  แต่ก็ไม่มีอะไรคืบหน้าเป็นชิ้นเป็นอัน

เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องภายในประเทศและพัวพันกับคดีก่อการร้าย

เมื่อยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทยไม่ได้ผล "ทักษิณ" จึงเริ่มลดบทบาท หยุดใช้ฐานมวลชนขับเคลื่อนเกมนอกสภาฯ

ขณะเดียวกัน ก็หันไปให้ความสำคัญกับฐานพรรค การเมือง คือ พรรคเพื่อไทย

สะท้อนให้เห็นจากการขยับขยายย้ายที่ทำการพรรคจากตึกบีบีดี กลับมาใช้ตึกโอเอไอ ย่านถนนเพชร-บุรีตัดใหม่ เป็นศูนย์ บัญชาการใหญ่

ในขณะเดียวกัน ก็มีการวางแผนปรับโครงสร้างพรรค สั่งให้คนในตระกูลลดบทบาทการนำพรรคในทางเปิด

รวมทั้งจะไม่ให้ชูตัวเขา เป็นธงนำในการหาเสียง แต่ให้เน้นไปที่นโยบายเป็นหลัก

เตรียมการใช้พรรคเพื่อไทยไปต่อสู้ในสนามเลือกตั้ง

ฉะนั้น การที่ "ทักษิณ" หยุดพักการเคลื่อนไหว เงียบหายไปในช่วงนี้ จึงอาจเป็นเพียงการถอยตั้งหลัก ไม่ใช่ว่าเขาจะยุติความเคลื่อนไหวอย่างสิ้นเชิง แบบยกธงขาว

ที่แน่ๆ ต้องยอมรับว่า "ทักษิณ" ยังมีฐานมวลชนสนับสนุนหนาแน่นทั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน ที่เป็นจุดแข็งในสนามเลือกตั้ง

ที่สำคัญ เขายังมีทุนมหาศาล ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการนำไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้ง

ในขณะที่ขั้วการเมืองตรงข้าม ที่กุมอำนาจรัฐอยู่ในขณะนี้ ก็รู้ถึงจุดแข็งเหล่านี้เป็นอย่างดี และพยายามทำทุกวิถีทางที่จะลิดรอนทำลายจุดแข็งของ "ทักษิณ"

แน่นอน การต่อสู้ชิงไหวชิงพริบชิงความได้เปรียบทางการเมือง เพื่อเอาชนะในสนามเลือกตั้ง ถือเป็นเรื่องธรรมดาของการแข่งขันชิงอำนาจ

เหนืออื่นใด การให้ประชาชนตัดสินด้วยการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย ถือเป็นระบบสากลที่ทั่วโลกให้การยอมรับ

แต่ก่อนจะถึงวันที่ประชาชนไปหย่อนบัตรลงคะแนนตัดสิน ก็ควรต้องมีหลักประกัน

อย่าให้มีการสังเวยกันด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ.

"ทีมการเมือง"

未经允许不得转载:综合资讯 » วิเคราะห์การเมือง

赞 (0)
分享到:更多 ()