综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

เมื่อนายกฯน้ำท่วมปาก…กรณีพม่า

เมื่อนายกฯน้ำท่วมปาก...กรณีพม่า

สถานการณ์ความตึงเครียด และความรุนแรง จากการสู้รบ ระหว่างชนกลุ่มน้อยกะเหรี่ยงพุทธและรัฐบาลทหารพม่า จนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ประชาชนพม่าเดือดร้อน ต้องอพยพหนีภัยกว่า 20,000 คน กลายเป็นปัญหาใหญ่ เกี่ยวกับความมั่นคง ที่ไม่ใช่เพียงแต่แนวชายแดนไทย-พม่า แต่กระทบถึงความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้(อาเซียน) หลังจากผ่านพ้นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี เมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 พ.ย. ผลปรากฏว่าพรรคการเมืองสหภาพเอกภาพ และการพัฒนา USDP ที่รัฐบาลพม่าสนับสนุนชนะการเลือกตั้ง สามารถคว้าที่นั่งในสภาได้ถึงกว่า 80%  

ขณะที่การปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี อายุ 65 ปี วีรสตรีสัญลักษณ์นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่าออกจากที่กักบริเวณ  เมื่อช่วงเย็นวันอาทิตย์ที่ 14 พ.ย. ที่ผ่านมา หลังจากที่ต้องอยู่ในการควบคุมของรัฐบาลเป็นเวลากว่า 15 ปี ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีส่วนทำให้การเมืองในประเทศเกิดความวุ่นวายตั้งแต่ก่อนจนถึงหลังการปล่อยตัวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง เพราะชนกลุ่มน้อย เชื่อว่าการที่พม่าตัดสินใจปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี เนื่องจากรัฐบาลชนะการเลือกตั้ง ไม่มีความจำเป็นที่จะกักตัวอีกต่อไป รัฐบาลทหารที่นำโดย พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย จะสามารถครองอำนาจ และปกครองประเทศอย่างยาวนาน รวมทั้งเชื่อว่าจะจัดการกับปัญหาชนกลุ่มน้อยในพม่าได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์กันว่าก่อนหน้านี้หากปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ให้กลับมานำทัพสู้ศึกก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในพม่า  ถ้านางอองซานประสบชัยชนะ ชนกลุ่มน้อยพม่าที่อยู่ตามแนวชายแดนก็จะไม่ตกที่นั่งลำบากอย่างที่เป็นอยู่ ส่วนอีกกรณีหนึ่งคือต้องการลดแรงกดดันที่นานาชาติโจมตีพม่าว่าเป็นประชาธิปไตยจอมปลอม แต่เมื่อรูปการณ์ออกมาในสภาพนี้  เลี่ยงไม่ได้ที่การสู้รบปะทะกันระหว่างชนกลุ่มน้อย และทหารของรัฐบาลพม่าก็ยังคงมีอยู่เป็นระยะ ตลอดแนวชายแดนตั้งแต่ จ.แม่ฮ่องสอน  อ.แม่สอด ตาก เรื่อยไปจนถึง ด่านพระเจดีย์ 3 องค์ จ.กาญจนบุรี

เหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นยังส่งผลให้ประเทศไทย ต้องรับกลุ่มผู้อพยพอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้ ตามหลักมนุษยธรรม และกลับกลายเป็น ‘ม้าอารี’ อีกครั้ง จากที่ไทยเคยต้องรับภาระผู้อพยพจากการสู้รบของเขมร 3ฝ่าย ในอดีต  ปัญหา และผลกระทบจะยืดเยื้อยาวนานแค่ไหน และประเทศไทยจะวางตัวหาทางออกแก้ปัญหาได้อย่างไร โดยจะต้องไม่กระทบ หรือ ซ้ำเติมกับวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น
รศ.ดร.ธิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์  ผู้อำนวยการสถาบันการศึกษาความมั่นคงนานาชาติและอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับไทยรัฐออนไลน์ เสนอแนะให้รัฐบาลไทยต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศทั้งในระยะสั้น กลางไปจนถึงระยะยาว โดยส่วนตัวเห็นว่าปัญหาการสู้รบของรัฐบาลพม่ากับชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนด้านประเทศไทย น่าจะมีลักษณะที่ต่อเนื่องยืดเยื้อ และยาวนาน เนื่องจากชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ไม่พอใจรัฐบาลทหารพม่าที่บังคับให้ต้องอยู่ในการควบคุม

ภายหลังพม่าจัดการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 20 ปี เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมา และผลปรากฏว่าพรรคการเมืองที่รัฐบาลพม่าจัดตั้งขึ้นได้รับชัยชนะได้เสียงในสภามากที่สุด  ซึ่งชนกลุ่มน้อยเหล่านี้มองว่าการเลือกตั้งที่จัดขึ้นไม่มีความชอบธรรม ทั้งยังรู้สึกว่าเหมือนโดนกีดกันออกจากอำนาจ ไม่มีตัวแทนที่เป็นปากเสียงของตนเอง และยังโดนบีบให้ต้องวางอาวุธเพียงอย่างเดียว   

เมื่อไม่มีทางออก สุดท้ายจึงเกิดปะทะต่อสู้กันขึ้น และถ้ายังไม่สามารถหาจุดที่พึงพอใจที่เป็นคำตอบของทั้ง 2 ฝ่ายได้   ความรุนแรง และความวุ่นวายก็ยังไม่น่าจะจบ ขณะที่รัฐบาลพม่าเองกลับเห็นว่า มีความชอบธรรมในการปกครองประเทศ เพราะได้ผ่านกระบวนการการเลือกตั้งอย่างถูกต้องแล้ว   

แน่นอนว่าประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดหนีไม่พ้นประเทศไทย ที่มีแนวชายแดนติดกันเกือบ 2,000 กิโลเมตร เบื้องต้นต้องรับภาระผู้อพยพหนีภัยสงคราม ส่วนในระยะต่อไปก็น่าเป็นห่วงว่าจะมีปัญหาอื่นๆตามมาอีกโดยไม่สิ้นสุด ไม่ว่า จะเป็นปัญหาความมั่นคง สังคม อาชญากรรม ยาเสพติด ฯลฯ   

ทั้งนี้ รศ.ดร.ธิตินันท์ เชื่อ…ว่า เหตุการณ์จะสงบอาจต้องใช้เวลายาวนาน มากกว่า แค่ 3 เดือน อย่างที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน  ขณะที่หากเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้นายกรัฐมนตรีคิดเข้าข้างตัวเองมากจนเกินไป  

แต่ทั้งนี้ ก็พอเข้าใจนายกรัฐมนตรีไทยที่ต้องให้สัมภาษณ์ลักษณะนั้น เพราะปัจจุบันไทยเองก็ต้องพึ่งพา เพื่อนบ้านประเทศนี้ไม่น้อย ทั้งเรื่องความมั่นคงในด้านพลังงาน ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวเบงกอล หรือจะเป็นท่าเรือน้ำลึกที่เมืองทวาย ซึ่งกำลังมีการก่อสร้างอยู่ ปฏิเสธไม่ได้ว่า หากสร้างเสร็จประเทศไทยน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดประเทศหนึ่ง

ดังนั้นจึงเข้าทำนอง น้ำท่วมปาก…ไม่สามารถที่จะพูดได้ โดยด้านหนึ่งก็เป็นผลประโยชน์ของประเทศชาติ จะเข้าข้างพม่าเสียทีเดียวก็ไม่ได้ เพราะประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะชาติตะวันตก และประเทศในโลกเสรีอาจไม่พอใจไทย ดังนั้น ดร.ธิตินันท์ จึงใช้คำว่า "ไทยต้องมีแนวนโยบายที่ซับซ้อนหลายมิติในการใช้แก้ไขปัญหา"

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหานั้น รศ.ดร.ธิตินันท์ แนะว่า สิ่งแรกรัฐบาลจะต้องเตรียมความพร้อม และรับฟังความคิดเห็นจากนานาชาติ ในที่นี้คือประเทศตะวันตก รวมไปถึงประเทศในภูมิภาคนี้ อาทิ สาธาณรัฐประชาชนจีน อินเดีย และเพื่อนบ้านอาเซียนว่า ประเทศเหล่านี้มีความคิดเห็นอย่างไร ยอมรับผลการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในประเทศพม่ามากเพียงใดรวมทั้งต้องปรับแนวนโยบายต่างประเทศของไทยที่มีต่อพม่าให้มีความเหมาะสม

ต่อมา ทั้งประเทศจีน และกลุ่มสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) รวมไปถึงรัสเซีย ได้ออกแถลงการณ์ตอบรับการเลือกตั้งของพม่า ระบุเป็นความก้าวหน้าในการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยก้าวสำคัญสวนทาง กับกลุ่มประเทศเสรีตะวันตก ที่นำโดยสหรัฐอเมริกาที่ออกมาประณามการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ไม่มีความน่าเชื่อถือ ทำให้น่าคิดเช่นกันว่า เมื่อรูปการณ์ออกมาเป็นเช่นนี้ สำหรับประเทศไทยแล้วควรจะดำเนินการอย่างไร เป็นการบ้านที่ นายอภิสิทธิ์และรัฐบาลต้องคิดหนัก.

未经允许不得转载:综合资讯 » เมื่อนายกฯน้ำท่วมปาก…กรณีพม่า

赞 (0)
分享到:更多 ()