综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

เศรษฐกิจ

ปรับโครงสร้างภาษีล้อมคอกธุรกิจนอกระบบ

เศรษฐกิจ

"มาร์ค" เปิดนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมือง มั่นใจแม้รัฐบาลยุบสภาแต่เศรษฐกิจไทยยังคงเดินหน้าไปได้ เหลืองานหลักแค่ปฏิรูปโครงสร้างภาษี ดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้าคอก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์พิเศษผู้สื่อข่าวสายเศรษฐกิจประจำทำเนียบรัฐบาล โดยกล่าวถึงการวางโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศในช่วงรอยต่อประเทศ ตามที่ได้ประกาศไว้ว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2554 ว่า แม้ในปีหน้าจะมีปัญหาความเสี่ยงทั้งเรื่องสหรัฐฯ จีน สหภาพยุโรป ปัญหาอัตราแลกเปลี่ยน เงินทุนไหลเข้า แต่มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยและเครื่องมือนโยบายของรัฐบาลสามารถรองรับได้ เพราะที่เคยกลัวมาว่าหนี้สาธารณะของประเทศจะสูงมาก ก็ไม่เป็นเช่นนั้น ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น-ลง จนไม่เป็นปัญหาว่าจะสูงขึ้นหรือต่ำลงอีกไม่ได้

เพราะฉะนั้นสภาวการณ์เศรษฐกิจโดยทั่วไปจึงไม่น่ากังวลเกินไป ไม่มีประเด็นใดติดค้างในเชิงนโยบายให้ต้องตัดสินใจ ฉะนั้นเศรษฐกิจจึงไม่ใช่เงื่อนไขที่ไม่เหมาะสมที่จะมีการเลือกตั้ง

ไขลานหน่วยงานรัฐเร่งเบิกจ่าย

สำหรับนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแรก คิดว่าจะใช้เงินกู้โครงการไทยเข้มแข็งต่อเนื่อง 3 ปี ซึ่งต้องกู้ให้เสร็จภายในปีนี้ แต่เงินของโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนของ พ.ร.บ.กู้เงินจะโอนเข้างบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง และนโยบายการคลังก็ยังขาดดุลอยู่ ประกอบกับมีแผนการลงทุนที่วางไว้ ทั้งการฟื้นฟูน้ำท่วมในส่วนของการซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ก็จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

"ตอนนี้ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเงินจำนวนทั้งหมดจะมีเท่าใด อย่างไรก็ตามหากแบ่งจำนวนที่จะจ่ายให้กับครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วมครัวเรือนละ 5,000 บาท ก็เป็นวงเงินกว่า 20,000 ล้านบาท ประกอบกับการให้แต่ละกระทรวงไปปรับงบประมาณประจำปี 2554 ของแต่ละกระทรวงประมาณ 5-10% เพื่อนำมาช่วยฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ซึ่งหากคิดจาก 5% ของงบลงทุนทั้งปีที่ 250,000 ล้านบาท ก็จะได้ประมาณ 12,500 ล้านบาท และยังมีงบเหลื่อมจ่ายของปีงบประมาณ 2552-53 อีก 53,000 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ทำสัญญา ก็จะหมุนนำมาใช้ในโครงการนี้ แต่หากกระทรวงใดไม่ทำแผนปรับเปลี่ยนมาก็จะริบเข้าเงินคงคลังไปเลย

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไม่ได้คิดว่าเงินทั้งก้อนที่จะลงไปฟื้นฟูหลังน้ำท่วมจะเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป แต่หากเทียบกับที่รัฐบาลจ่ายเช็คช่วยชาติให้ผู้มีรายได้น้อยรายละ 2,000 บาท กับเงินที่ช่วยเหลือครัวเรือนที่ถูกน้ำท่วม 5,000 บาท จะช่วยประคับประคองชีวิตที่หยุดชะงักไปได้ ขณะที่ในเชิงการฟื้นฟูที่ต้องเร่งมากขึ้นคือการหาสินเชื่อเพื่อนำมาช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

ล้อมคอกธุรกิจนอกระบบ

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มี 2 เรื่องใหญ่ในการบริหารเศรษฐกิจภายในประเทศที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลในเรื่องของการแก้ปัญหาค่าครองชีพ และการดูแลเศรษฐกิจนอกระบบ ซึ่งได้ให้เวลาในการทำงาน 3 สัปดาห์ โดยเรื่องของปัญหาค่าครองชีพให้ดำเนินการถอดรหัส หรือรื้อโครงสร้างราคาที่ใช้กันอยู่เดิมออกมาทั้งหมด แบ่งออกเป็น 2 หมวด โดยหมวดอาหาร เช่น หมู ไก่ ไข่ ให้นางชุติมา บุญยประ-ภัศร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ขณะที่เรื่องพลังงานได้แก่ น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) ให้นายเมตตา บันเทิงสุข รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

"โจทย์ในการทำงานหลักๆเลย รัฐบาลต้องการเปลี่ยนโครงสร้างราคาสินค้าเหล่านี้ใหม่ เพื่อให้หลุดจากวงจรที่ถูกกำหนดโดยพ่อค้าอย่างไม่มีเหตุผล ขณะที่ก๊าซแอลพีจีให้ไปดูว่าจะสามารถแบ่งแยกตลาดระหว่างที่ใช้กับครัวเรือน รถยนต์ และภาคอุตสาหกรรมได้หรือไม่เพราะยังมีความเชื่อว่าถ้าสามารถแยกตลาดได้ จะสามารถมีก๊าซราคาถูกให้ครัวเรือนและภาคขนส่ง โดยอาจไม่ต้องใช้เงินกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงมาอุดหนุนราคาอีก"

ส่วนเรื่องของเศรษฐกิจนอกระบบได้มอบให้นางสังศิต พิริยรังสรรค์ เป็นหัวหน้าคณะทำงานหาวิธีนำเศรษฐกิจนอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบ และจัดการให้ประชาชนที่ประกอบอาชีพ เช่น พ่อค้าแม่ค้า วินมอเตอร์ไซค์ เข้าสู่ระบบประกันสังคมได้

แบไต๋รื้อโครงสร้างภาษี

นายกรัฐมนตรีเผยด้วยว่า รัฐบาลได้เตรียมของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชนในการเพิ่มสิทธิในการรับการรักษาพยาบาล และทำฟันให้กับผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งกระทรวงแรงงานกำลังเร่งทำเรื่องนี้ให้เสร็จ พร้อมๆกับการเตรียมประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในอัตราเฉลี่ยวันละ 10 บาททั่วประเทศ จึงถือว่าปีหน้าจะเป็นปีที่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด

ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างภาษีของประเทศที่กระทรวงการคลังดำเนินการอยู่นั้น แนวคิดของกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาว่า ระหว่างการลดภาษีโดยภาพรวม เช่น ภาษีบุคคลธรรมดา ภาษีนิติบุคคลลงมา ที่ไปแตะสิทธิพิเศษทางภาษีส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วบริษัทใหญ่ๆเสียภาษีหมด แต่จาก 25-30% ก็ลงมาเหลือ 15% นั้น อย่างใดจะดึงดูดการลงทุนของต่างชาติได้มากกว่า "รัฐบาลไม่ได้เพี้ยนหรอก แต่เป็นเรื่องต้องชั่งใจว่า อะไรดีกว่ากัน"

นอกจากนี้ ในเรื่องของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด รัฐบาลอาจต้องมาพิจารณากันใหม่ในเรื่องที่ประชาชนในพื้นที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะจนถึงขณะนี้ยังไม่ได้คำตอบเสียทีว่าความสามารถรองรับอุตสาหกรรมในพื้นที่ถึงจุดอิ่มตัวหรือยัง หากปล่อยไปเรื่อยก็ไม่เป็นธรรมกับประชาชนในพื้นที่ก็คงต้องหยุด หรือไม่อนุญาตให้กิจการใหญ่ๆ เข้ามาอีก จนกว่าจะพิสูจน์ได้ อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเช่นนี้ไม่เชื่อว่าจะมีปัญหา เพราะจะหมายถึง โครงการที่จะมาดำเนินการในอนาคต ไม่ได้ไปแตะต้องโครงการเก่าที่ตัดสินใจลงทุนไปแล้ว.

未经允许不得转载:综合资讯 » เศรษฐกิจ

赞 (0)
分享到:更多 ()