综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

เปิดประเด็นซักฟอกรัฐบาล ฝ่ายค้านงัดหลักฐานถอดถอน 5 ทีมเศรษฐกิจ

เปิดประเด็นซักฟอกรัฐบาล ฝ่ายค้านงัดหลักฐานถอดถอน 5 ทีมเศรษฐกิจ

ก่อนถึงกำหนดวันนัดดวลกันระหว่างพลพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งนำโดยนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ หัวหน้าทีมอภิปรายจากพรรคเพื่อไทย ในฐานะโจทก์ผู้ยื่นญัตติอภิปรายทั่วไป เพื่อลงมติไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล รวม 10 คน

กับรัฐบาลผู้ตกเป็นจำเลย ซึ่งนำโดย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีอื่นอีก 9 คน ประกอบด้วย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.กระทรวงการคลัง นางพรทิวา นาคาศัย รมว.กระทรวงพาณิชย์

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.กระทรวงมหาดไทย นายโสภณ ซารัมย์ รมว.กระทรวงคมนาคม นายศุภชัย โพธิ์สุ รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ นายกษิต ภิรมย์ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ

ทีมเศรษฐกิจ ขอนำเสนอประเด็นอันเป็นเหตุผลสำคัญของการยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกระทรวงเศรษฐกิจ ดังนี้

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
นายกรัฐมนตรี

ญัตตินี้ระบุว่า นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล บริหารราชการแผ่นดินล้มเหลว ไร้ประ-สิทธิภาพ ยินยอม หรือรู้เห็นเป็นใจให้รัฐมนตรีในรัฐบาล และคนแวดล้อมกระทำการทุจริตคอรัปชัน แสวงหาประโยชน์จากงบประมาณแผ่นดินอย่างกว้างขวาง ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม และขาดซึ่งหลักธรรมาภิบาล ทั้งยังดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจล้มเหลว ขาดวินัยการเงินการคลัง ละเว้นและปล่อยปละละเลย ไม่ปฏิบัติ และบังคับใช้กฎหมายให้เป็นไปอย่างถูกต้องรวดเร็ว เป็นธรรม และทั่วถึง ในทางตรงกันข้ามกลับบังคับใช้กฎหมายโดยขาดความเสมอภาค เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน เป็นต้น

พฤติกรรมการบริหารราชการแผ่นดินของนายอภิสิทธิ์ดังกล่าว พอสรุปได้โดยสังเขปเพื่อประกอบญัตติดังนี้ 1. ดำรงสถานะความเป็นนายกฯโดยไร้วุฒิภาวะความเป็นผู้นำ พูดจาไม่มีสัจจะ ให้คนใกล้ชิดใช้สื่อรัฐเป็นเครื่องมือทำลายฝ่ายตรงข้าม ส่งผลให้ความขัดแย้งในสังคมที่มีอยู่แล้วขยายวงกว้างออกไป โดยที่นายกฯไม่อยู่ในภาวะที่จะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดแก่ สังคมได้

2. ใช้อำนาจละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิและเสรีภาพประชาชนอย่างร้ายแรง ด้วยการสั่งให้ทหารพร้อมอาวุธสงครามเข่นฆ่าประชาชนจนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก บิดเบือนการใช้อำนาจ โดยมิให้มีการชันสูตรพลิกศพตามกฎหมาย ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นไปโดยถูกต้องเป็นธรรม และเสมอภาค เลือกปฏิบัติเป็นสองมาตรฐาน ส่งผลให้เกิดวิกฤติศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมอย่างรุนแรง

3. ทำลายระบบราชการด้วยการแทรกแซงแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการโดยมิได้คำนึงถึงระบบคุณธรรม และความรู้ความสามารถ ปล่อยให้นักการเมืองแสวงหาประโยชน์จากการซื้อขายตำแหน่งของข้าราชการ ทำให้ข้าราชการที่ดี แต่ไม่มีเงินหมดโอกาสเจริญเติบโตในชีวิตราชการ

4. ไม่ควบคุมให้มีการรักษาวินัยการเงินการคลังเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดำเนินนโยบายบริหารประเทศด้วยการก่อหนี้จำนวนมหาศาลโดยไม่ฟังเสียงทักท้วง ส่งผลให้เกิดภาระหนี้สาธารณะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระหนี้จำนวนมาก ซ้ำร้ายยังใช้เงินกู้ในโครงการต่างๆอย่างสุรุ่ยสุร่าย โดยขาดความสามารถในการจัดหารายได้ 5. ไร้ประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน ดำเนินนโยบายแปลกประหลาดเพื่อหวังแทรกแซงกลไกตลาด ปล่อยให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นสูงขึ้น และขาดแคลนจนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วประเทศ

6. ดำเนินนโยบายต่างประเทศผิดพลาดล้มเหลว แทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มิตรกลายเป็นศัตรู  กระทบความสัมพันธ์  และการค้าระหว่างประเทศอย่างรุนแรง  นำมาซึ่ง ความไม่ไว้วางใจของมิตรประเทศ สนับสนุนให้ รมว.ต่างประเทศดำเนินนโยบายในลักษณะก้าวร้าวรุนแรง บ่มเพาะศัตรู และชักศึกเข้าบ้านอยู่ตลอดเวลา 7. ล้มเหลวในการแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถปกป้องคุ้มครองชีวิตประชาชน และเจ้าหน้าที่ ที่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งที่ทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาล แต่กลับเกิดเหตุรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดมา

"เฉลิม" ฟันภาษีบุหรี่ฟิลลิป มอร์ริส

นอกจากประเด็น 7 ข้อดังกล่าว นายกรัฐมนตรียังมีประเด็นเกี่ยวพันกับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด ซึ่งมีบุคคลใกล้ตัวนายกฯ นายเกียรติ สิทธีอมร ประธานผู้แทนการค้าไทย ที่พรรคฝ่ายค้านระบุว่าเข้าไปร่วมในกรณีนี้ด้วย

ปัญหาการเสียภาษีของบริษัทฟิลลิป มอร์ริส เกิดขึ้น ช่วงปี 2546-2552 กับการยื่นสำแดงราคาบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร 7.76 บาทต่อซอง ยี่ห้อแอลแอนด์เอ็ม 5.88 บาทต่อซอง แต่เมื่อบริษัทคิงเพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด นำเข้ามาวางขายในดิวตี้ฟรี ยื่นสำแดงราคาบุหรี่มาร์ลโบโร 27.46 บาทต่อซอง และแอลแอนด์เอ็ม 16.81 บาทต่อซอง จึงไม่พ้นข้อกล่าวหาที่ว่าบริษัทฟิลลิป มอร์ริส สำแดงราคานำเข้าที่ทำให้ค่าภาษีอากรต่างๆ ต่ำกว่าความเป็นจริง

คดีดังกล่าว กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้รับเป็นคดีพิเศษ เลขที่ 79/2549 โดยแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน 2 ครั้ง คือวันที่ 7 ส.ค. 2549 และ 15 ส.ค. 2549 โดยคำสั่งแต่งตั้งครั้งที่ 2 ระบุว่า จากการตรวจสอบพบพฤติการณ์น่าเชื่อถือว่ามีการสำแดงเอกสารการนำเข้าอันเป็นเท็จ จึงถือว่ามีความผิดทางอาญา มีลักษณะเป็นการกระทำความผิดข้ามชาติ

การสืบสวนสอบสวนของดีเอสไอดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2552 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม ได้ทำหนังสือถึงนายกฯ เรื่อง "ข้อเสนอแนะการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตของสินค้าสุราและยาสูบจากต่างประเทศ" เพื่อชี้ให้เห็นว่า มีการวางแผนเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีทำให้รัฐสูญเสียรายได้แต่ละปีจำนวนมหาศาล

ในวันที่ 2 ก.ย. 2552 พนักงานสอบสวนของดีเอสไอ และพนักงานอัยการ มีความเห็นสั่งฟ้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริส โดยนายจรณชัย ศัลยพงษ์ กับพวกรวม 14 คน โดยกล่าวหาว่า สำแดงราคานำเข้าเป็นเท็จทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึง 68,800 ล้านบาทเศษ และส่งคดีไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินคดีต่อไป

ต่อมาเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2552 นายภราดา เณรบำรุง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า สำนักงานผู้แทนการค้าไทย ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมหารือกรณีการสำแดงราคานำเข้าสินค้าบุหรี่อันเป็นเท็จ เมื่อวันที่ 27 ต.ค.2552 ที่ประชุมเห็นควรให้เพิ่มผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดร่วมหารือ เพื่อแก้ไขปัญหาในลักษณะบูรณาการ จึงขอเชิญเข้าร่วมประชุมกับประธานผู้แทนการค้าไทย ในวันที่ 30 ต.ค.2552

จากนั้นในวันที่ 6 ก.ย.2553 นายพงศ์ศักดิฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ มีหนังสือถึงอธิบดีกรมศุลกากร เรื่อง ข้อพิพาทกรณีการนำเข้าบุหรี่จากฟิลิปปินส์ภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ระบุว่า เรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ และความสัมพันธ์กับฟิลิปปินส์ นายกฯมีบัญชามอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมศุลกากร กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต สำนักงานอัยการสูงสุด กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานผู้แทนการค้าไทย ทบทวนความถูกต้องของทุกประเด็นโดยละเอียดถี่ถ้วน ประเมินผลกระทบต่อไทย พร้อมเสนอแนวทางดำเนินการ และสรุปให้ประธานผู้แทนการค้าไทยทราบ

ต่อมาเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2554 นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 4 ทำหนังสือถึงอธิบดีดีเอสไอ เรื่องการสั่งไม่ฟ้องบริษัทฟิลลิป มอร์ริสและผู้บริหารรวม 14 คน เนื่องจากพิจารณาข้อกล่าวหาและพยานหลักฐานแล้ว ยังฟังไม่ได้ว่าพวกผู้ถูกกล่าวหาสำแดงเท็จ

เนื่องจากเรื่องนี้มีการเรียกร้องความเสียหายสูงถึงกว่า 68,000 ล้านบาท คงจะหนีไม่พ้นข้อครหาการทุจริต และมีความพยายามที่จะล็อบบี้ไม่ให้มีการฟ้องมาทุกยุคทุกสมัย ฝ่ายค้านจะชี้ประเด็นให้เห็นถึงความผิดปกติ โดยจะยืนยันว่าจะมีใบเสร็จชัดเจน

ผู้อภิปรายเป็นใครไปไม่ได้นอกจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธาน ส.ส. พรรคเพื่อไทย

กรณ์ จาติกวณิช
รมว.กระทรวงการคลัง

กรณีใช้ข้อมูลภายในเพื่อการปั่นหุ้น เป็นเรื่องที่ผู้ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ส่วนใหญ่เชื่อ และไม่พอใจอย่างมาก เพราะเอาเปรียบผู้ลงทุนรายอื่นที่ไม่ได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่จับได้ยาก

หากใครได้ศึกษาพฤติกรรมของกลุ่มเอกธนกิจในสมัยก่อนแล้วจะเข้าใจเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี โดยจะมีการเก็บหุ้นในราคาถูกเพื่อรอรับข่าวดีและเมื่อมีข่าวดีก็จะขายทำกำไร

เรื่องเหล่านี้เป็นการทำกำไรได้มหาศาลและจะต้องถือว่าเป็นการทุจริตอย่างหนึ่ง ในสองปีที่ผ่านมา มีข่าวคราวการใช้ข้อมูลภายในเกิดขึ้นในการเปลี่ยนโครงสร้างของธนาคารหลายแห่ง เช่น ธนาคารสินเอเซีย ธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารธนชาต ซึ่งจะต้องรายงานกระทรวงการคลังทราบตั้งแต่มีผู้ลงทุนที่ประสงค์จะเข้าถือหุ้นในธนาคารนั้นๆ

เมื่อทราบข้อมูลล่วงหน้าก็จะมีการซื้อหุ้นเหล่านี้ไว้ ต่อมาเมื่อมีการตกลงซื้อขายและเข้าถือหุ้นของผู้ลงทุนรายใหญ่สำเร็จ หุ้นก็จะขึ้นไปเป็นจำนวนมากและทำกำไรได้อย่างงาม

อย่างไรก็ตาม การจะจับว่ามีการใช้ข้อมูลภายในนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการใช้นอมินีในการซื้อ แต่ถ้าหากปรากฏว่ามีกลุ่มคนที่น่าเชื่อว่าเป็นนอมินีกลุ่มเดียวกันเข้าซื้อหุ้นที่มีการใช้ข้อมูลภายในทุกตัวและได้กำไรทุกตัวเป็นจำนวนมหาศาล ก็น่าจะเชื่อได้ว่า มีการนำข้อมูลภายในมาใช้อย่างแน่นอน ซึ่งจากข้อมูลในเบื้องลึกพบว่าได้มีกลุ่มคนกลุ่มนี้อยู่จริง

ดังนั้น ต้องเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตรวจสอบเส้นทางการเงินของคนกลุ่มนี้ว่าไปโยงกับนักการเมืองคนใด

แต่ที่เป็นการกระทำผิดอย่างชัดเจน เป็นเรื่องดาวเทียมไทยคม การที่นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลังออกมาบอกว่า จะซื้อดาวเทียมไทยคม โดยที่ยังไม่ได้มีการติดต่อ บมจ.ไทยคม โดยตรง หรือ บมจ.ชินคอร์ป ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงราคาหุ้นอย่างมาก ทำให้มีผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์นั้น น่าจะเป็นการทำผิดกฎหมาย ก.ล.ต.

อีกทั้งดาวเทียมไทยคมก็เป็นของประเทศไทยอยู่แล้ว จากสัญญาที่ต้องโอนและได้โอนให้รัฐบาลตั้งแต่ยิงขึ้นไปในอวกาศและใช้การได้แล้วนั้น การที่นายกฯ และ รมว.คลัง ออกมาให้ข้อมูลที่ผิดที่มีผลกระทบอย่างนี้ น่าจะเป็นความผิด โดยเฉพาะ รมว.คลัง ที่เคยเป็นโบรกเกอร์มาก่อนน่าจะรู้กฎนี้ดี

และเมื่อเร็วๆนี้  การที่  รมว.คลัง  ออกมาชี้นำตลาดว่าดัชนีจะถึง 1,700 จุดนั้น  ก็เป็นเรื่อง ไม่ถูกต้อง ก.ล.ต.ควรออกมาชี้แจงให้ชัดเจน จะได้เป็นบรรทัดฐานในอนาคตว่านายกฯและ รมว.คลัง สามารถพูดอะไรก็ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ก.ล.ต.ใช่หรือไม่

ทั้งนี้ ยังไม่ต้องพูดถึงพฤติกรรมในการเก็บสะสมหุ้นไทยคมในเดือนมีนาคมเป็นจำนวนมาก ก่อนที่ รมว.คลัง จะไปพบกับบริษัทเทมาเสกในเดือนเมษายน และมีการให้ข่าวในเดือนมิถุนายน ที่ทำให้หุ้นพุ่งจนไปติดเพดานที่เกือบ 30% ในวันเดียว

ถ้าหากมีการเทียบรายชื่อผู้ซื้อหุ้นไทยคมในเดือนมีนาคม  ก็จะเชื่อได้ว่าจะต้องตรงกับผู้ที่ได้กำไรในหุ้นธนาคารต่างๆ ที่มีการเปลี่ยนโครงสร้างตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ผู้ที่อภิปรายเรื่องนี้ คือ ส.ส.จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์


โสภณ ซารัมย์
รมว.กระทรวงคมนาคม

มีประเด็นถูกอภิปราย การบริหารราชการทุจริตในการดำเนินการในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มีการประมูลและได้ปรับวงเงินค่าก่อสร้างโดยรวมเพิ่มขึ้นจาก 48,000 ล้านบาท เป็น 52,000 ล้านบาท โดยมีกลุ่มบริษัท ช.การช่าง เป็นผู้ผ่านการคัดเลือกเข้ามาดำเนินการก่อสร้าง ซึ่งได้มีการเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาไปเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา

กรณีนี้มีมติ ครม.ที่ออกมาไม่ชอบ ฝ่ายค้านจะชี้ให้เห็นไม่ถูกต้องอย่างไร มีการเอื้อพวกพ้องอย่างไร

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าชานเมือง สายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน และช่วงบางซื่อ-รังสิต กรณีที่ศาลปกครองกลางพิพากษาเพิกถอนคำสั่งจ้างกลุ่มยูนิค-ซุนวู จอยท์เวนเจอร์ ให้ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน โดยระบุว่า การที่ บอร์ด รฟท. อนุมัติเห็นชอบให้กลุ่มยูนิค เข้ามาก่อสร้าง เป็นคำสั่งที่มิชอบ เนื่องจากเมื่อมีการเปิดประกวดราคา รฟท.ได้ตัดสิทธิ์กลุ่มบริษัทกิจการร่วมค้า เอสทีซีซี จอยท์เวนเจอร์ ซึ่งเป็นบริษัทเข้าร่วมประมูลก่อสร้าง ทำให้เหลือผู้เสนอราคาเพียง 1 ราย คือกลุ่มยูนิค ดังนั้น รฟท.ต้องยกเลิกการประกวดราคา แต่ รฟท.กลับอนุมัติให้กลุ่มยูนิค ดำเนินการก่อสร้าง

ซึ่งเรื่องนี้พรรคฝ่ายค้านได้เตรียมข้อมูลล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนที่ศาลปกครองจะมีคำพิพากษาออกมา  โดยข้อมูลที่จะอภิปรายมีแนวทาง  วิธีการที่ไม่ชอบอย่างไรที่เป็นต้นเหตุของการประมูลครั้งนี้

นอกจากนี้ มีกรณีหัวรถจักร ที่มีการเปิดประมูลไม่ชอบเอื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง

หัวข้อนี้มี นายพงษ์พันธุ์ สุนทรชัย และนายสงวน พงษ์มณี เป็นผู้อภิปราย

จุติ ไกรฤกษ์
รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

มีพฤติการณ์ส่อว่าทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ และจงใจฝ่าฝืนกฎหมาย จากกรณีที่ดำเนินการให้มีการลงนามในสัญญาร่วมดำเนินธุรกิจโทรศัพท์มือถือ 3 จี รูปแบบใหม่ ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

รวมทั้งการเตรียมจะลงนามในสัญญาระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับกิจการร่วมค้าเอสแอล คอนซอร์เตียม อันประกอบด้วย บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ล็อกซ์เล่ย์ จำกัด (มหาชน) บริษัท หัวเว่ย จำกัด บริษัท โนเกีย ซีเมนส์ จำกัด

ในประเด็นสัญญาระหว่าง กสท และทรูนั้น เป็นสัญญาที่ 2 บริษัทร่วมลงทุนกัน โดยต้องมีค่าใช้จ่ายในการสร้างเสาโทรคมนาคมและสื่อสัญญาณ ตลอดอายุ 14 ปี เป็นเงิน 8,000 ล้านบาท จึงเข้าข่ายเป็นสัญญาร่วมทุนที่ต้องอยู่ในบังคับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 และการจัดซื้อต้องใช้วิธีประมูลเท่านั้น

แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า กสท และทรูลงนามกันโดยไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมาย จึงถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานรัฐ พ.ศ.2542 และยังฝ่าฝืนระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2550 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และการกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ที่ต้องขออนุญาตต่อคณะกรรมการ กสทช.ก่อน และยังขัดต่อมาตรา 46 แห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ไม่ให้ผู้ได้รับใบอนุญาต โอนคลื่นความถี่หรือมอบให้ผู้อื่นบริหารจัดการแทน โดยในสัญญาฉบับที่ 1 และ 2 ของ กสท และทรูนั้น ให้สิทธิ์ทรูในการบริหารคลื่นถึง 80%

การทำสัญญาดังกล่าว นับเป็นการเอื้อประโยชน์แก่ทรูอย่างเห็นได้ชัด โดยทรูไปซื้อกิจการฮัทช์ ซึ่งเป็นคู่สัญญา กสท มาก่อน แล้วอาศัยสิทธิตามสัญญาของฮัทช์มาปรับแก้ข้อสัญญา รวมทั้งทำสัญญาขึ้นใหม่เพิ่มเติม เข้าลักษณะแปรสัญญาเป็นใบอนุญาตเพื่อเลี่ยงกฎหมาย เนื่องจากทรูไม่อยู่ในสถานะที่จะแข่งขันประมูลคลื่นความถี่สู้กับรายอื่นได้ เพราะหากประมูลก็ต้องใช้เงินขั้นต่ำถึง 12,800 ล้านบาท แต่การแปลงสัญญาเป็นใบอนุญาตกับ กสท ใช้เงินไม่มากเท่า

ส่วนการเตรียมจะเซ็นสัญญาให้เอสแอล คอนซอร์เตียม ติดตั้งโครงข่าย 3 จี ของทีโอทีนั้น จากจำนวนผู้แข่งขันประมูลเดิมที่ 4 ราย ทีโอทีกลับตัดสิทธิ์ผู้แข่งขัน 2 ราย ซึ่งเป็นผู้ผลิตระดับโลก ด้วยเหตุผลเรื่องไม่ส่งแค็ตตาล็อก ทั้งที่ทั้งสองรายมีผลงานการติดตั้งอุปกรณ์ในประเทศต่างๆมาทั่วโลก ทำให้เหลือผู้แข่งขันเพียง 2 ราย ทำให้ที่สุดแล้วราคาประมูลสุดท้ายอยู่ที่ 16,290 ล้านบาท ต่ำกว่าราคากลางเพียง 1,150 ล้านบาท หรือลดลง 6.59% โดยหากมีการแข่งขันที่สมบูรณ์ ราคาประมูลน่าจะลดลงได้ถึง 5,000 ล้านบาท ช่วยประเทศประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกมาก

ที่สำคัญ คุณสมบัติของผู้ชนะการประมูลอาจไม่ถูกต้องกับข้อกำหนดในเอกสารการประกวดราคา อันอาจเป็นเหตุให้คณะกรรมการบริษัททีโอทีทั้งสิ้น 6 ราย ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในที่สุด ซึ่งทำให้จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาดังกล่าวได้

นอกจากนั้น สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ เมื่อมีการประมูลคลื่นความถี่มาตรฐาน 2100 MHz สำหรับให้บริการ 3 จี โดย กสทช.แล้ว และมีการให้บริการทั่วประเทศ ในที่สุดโครงการ 3 จี ทั้งของทีโอทีและ กสท มีแนวโน้มที่จะล้มเหลวได้ ซึ่งจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ เสียเงินลงทุนสูญเปล่า นอกเสียจากว่ารัฐบาลนี้มีความตั้งใจหรือมีข้อแอบแฝงที่จะไม่ให้มีการประมูลความถี่ 2100 ในอนาคต

ผู้ที่จะนำเสนอเรื่องนี้ คือ ดร.สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล

พรทิวา นาคาศัย
รมว.กระทรวงพาณิชย์

ปัญหาน้ำมันปาล์ม ที่ฝ่ายค้านชี้ว่าชาวบ้านเรียกกันติดปากว่า สวาปาล์ม เรื่องนี้นับเป็นสิ่งที่ประชาชนได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้องเข้าแถวต่อคิวซื้อเหมือนกับภาวะสงครามที่จะต้องเจียดอาหารให้กัน ใครจะเชื่อว่าประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มในอันดับที่ 14 ของโลก ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และส่งออกในปริมาณสูงสุดที่ 360,000 ตัน ในปี 2550 และส่งออก 120,000 ตัน ในปีที่แล้ว

แต่ทำไมจะต้องมาขาดแคลนน้ำมันปาล์มสำหรับบริโภคภายในประเทศ และรัฐบาลที่ประกอบไปด้วยผู้บริหารที่เคยประกอบธุรกิจปาล์มน้ำมันเป็นจำนวนมาก จะไม่มีปัญญาแก้ไขปัญหาได้

รัฐบาลทราบอยู่แล้วในเดือน พ.ย.ปีที่ผ่านมาว่า จะมีการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม และบรรดาผู้บริหารในรัฐบาลนี้ที่มีธุรกิจเกี่ยวกับปาล์มน้ำมันนี้น่าที่จะรู้ดีว่า ในเดือน ธ.ค.2553 ถึง ก.พ.2554 ปาล์มจะให้ผลผลิตน้อย ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขาดแคลนน้ำมันปาล์ม แต่ก็ยังปล่อยให้เกิดขึ้น เรื่องนี้นอกจากจะเป็นการแสดงถึงการขาดความสามารถในการบริหารจัดการอย่างชัดเจนแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่ยังเชื่อว่ามีการทุจริต โดยผลสำรวจของเอแบคโพล พบว่าประชาชนเชื่อว่าปัญหาการขาดแคลนเกิดจากการทุจริตถึง 72%

เมื่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้แก้ไขปัญหา โดยให้คงราคาที่ 47 บาท แต่อนุมัติเงิน 200 ล้านบาท เพื่อชดเชยผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำมันปาล์ม ซึ่งการแก้ปัญหานี้เท่ากับเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ผลิตและผู้นำเข้าโดยใช้เงินภาษีอากรของประชาชนมาใช้อย่างเปล่าประโยชน์ ไม่ได้แสดงวิธีการบริหารจัดการที่ดี เพราะผู้ได้ประโยชน์คือผู้ผลิตและผู้นำเข้าน้ำมันปาล์มที่อาจจะเป็นพรรคพวกของตน

นอกจากนี้ ทันทีที่ประกาศการชดเชยน้ำมันปาล์มต่อลิตรที่ราคาผู้ผลิตที่ 9.50 บาท และผู้นำเข้าที่ 5 บาท ปรากฏว่ามีน้ำมันปาล์มเข้ามาขายในห้างเป็นจำนวนมากในวันรุ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยกระบวนการปกติ การที่จะนำน้ำมันปาล์มดิบมากลั่นจนเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์เพื่อบรรจุขวดได้จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 วัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าน่าจะมีการนำเอาความเดือดร้อนของประชาชนมาหาประโยชน์ให้กับตนเองและพวกพ้อง

อีกทั้งการอุดหนุนราคาดังกล่าวยังเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับที่นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาบอกว่านโยบายของพรรคจะไม่ส่งเสริมการควบคุมราคาสินค้าหรือการใช้เงินหลวงชดเชยราคาสินค้า จากนั้นไม่นานน้ำมันปาล์มก็ขาดแคลนอีก การที่รัฐบาลพยายามสร้างภาพโดยไปตรวจโรงงานผลิตน้ำมันพืชบ้าง ร้านค้าบ้าง ไม่ใช่ทิศทางที่ถูกต้อง

รัฐบาลน่าจะรู้ดีว่าการกักตุนน้ำมันปาล์มนั้นอยู่ที่ใด รวมถึงการลักลอบนำน้ำมันปาล์มเถื่อนเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย เข้ามาทางชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผลิตผลต่อไร่สูงกว่าไทยถึงเกือบเท่าตัว  ซึ่งทำให้ต้นทุนการผลิตน้ำมันปาล์มต่ำกว่ามาก  การนำน้ำมันปาล์มไปใช้ใน พลังงานทดแทนที่มีการสนับสนุนราคาพิเศษ และปัญหาการขายน้ำมันปาล์มจุกสีต่างๆ

โดยเรื่องนี้ฝ่ายค้านระบุว่า จะชี้ให้เห็นขั้นตอนการทุจริตในขั้นตอนต่างๆ และในหลายประเด็นเรื่องนี้ โดย น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ จะนำอภิปรายในเรื่องนี้.

ทีมเศรษฐกิจ

未经允许不得转载:综合资讯 » เปิดประเด็นซักฟอกรัฐบาล ฝ่ายค้านงัดหลักฐานถอดถอน 5 ทีมเศรษฐกิจ

赞 (0)
分享到:更多 ()