นายกฯเตรียมชงร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น เข้าสภาฯ ก่อนปิดสมัยประชุมเดือนพ.ย. เล็ง กล่อมส.ส.ปชป. ยอมรับการเลือกตั้งเขตเดียวเบอร์เดียว จ่อทำประชามติ หากมีความขัดแย้งสูง…
วันที่ 19 ต.ค. ที่รัฐสภา คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มี นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานเดินทางเข้าพบ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการฯถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ภายหลังการประชุม นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการพิจารณาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี รับทราบการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น และ รับปากว่า จะนำทั้ง 6 ข้อ แจ้งให้ ครม. ทราบ และ จะพยายามผลักดันเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ให้ทันก่อนการปิดประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติ ในวันที่ 28 พ.ย. เพื่อให้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนด
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้ติดใจการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้ง 6 ประเด็น โดยบอกว่า จะนำเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญแจ้งให้ที่พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคร่วมรัฐบาลทราบ โดยเฉพาะการแก้ไขเขตเลือกตั้งเป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียว ที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วย ก็จะนำประเด็นนี้ไปทำความเข้าใจกับสมาชิกพรรคว่า เมื่อเรามอบหมายให้คณะกรรมการฯชุดนี้ไปดำเนินการแก้ไข เมื่อแก้ไขเสร็จก็ควรจะรับฟังความเห็นของคณะกรรมการฯ ชุดนี้ ส่วนการสำรวจความเห็นประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ที่มอบหมายให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศนั้น เบื้องต้นพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ข้อ
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมการฯ กล่าวว่า นอกจาก การสำรวจความเห็นประชาชนเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จะมีการรับฟังความคิดเห็นทางโทรศัพท์จากประชาชน ในโครงการ “3 วัน สร้างสรรค์ความเข้มแข็งประชาธิปไตย” ระหว่างวันที่ 10-12 พ.ย.นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งนายกฯ บอกว่าถ้าเป็นไปได้ ก็อยากเร่งรัดให้ทำเร็วขึ้นอีก เพราะอยากเสนอทั้ง 6 ประเด็น ต่อสภาผู้แทนราษฎรก่อนปิดประชุมสภาฯ ซึ่งเราจะไปหาทางเร่งรัดเรื่องนี้ แต่ถ้าไม่ทันสมัยประชุมดังกล่าว อาจเปิดประชุมสภาฯ สมัยวิสามัญได้ นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่าเรื่องรัฐธรรมนูญ คงไม่มีใครเห็นตรงกันทั้งหมด ถ้าใครจะเอาแต่ใจตัวเองคงลำบาก ทั้งนี้ หากสภาฯให้ความเห็นชอบการแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็น ก็จะรีบแก้ไข เพื่อให้ทันต่อการเลือกตั้งในสมัยต่อไป
เมื่อถามว่า หลังจากเสนอผลการสำรวจความคิดเห็นต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ต้องทำประชามติอีกหรือไม่ นายสมบัติ ตอบว่า ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ถ้ากลุ่มการเมืองต่างๆ มีความเห็นไม่ตรงกันหรือมีความขัดแย้งกันสูงมากในประเด็นที่นำเสนอ อาจจำเป็นต้องทำประชามติ หรือถ้ารัฐบาลต้องการทำ แต่ถ้ากลุ่มต่างๆ มีความเห็นสอดคล้องกันค่อนข้างสูง ก็อาจไม่ต้องทำประชามติ
未经允许不得转载:综合资讯 » 21 ตุลาคม 2553, 21:30 น.