综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

ไทยรัฐออนไลน์…..

ไทยรัฐออนไลน์.....

เมื่อกระแสการเมืองยังเปลี่ยนไปตามทิศทางลม ขณะที่หลายปัญหายังคลุมเครือไม่ชัดเจน เหตุบึมกลับมาป่วนรายวันสถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นไปในทิศทางใด หลายคนพูดถึงรูปแบบของรัฐบาล คงไม่พ้นคำว่า "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่ฟังจนติดหูมาโดยตลอด…

หากไม่เกาะติดการเมืองจริง คงมีหลายคนที่ไม่เข้าใจ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้ตีแผ่ "รัฐบาลแห่งชาติ-รัฐบาลสมานฉันท์" หวังตอกย้ำความปรองดอง เพิ่มกระแสสมานฉันท์ให้ประเทศชาติ เผื่อมีโอกาสมาถึงอาจจะเป็นทางเลือกขึ้นมาจริงๆ

ศ.ดร.สุขุม เฉลยทรัพย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต อธิบายกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ถึงความแตกต่างของการจัดตั้งรัฐบาลแบบสมานฉันท์และรัฐบาลแห่งชาติ ว่า รัฐบาลทั้ง 2 แบบ ค่อนข้างแตกต่างกัน โดยเฉพาะที่มาของรูปแบบการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งรูปแบบรัฐบาลแห่งชาติจะเกิดขึ้นหลังจากภาวะวิกฤติ ที่อยู่เหนือการควบคุม เพราะหากปล่อยปละละเลยไป ปัญหาวิกฤตินั้นจะส่งผลเสียหายต่อประเทศอย่างหนัก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา โดยที่ทุกฝ่ายจะเน้นให้ความสำคัญกับประเทศชาติเป็นหลัก จากนั้นเมื่อจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติแล้ว ทุกฝ่ายจะร่วมกันตัดสินใจว่า จะทำงานและแบ่งงานกันอย่างไร เช่น กระทรวง ทบวง และกรมต่างๆ แบ่งสรรให้ใครเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ เพื่อให้ประเทศชาติสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนรูปแบบของรัฐบาลสมานฉันท์ ปัญหาหลักเกิดจากความแตกแยกของนักการเมืองหรือจากประชาชน กล่าวคือเมืื่อผลประโยชน์และอำนาจที่ได้รับ เกิดความไม่เท่าเทียมกัน จึงจำเป็นต้องแก้ไขปัญหา ด้วยการสร้างความสมานฉันท์ เพื่อให้ฝ่ายที่แตกแยกกลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาเรื่องบุคคล และเมื่อเกิดความสมานฉันท์ภายในประเทศแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการทำต่อไป ก็เป็นเรื่องการทำงานเพื่อประเทศชาติ

"คนที่อยู่ร่วมกัน แต่แตกแยกกันทางความคิด จะไม่มีความสามัคคีกัน ถ้าแตกแยกกันธรรมดา ก็ไม่เป็นไร แต่หากแตกแยกกันอย่างประหัตประหาร ก็จะเกิดความย่อยยับเสียหาย ทั้งในภาคการเมืองและกลุ่มคน เช่นเกิดเหตุการณ์ต่างๆ จนมีผู้เสียชีวิต ถ้าเป็นรัฐบาลแห่งชาติ ก็จะไม่เกิดการฆ่าแกงกัน เพราะไม่มีการแย่งชิงอำนาจกันเอง แต่หากเป็นรัฐบาลสมานฉันท์ อำนาจและผลประโยชน์ จะอยู่บนความพอใจของทั้ง 2 ฝ่าย เราจึงจำเป็นจะต้องยุติความขัดแย้งให้ได้ก่อน ซึ่งไม่ได้มุ่งไปการทำงานทุ่มเทเพื่อประเทศชาติเป็นอันดับแรก" ศ.ดร.สุขุม กล่าว

ไม่เพียงแต่รัฐบาลแบบสมานฉันท์และรัฐบาลแห่งชาติ จะแตกต่างกันเท่านั้น นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ยังระบุถึงความเหมือนของรัฐบาลทั้ง 2 แบบอีกว่า มีหลายคนมองว่า รัฐบาลแห่งชาติหรือรัฐบาลสมานฉันท์ ก็มีความเหมือนกันอยู่ คือทั้ง 2 แบบ ต่างทำให้ลดความแตกแยก เพื่อสร้างความปรองดองให้ประเทศชาติได้ ทั้งนี้ส่วนตัวก็มองว่า การทำเพื่อประเทศชาตินั้นเป็นเรื่องที่สอง ซึ่งเรื่องแรกต้องทำเพื่อลดความแตกแยกให้ได้ก่อน เพราะหากทำให้เป็นรัฐบาลปรองดองได้ แต่อาจเกิดความแตกแยกขึ้นอีก เนื่องจากไม่ได้ปรองดองเรื่องอำนาจและผลประโยชน์กัน และหากตกลงกันไม่ได้ เรื่องนี้ก็จะกลับไปเริ่มต้นที่ความแตกต่าง จนกลายเป็นความแตกแยกอีกเช่นเคย ซึ่งอาจจะต้องมาเริ่มแก้ไขปัญหากันใหม่แบบไม่รู้จบ

เมื่อถามถึงจังหวะเวลาที่นำรูปแบบรัฐบาลทั้ง 2 มาใช้กับประเทศ ณ วันนี้ มีความเป็นไปได้หรือไม่ ศ.ดร.สุขุม ตอบว่า ในหลายประเทศเมื่อมีความแตกแยก จะทำให้เกิดสงครามกลางเมือง จากนั้นจะมีการใช้กำลังปราบปรามเป็นขั้นตอนแรก จนมีฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะ ไม่ว่าจะเป็นแบบเบ็ดเสร็จหรือไม่ก็ตาม โดยผู้ที่ได้รับชัยชนะ จะได้อำนาจและเป็นรัฐบาลไป แต่ในปัจจุบันการปรองดองทางการเมืองนั้น สามารถปรองดองกันได้แค่ครั้งคราวเท่านั้น และประเทศไทยในขณะที่หลายคนเสนอว่า ให้มีการปฏิรูปทั้งหมดทุกภาคส่วน และเสนอให้ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ทุกฝ่ายไม่มีข้ออ้าง สมมติว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่ผ่านมาฝ่ายหนึ่งก็อ้างถึงรัฐธรรมนูญปี 2540 แต่อีกฝ่ายหนึ่งก็อ้างรัฐธรรมนูญปี 2550 ดังนั้นเราควรที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ ให้เป็นรัฐธรรมนูญปี 2553 ที่มีแนวความคิดมาจากทั้ง 2 ฝ่าย จุดนี้จึงจะกลายเป็นการปรองดองที่ยั่งยืน จนนำไปสู่ความปรองดองเพื่อประเทศชาติ

หากเปรียบเทียบถึงข้อดีข้อด้อย ได้ให้ความเห็นว่า "รัฐบาลแห่งชาติและรัฐบาลสมานฉันท์ เป็นเรื่องที่ดี การที่จะให้รัฐบาลเป็นแบบใด ไม่สำคัญ แต่สำคัญว่าจะต้องมีความปรองดองเป็นพื้นฐาน เพราะหากเป็นรัฐบาลแบบใดแบบหนึ่งด้วยการแบ่งผลประโยชน์ และไม่ได้ปรองดองกันอย่างแท้จริง โอกาสที่จะแตกแยกก็จะมีอยู่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากผลประโยชน์ที่ไม่ลงตัว โดยเฉพาะประเทศไทยจะเห็นได้ชัด ในเรื่องของพรรคร่วมรัฐบาล ที่เห็นว่าแรกเริ่มตั้งรัฐบาล พรรคร่วมด้วยกันต่างตกลงกันได้ แต่เมื่อระยะเวลานานขึ้น ความขัดแย้งมักเพิ่มขึ้นในหลายๆ จุด และถ้าเราตั้งรัฐบาลทั้ง 2แบบ เป็นการชั่วคราว ยิ่งจะทำให้เกิดความระหองระแหงขึ้น เพราะต่างฝ่ายต่างกอบโกย เนื่องจากมีเรื่องของเวลามาบีบบังคับ สุดท้ายก็ทำให้รัฐบาลไม่มีความมั่นคงในที่สุด" ศ.ดร.สุขุม กล่าวทิ้งท้าย.

未经允许不得转载:综合资讯 » ไทยรัฐออนไลน์…..

赞 (0)
分享到:更多 ()