综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

ติดไฟแดงปชป. "อภิสิทธิ์" ตกอำนาจ

ติดไฟแดงปชป. "อภิสิทธิ์" ตกอำนาจ

จับตา “อุบัติเหตุ”แก้รัฐธรรมนูญโดยมติ ครม.

ถึงเวลาที่รอคอยกันมานาน

เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็น เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา วาระแรก ในวันที่ 23-25 พฤศจิกายนนี้

โดยการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลครั้งนี้ แยกเป็น 2 ร่าง

ร่างแรก เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 93-98 เกี่ยวกับประเด็นที่มาของ ส.ส.และระบบเลือกตั้ง
มีสาระสำคัญ คือ กำหนดให้มี ส.ส.ระบบเขตเลือกตั้ง 375 คน และเปลี่ยนระบบเลือกตั้งจากเดิมที่เป็นแบบแบ่งเขตพวงเล็กหรือแบ่งเขตเรียงเบอร์ กลับไปใช้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละคน หรือวันแมนวันโหวต

รวมทั้งกำหนดให้มี ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ หรือปาร์ตี้ลิสต์ 125 คน โดยให้แต่ละพรรค ใช้บัญชีรายชื่อเดียวทั่วประเทศ
ส่วนร่างที่สอง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เกี่ยวกับการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ
มีสาระสำคัญคือ การจำแนกประเภทของหนังสือสัญญาระหว่างประเทศให้ชัดเจนว่าหนังสือสัญญาใดที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

ทั้งนี้ หากย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงการหาเสียงเลือกตั้งของสภาฯชุดนี้ ที่มีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550
พรรคพลังประชาชนที่แปลงสภาพมาเป็นพรรคเพื่อไทยและเป็นฝ่ายค้านอยู่ในเวลานี้ ได้ประกาศเป็นนโยบายในการหาเสียงว่าต้องการจะเข้ามาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเป้าหมายหลัก

เมื่อชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นรัฐบาลทั้งในยุคของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯที่ล่วงลับ และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ

ต่างก็ประกาศเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 โดยพยายามที่จะดึงรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 กลับมาใช้
แต่ก็ไม่สำเร็จ เพราะมีกระแสต้านอย่างหนัก โดยเฉพาะจากกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หรือม็อบเสื้อเหลือง

จนกระทั่งเกิดกรณีการยุบพรรคพลังประชาชน การเมืองพลิกขั้ว เป็นผลให้พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี

ในขณะที่พรรคพลังประชาชนที่โดนยุบพรรคไป ก็แปลงสภาพมาเป็นพรรคเพื่อไทย และรับบทฝ่ายค้านในสภาฯ
เมื่อรัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯอภิสิทธิ์เข้ามาบริหารประเทศ ก็ได้เกิดกระแสต่อต้านจากกลุ่มแนว ร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือม็อบเสื้อแดง

สถานการณ์ลุกลามจนเกิดเหตุจลาจลสงกรานต์เลือดในปี 2552 ทำให้หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง

นายกฯอภิสิทธิ์จึงมอบหมายให้ทางรัฐสภาตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมีนายดิเรก ถึงฝั่ง ส.ว.นนทบุรี เป็นประธาน

โดยได้ข้อสรุปเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น ได้แก่

1.มาตรา 93-98 ให้กลับไปใช้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ใช้ระบบแบ่งเขต เขตละคน หรือวันแมนวันโหวต และระบบบัญชีรายชื่อบัญชีเดียวทั่วประเทศ

2.มาตรา 111-121 ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

3.มาตรา 190 กำหนดประเภทหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ชัดเจน

4.มาตรา 237 ให้ยกเลิกเรื่องการยุบพรรคและเพิกถอนสิทธิหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค โดยให้เพิกถอนสิทธิเฉพาะตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง

5.มาตรา 265 ให้ ส.ส.ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เช่น เลขานุการรัฐมนตรีได้

6.มาตรา 266 ให้ ส.ส.และ ส.ว.สามารถประสานหน่วยราชการเพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้ประชาชนได้
แต่ปรากฏว่าแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่าควรแก้ไขใน 2 ประเด็นหลักๆก่อน คือ
มาตรา 93-98 เรื่องที่มาของ ส.ส.โดยให้กลับไปใช้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละคน และมาตรา 190 เรื่องการทำหนังสือสัญญา ส่วนประเด็นที่เหลือควรจัดทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนก่อน

แต่สุดท้ายที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์กลับมีมติไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นเรื่องเขตเลือกตั้งแบบเขตละคน เพราะมองว่าเขตเล็กจะทำให้มีการทุจริตเลือกตั้งได้ง่ายทำให้เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องสะดุดไป

อย่างไรก็ตาม ในห้วงเดียวกัน นพ.เหวง โตจิราการ ได้รวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อสภา และ ส.ส.ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทยก็เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญคาไว้ในสภาเช่นกัน แต่ยังไม่มีการเลื่อนระเบียบวาระขึ้นมาพิจารณา

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบจากกรณีวิกฤติม็อบเสื้อแดงขึ้นมาอีกครั้งเมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553
หลังจากเหตุการณ์คลี่คลายลง นายกฯอภิสิทธิ์ได้ประกาศแผนปรองดองแห่งชาติ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการปฏิรูป คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป คณะกรรมการตรวจสอบค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ

รวมทั้งตั้งคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯที่มีนายสมบัติ
ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน เพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกในสังคม สร้างความปรองดองสมานฉันท์

เมื่อคณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญฯได้สรุปแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเห็นว่า ควรแก้ไขรัฐธรรมนูญ 5 ประเด็น จาก 6 ประเด็นที่คณะกรรมการสมานฉันท์ฯเคยเสนอ ยกเว้นประเด็นเรื่องที่จะให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง

งานนี้ นายกฯอภิสิทธิ์ประกาศว่ารัฐบาลจะเป็นเจ้าภาพในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยนำผลสรุปของคณะกรรมการฯทั้ง 5 ประเด็น เข้าสู่การพิจารณาของ ครม.

และที่ประชุม ครม.ก็ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญแค่ 2 ประเด็น คือ มาตรา 93-98 แก้ไขระบบเลือกตั้งไปใช้ระบบแบ่งเขต เขตละคน และมาตรา 190 กำหนดประเภทหนังสือสัญญาที่ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาให้ชัดเจน

ท่ามกลางเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านจากฝ่ายต่างๆทั้งในสภาฯและนอกสภาฯ

ทั้งนี้ ในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ตามกติกาของรัฐธรรมนูญได้กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้ 4 ช่องทาง คือ

1.เสนอโดยรัฐบาลหรือ ครม. 2.ส.ส.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาฯ 3.ส.ส.และส.ว.จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา 4.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

การที่นายกฯอภิสิทธิ์ตัดสินใจให้รัฐบาลเป็นเจ้าภาพในเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ร่าง 2 ประเด็นในครั้งนี้ จึงถือว่าเป็นการตัดสินใจที่กล้าหาญมากเพราะโดยปกติถ้าไม่แน่ใจ รัฐบาลจะไม่เข้าไปอุ้มเผือกร้อน เพราะถ้าพลาดพลั้งร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบ ถ้าไม่ลาออกก็ต้องยุบสภา

เนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ที่สำคัญ การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมักจะมีการแตกประเด็น มีปัญหาหมกเม็ด มีปมการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

เปิดช่องให้มีโรคแทรกซ้อนที่จะทำให้เกิดอุบัติเหตุกับรัฐบาลได้ตลอดเวลา

โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ มีร่องรอยตัวแปรที่เป็นเงื่อนไขอุปสรรคอยู่ทั้งในสภาและนอกสภา

ตัวแปรในสภา ก็ประกอบไปด้วย ฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา

สำหรับฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย ประกาศท่าทีชัดเจนไม่เอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2 ประเด็นในครั้งนี้ เพราะมีเป้าหมายที่จะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 กลับมาใช้ใหม่

ส่วนฝ่ายรัฐบาล ปัญหาอยู่ที่พรรคแกนนำ คือพรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยมีมติไม่เห็นด้วยที่จะกลับไปใช้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละคน

และมาถึงวันนี้ก็ยังไม่ลงตัวว่าจะมีมติสนับสนุนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ของรัฐบาลหรือไม่

สำหรับพรรคร่วมรัฐบาลนั้น ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะเรียกร้องมาตลอดที่จะให้มีการแก้ไขกลับไปใช้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขต เขตละคน เพราะจะช่วยให้พรรคขนาดกลางและพรรคขนาดเล็กสามารถเจาะพื้นที่เบียดแทรกเข้าสภาฯได้ง่ายขึ้น
ในส่วนของสมาชิกวุฒิสภา หรือ ส.ว.นั้น ก็ยังก้ำกึ่ง มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ในภาพรวมแล้วก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะประเด็นที่มีการแก้ไข ไม่ได้กระทบต่อสถานภาพ ส.ว.

ทางด้านตัวแปรนอกสภา ได้แก่ กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมือง ทั้งม็อบเสื้อแดง และม็อบเสื้อเหลือง

สำหรับกลุ่มม็อบเสื้อแดงนั้น ชัดเจนว่าเดินแนวทางเดียวกับฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย เพราะต้นขั้วที่อยู่เบื้องหลังก็คือ “นายใหญ่” คนเดียวกัน

ประกาศขวางการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ประเด็นของรัฐบาลมาตั้งแต่ไก่โห่ เพราะมองว่าเป็นการแก้ไขเพื่อเอาใจพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น

ไม่ใช่การแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง หรือเพื่อความปรองดองแต่อย่างใด

สำหรับกลุ่มม็อบเสื้อเหลือง ก็ไม่เอาด้วย เพราะมองว่าเป็นการแก้เพื่อตอบสนองพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น แถมยังเรียกร้องให้มีการทำประชามติก่อนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตัวแปรที่เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ แต่นายกฯอภิสิทธิ์ ก็ยังไฟเขียวให้รัฐบาลเดินหน้าเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภา

ถึงขั้นประกาศในพรรคประชาธิปัตย์ว่า ถ้ามีปัญหาวุ่นวายตามมาก็พร้อมที่จะยุบสภา

นั่นก็หมายความว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คือเดิมพันสำคัญของรัฐบาลเช่นกัน

เหนืออื่นใด ก่อนที่จะไปถึงจุดที่ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จหรือไม่

สิ่งที่นายกฯอภิสิทธิ์จะต้องเผชิญก่อนเลย ก็คือ ด่านสำคัญในพรรคของตัวเอง

เพราะถ้างานนี้ พรรคประชาธิปัตย์มีมติไม่สอดคล้องกับมติ ครม.ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นั่นก็เท่ากับว่า

“อภิสิทธิ์” หมดสภาพการนำทั้งในพรรคและในรัฐบาล.

ทีมข่าวการเมือง

未经允许不得转载:综合资讯 » ติดไฟแดงปชป. "อภิสิทธิ์" ตกอำนาจ

赞 (0)
分享到:更多 ()