ภาพเก่าภาพใหม่ ภาพไหนลวงโลก
จุดพลุกระหึ่มขึ้นมาแบบทันทีทันใด
กับการที่นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย และกระบอกเสียงส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า
ช่วงกลางเดือนธันวาคมนี้ พ.ต.ท.ทักษิณจะเดินทางไปสหรัฐอเมริกา ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนชั้นนำของสหรัฐฯ คือ
คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (ซีเอสซีอี)
พร้อมแจกแจงรายละเอียด วุฒิสมาชิกของสหรัฐฯได้ส่งหนังสือเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณไปให้การและพยานหลักฐานในการไต่สวนต่อคณะกรรมาธิการฯที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในวันที่ 16 ธันวาคมนี้
ในประเด็นเกี่ยวกับปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงเหตุการณ์ปราบปรามและ สลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงในเดือนเมษายนและพฤษภาคม ที่ผ่านมา อันเป็นเหตุให้มีประชาชนเสียชีวิตกว่า 90 ศพ และบาดเจ็บ 2,000 คน
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯยังต้องการติดตามปัญหาและเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รวมทั้งปัญหาการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน โดยเฉพาะที่เกิดจากการคงไว้ซึ่ง พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
โดย พ.ต.ท.ทักษิณได้ตอบรับคำเชิญที่จะเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.แล้ว โดยกำลังดำเนินการยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา จากสถานทูตสหรัฐฯประจำประเทศ ที่พำนักอยู่ และใช้พาสปอร์ตของประเทศมอนเตเนโกร
โหมประโคมกระแส ตีปี๊บชิงพื้นที่ข่าวอย่างต่อเนื่อง
ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลไล่ตั้งแต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายอัยการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เรียงหน้าออกมาตอบโต้ ชี้แจงขั้นตอนกระบวนการต่างๆ โดยเฉพาะในเรื่องการดำเนินการตามสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในฐานะที่ พ.ต.ท.ทักษิณหนีโทษอาญา หนีการจองจำ และยังมีข้อหาคดีก่อการร้ายติดตัว
เล็งหามาตรการรับมือกันจ้าละหวั่น
ทั้งนี้ เมื่อโฟกัสไปที่คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงและความร่วมมือในยุโรป (ซีเอสซีอี) ที่ส่วนใหญ่ รู้จักกันในนาม "คณะกรรมาธิการเฮลซิงกิ"
ถือว่าเป็นองค์กรอิสระในสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1976 มีภารกิจติดตามและสนับสนุนให้มีการปฏิบัติตามพันธสัญญาเฮลซิงกิ และภาระผูกพันอื่นๆ
คณะกรรมาธิการฯ ประกอบด้วย วุฒิสมาชิกสหรัฐฯ 9 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ 9 คน และอีก 3 คน มาจากผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม และกระทรวงพาณิชย์
โดยตำแหน่งประธานและรองประธานคณะกรรมาธิการฯจะเป็นของทางวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร สลับกัน มีวาระดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการซีเอสซีอีจะมีบทบาทในการรณรงค์ และตรวจสอบปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน ในกลุ่มประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกภายใต้สนธิสัญญาเฮลซิงกิจำนวน 56 ประเทศ รวมทั้งการติดตามข้อพิพาท เรื่องของความมั่นคง ประชาธิปไตย เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และเรื่องการทหาร
ชัดเจนว่า แม้คณะกรรมาธิการซีเอสซีอีชุดนี้จะมีสถานะ เป็นองค์กรอิสระของประเทศสหรัฐอเมริกา แต่ก็อยู่ภายใต้การ บริหารของฝ่ายนิติบัญญัติ ไม่ใช่องค์กรของฝ่ายบริหาร
ที่สำคัญ โดยปกติบุคคลที่จะได้รับเชิญให้ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละเรื่องที่มีการศึกษาติดตาม
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายแล้วทางการสหรัฐอเมริกา จะอนุมัติออกวีซ่าให้ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าประเทศ หรือไม่ และหากมีการอนุมัติวีซ่า พ.ต.ท. ทักษิณจะเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯหรือเปล่า
เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป แบบวันต่อวัน เนื่องจากสถานการณ์ ยังไม่มีความแน่นอน
เพราะแม้แต่นายนพดลที่เป็นผู้เปิดประเด็นเรื่องนี้ ก็เริ่มออกมาพูดเสียงแปร่งๆว่า
ขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังรอวีซ่าอยู่ หากได้วีซ่าก็จะประเมินสถานการณ์ อีกครั้งว่าจะเดินทางไปหรือไม่ หากสุดท้ายแล้ววีซ่าไม่ผ่าน ก็มีแผนไว้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นการส่งตัวแทนไปชี้แจง หรือส่งเอกสาร รวมทั้งการวีดิโอลิงก์
พูดง่ายๆว่า ขนาดคนที่ออกมาจุดพลุจุดประเด็นโหมข่าวเรื่องนี้ ก็ยังไม่ชัวร์ในสถานการณ์เหมือนกัน
ในขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเองก็ยังไม่เคยพูดอะไรในเรื่องนี้ แม้แต่คำเดียว มีแต่ข่าวที่ออกจากปากนายนพดลเท่านั้น
"ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ" ได้ติดตามสถานการณ์การกระพือข่าว "ทักษิณ" จะเดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ในครั้งนี้แล้ว
ก็ทำให้เกิดข้อสังเกตขึ้นมาว่า การที่คณะกรรมาธิการซีเอสซีอีมีหนังสือเชิญ พ.ต.ท.ทักษิณไปชี้แจงเรื่องปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย
ความจริงแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ได้ถือว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน
โดยเฉพาะกรณีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงในห้วงเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมานั้น
ขณะเกิดเหตุ พ.ต.ท.ทักษิณก็ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกับเหตุการณ์
จะมีส่วนเกี่ยวข้องก็คือในช่วงที่มีการโหมปลุกระดม มวลชนคนเสื้อแดงให้เข้ามาชุมนุมใหญ่ในกรุงเทพฯ ผ่านทางวีดิโอลิงก์ และการโฟนอิน มาจากต่างประเทศ
รวมไปถึงการจัดการเรื่องท่อน้ำเลี้ยงแกนนำม็อบแดง ผ่านระบบเครือข่ายที่เป็นหัวจ่ายในประเทศไทย
แต่ "ทักษิณ" ก็ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่ทหารเปิดปฏิบัติการเข้าปิดล้อมกระชับพื้นที่บริเวณแยกคอกวัว และแยกราชประสงค์ แต่อย่างใดทั้งสิ้น
เมื่อไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ แต่กลับมีหนังสือเชิญจากคณะกรรมาธิการซีเอสซีอีของสหรัฐอเมริกา ให้ไปให้ปากคำเกี่ยวกับเหตุการณ์การสลายการชุมนุม
จึงมองได้ว่า ปรากฏการณ์ตรงนี้ ต้องมีความเชื่อมโยงกับการที่ พ.ต.ท.ทักษิณว่าจ้างบริษัทกฎหมายและล็อบบี้ยิสต์ของนายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ให้เคลื่อนไหวในเวทีโลก
ภายใต้ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย ที่เดินงานมา ตั้งแต่ต้น
และในกรณีนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องยากสำหรับบริษัทล็อบบี้ ยิสต์ที่จะดำเนินการให้ได้มาซึ่งหนังสือเชิญของคณะกรรมาธิการซีเอสซีอี
เพราะคณะกรรมาธิการชุดนี้ประกอบด้วย วุฒิสมาชิก และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายละ 9 คน ผู้บริหารกระทรวงสำคัญๆ 3 คน
แค่เรื่องการออกหนังสือเชิญให้ "ทักษิณ" ฉบับหนึ่ง เพื่อไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ 10 นาที ย่อม ไม่ใช่เรื่องเกินกำลังสำหรับนักล็อบบี้ระดับโลก
สำเร็จเรียบร้อยตามประสงค์
จนทำให้นายนพดลสามารถนำมาขยายผล จุดพลุโหมกระพือข่าวไปทั่วบ้านทั่วเมือง
สุดท้ายแล้ว "ทักษิณ" จะได้เดินทางไปกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. อย่างที่มีการตีปี๊บกันหรือไม่ ยังไม่รู้
แต่สิ่งที่เขาได้แน่ๆไปแล้ว ก็คือ ภาพของการได้รับ "การยอมรับ" ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา
ทั้งที่ในความเป็นจริงในห้วงที่ผ่านมา การต่อสู้ของ "ทักษิณ" ในเวทีโลก ภายใต้ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศไทย
ตกอยู่ในสภาพฝ่อลงไป ไม่ได้รับการยอมรับจากเวทีโลก
โดยเฉพาะเมื่อครั้งที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม และนายนพดล ปัทมะ พยายามเดินเกมล็อบบี้ให้สภาผู้แทน ราษฎรสหรัฐอเมริกา
ประณามรัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
ในข้อหาใช้ความรุนแรงปราบปรามม็อบเสื้อแดง เมื่อเดือนเมษายน-พฤษภาคม
แต่ปรากฏว่า สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา กลับมีมติ 400 กว่าเสียง ต่อ 4 เสียง ให้การสนับสนุนแผนปรองดอง แห่งชาติของนายกฯอภิสิทธิ์
ผิดแผน ผิดเป้า เสียรังวัดไปตามๆกัน
มาคราวนี้ เมื่อสามารถเปิดเกม ใหม่ หยิบหนังสือเชิญของคณะกรรมาธิการซีเอสซีอีมาตีปี๊บแถลงโชว์ได้
ก็เหมือนกับเป็นการสร้างภาพใหม่ ให้เกิดขึ้น
เป็นการโชว์ว่า อดีตนายกฯทักษิณ เป็นบุคคลที่มีศักดิ์ศรี ขนาดคณะกรรมาธิการซีเอสซีอี ของสหรัฐอเมริกา ก็ยังให้ความสำคัญ ให้การยอมรับ
ถึงขั้นต้องออกหนังสือเชิญไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการฯถึงกรุงวอชิงตัน ดี.ซี.
แสดงภาพให้เห็นว่า "ทักษิณ" ยังได้การยอมรับในเวที โลก ยังสามารถใช้เวทีโลกเดินยุทธศาสตร์ล้อมประเทศไทยได้
โยงไปถึงกระบวนการที่นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม เดิน เรื่องฟ้องร้องศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือศาลโลก ให้เอา ผิดกับนายกฯอภิสิทธิ์และรัฐบาลไทย กรณีสั่งปราบปรามม็อบ เสื้อแดงเมื่อเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
จุดกระแส "ทักษิณ" ที่เงียบไปให้กระพือขึ้นมาอีกครั้ง
ปลุกขวัญให้เครือข่ายมวลชนคนเสื้อแดงเกิดความฮึกเหิม
ปลุกกระแส "ทักษิณ" ไม่ให้จาง หวังผลลากยาวไปถึงการเลือกตั้งใหญ่
สรุปแล้ว ทีมของเราขอชี้ว่า เกมนี้เป็นแค่การสร้างกระแส สร้างภาพใหม่ โดยที่ "ทักษิณ" ไม่ได้คิดที่จะไป "วอชิงตัน" จริงๆอยู่แล้ว
และหากจะพูดถึงการไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ เรื่องที่ "ทักษิณ" น่าจะรู้เรื่องดีที่สุด คือกรณีการล้อมปราบ ที่มัสยิดกรือเซะ กรณีสลายม็อบตากใบ และการฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ ในช่วงทำสงครามปราบปรามยาเสพติด เพราะเขาเป็นผู้นำรัฐบาลอยู่ในขณะนั้น
รวมทั้งกรณีการโฟนอินปลุกระดมม็อบเสื้อแดงให้ บุกล้มการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่พัทยา และเหตุ จลาจลกลางกรุงเทพฯช่วงสงกรานต์ปี 2552
ภาพเก่าๆเหล่านี้ คนไทยทั่วประเทศ และคนทั่วโลกยังจำกันได้ไม่ลืม
ที่สำคัญ ใครอยู่เบื้องหลังสั่งการ ยังไม่มีคำตอบชัดเจนในเวทีโลก.
"ทีมการเมือง"
未经允许不得转载:综合资讯 » ภาพเก่าภาพใหม่ ภาพไหนลวงโลก