‘จิ๋วแรนเจอร์’ ปฏิบัติการพิทักษ์ผู้นำประเทศ
"เด็กเอ๋ย เด็กดี ต้องมีหน้าที่ 10 อย่างด้วยกัน…" วันเด็กปีนี้เห็นทีเด็กๆ จะมีหน้าที่ความรับผิดชอบเพิ่มขึ้นอีก 1 อย่าง จาก 10 อย่างที่เคยปฏิบัติคงไม่เพียงพอ เพราะภารกิจใหญ่อีก1 อย่างที่ต้องรับผิดชอบในวันเด็กแห่งชาติประจำปีกระต่ายปีนี้ คือ ภารกิจอารักขานายกรัฐมนตรี…
สร้างความฮือฮาไม่น้อยทีเดียว กับกระแสข่าว "จิ๋วแรนเจอร์" เด็กผู้ทำหน้าที่อารักขาความปลอดภัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของไทย หลังเปิดตัวเป็นข่าวไปเมื่อต้นสัปดาห์
ล่าสุด "ไทยรัฐออนไลน์" ได้ลงพื้นที่โครงการบ้านเอื้ออาทรรามอินทรา ที่ตั้งอยู่ในซอยคู้บอน 27 เขตบางเขน เพื่อหาข้อมูลจากนายณรงค์ ไวทยะชัยวัฒน์ ซึ่งเป็นประธานตำรวจชุมชนบ้านเอื้ออาทรรามอินทรา เล่าให้ฟังถึงที่มาที่ไปของจิ๋วแรนเจอร์ว่า โครงการดังกล่าวเริ่มมาจากการที่ชุมชนบ้านเอื้ออาทรมีขนาดใหญ่ มีชาวบ้านอาศัยอยู่ 3,700 กว่าครอบครัว ดังนั้น การหวังพึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีอยู่จำนวนน้อยคงเป็นไปไม่ได้ เราจึงตั้งโครงการตำรวจชุมชนขึ้นมาในเดือนพฤศจิกายน ปี 2552 เพื่อดูแลบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนเป็นการเบื้องต้น
"ในชุมชนมีเด็กอาศัยอยู่จำนวนมาก และเด็กตั้งแต่อายุ 14 ปีขึ้นไป เริ่มรวมตัวเป็นกลุ่มทำในสิ่งที่ไม่ค่อยเหมาะสม เช่นเล่นเกม ขี่มอเตอร์ไซด์เล่น จึงคิดว่า ตำรวจชุมชนน่าจะดึงเด็กที่เป็นอนาคตของชาติ ซึ่งมีอายุระหว่าง 8-13 ปี ออกมาเป็นตำรวจจิ๋ว เพื่อจะสร้างกำลังใจในปฏิบัติหน้าที่ โดยทำหน้าที่เป็นหูเป็นตา สอดส่องสิ่งผิดปกติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ก่อนที่จะมารายงานให้ตำรวจชุมชนทราบ ซึ่งทั้งหมดหวังว่าจะทำให้ชุมชนบ้านเอื้ออาทรน่าอยู่ยิ่งขึ้น และจนถึงปัจจุบันตำรวจจิ๋วก็สามารถป้องกันเหตุร้ายได้หลายครั้ง นี่คือจุดที่ประสบความสำเร็จ จนในที่สุดกลายมาเป็นโครงการจิ๋วเรนเจอร์ เยาวชนพิทักษ์ชาติ" นายณรงค์ กล่าว
ประธานตำรวจชุมชน กล่าวอีกว่า โครงการจิ๋วแรนเจอร์ มีเด็กเป็นสมาชิกประมาณ 50 คน คัดเลือกมาจากบุตรหลานในโครงการเอื้ออาทร ซึ่งมีภารกิจสำคัญ คือ การดูแลความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกตามจุดต่างๆ ให้แก่เด็กๆ ที่เข้าไปเที่ยวในทำเนียบรัฐบาล แต่จะเพียงมี 6 คนเท่านั้นที่จะทำหน้าที่อารักขานายกรัฐมนตรี
ด.ช.ธรรมสรณ์ สวนพุฒ นักเรียนชั้นปีที่ 6 ของโรงเรียนวัดคู้บอน หนึ่งในทีมอารักขานายกฯ เล่าให้ "ไทยรัฐออนไลน์" ฟังว่า ก่อนที่จะมาเป็นจิ๋วเรนเจอร์นั้น ผมมาสมัครเป็นตำรวจจิ๋วก่อน ซึ่งตำรวจจิ๋วจะทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลความสงบเรียบร้อยในเขตพื้นที่บ้านเอื้ออาทร โดยตำรวจชุมชนจะแบ่งเขตให้รับผิดชอบ ซึ่งตำรวจจิ๋วทั้ง 50 คน จะแบ่งกันดูแลและเฝ้าระวังเหตุด่วนเหตุร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในโครงการบ้านเอื้ออาทรทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาเคยเป็นคนแจ้งเหตุไฟไหม้ การโจรกรรม เช่น คนร้ายงัดห้องด้วย"
ด้าน ด.ช.เด่นพงษ์ เจริญตา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเศรษฐบุตรบำเพ็ญ กล่าวเสริมว่า พวกเราฝึกมาได้ 3 เดือนแล้ว ตั้งแต่เดือนตุลาคม เริ่มแรกฝึกเป็นตำรวจจิ๋วก่อน โดยมีตำรวจมาฝึกพวกเรา ให้รู้จักจัดแถว หัดหันซ้าย หันขวา และแสดงความเคารพ ทั้งนี้หากใครไม่สามารถผ่านการฝึกได้ ก็จะถูกคัดออกจากโครงการนี้
ด.ญ.ลลิตา คงมั่น เด็กนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนวัดคู้บอน บอกว่า หากใครไม่พร้อมที่รับการฝึก ไม่เข้าร่วมการฝึก และไม่มีมีระเบียบวินัย จะไม่สามารถเป็นตำรวจจิ๋ว หรือจิ๋วเรนเจอร์ ได้เด็ดขาด ทั้งนี้ตลอด 3 เดือนที่ผ่านมา พวกเราก็ต้องฝึกระเบียบมาโดยตลอด
ขณะที่หัวหน้าชุดอารักขานายกฯ ด.ช.สายฟ้า วงศ์เกลี้ยง ซึ่งเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ กล่าวถึงภารกิจที่ได้รับมอบหมายว่า ตนจะไปดูแลนายกฯ และเด็กๆ ที่มาเยี่ยมชมทำเนียบรัฐบาลให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย ซึ่งตนตั้งใจที่จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
ส่วน ด.ญ.ชลดา คงมั่น ที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนวัดคู้บอน ถ่ายทอดความรู้สึกให้ฟังว่า รู้สึกดีใจและภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก ที่จะได้ไปอยู่ใกล้ๆ กับนายกฯ เช่นเดียวกับเพื่อนๆ อีก 5 คน ขณะที่ ด.ญ.ปิยธิดา วาณิชพงษ์ ซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนวัดคู้บอน บอกว่าเหมือนหนูเลย "หนูรู้สึกตื่นเต้นยังไงไม่รู้ บอกไม่ถูก ที่จะต้องไปอารักขานายกฯ แต่หนูก็จะทำเต็มที่ค่ะ"
ด้านนายวิทเยนทร์ มุตตามระ เลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ริเริ่มโครงการกล่าวถึงอนาคตของโครงการจิ๋วแรนเจอร์ ว่า โครงการดีๆ ที่เกิดขึ้นคงจะไม่หยุดแต่ปีนี้ ขั้นตอนถัดไปคงจะมีการปลูกฝังเด็กที่จะมาเป็นจิ๋วเรนเจอร์รุ่นต่อไป โดยมีจิ๋วเรนเจอร์ในปีนี้เป็นรุ่นที่ 1 และเป็นรุ่นพี่ ซึ่งเป็นเสมือนต้นแบบในการปฏิบัติภารกิจอารักขานายกฯ ที่ทำหน้าที่สอนรุ่นน้องต่อไป โดยอนาคตจะเปิดกว้างให้เด็กในส่วนอื่นๆ เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นด้วย.
未经允许不得转载:综合资讯 » วันเสาร์ที่ 8 มกราคม พ.ศ.2554