ชาวเมืองคอนเตรียมยกพลบุกศาลากลาง ทวงถามความเป็นธรรมจากรัฐบาล หลังจากอุทกภัยปี 53 โดนตัดชื่อไปกว่า 40,000 ครอบครัว ส่วนน้ำท่วมล่าสุดจังหวัดแจ้งผู้ประสบภัย 292,500 ครอบครัว ทั้งที่มีผู้เดือดร้อนกว่า 350,000 ครอบครัว นายกฯ ระบุหลังสงกรานต์ ปีนี้เงินถึงมือชาวบ้านแน่นอน ที่สุราษฎร์ธานีทีมไกรทองไล่จับจระเข้อีกนับ 100 ตัว…
แม้ว่าอุทกภัยภาคใต้จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว เหลือเพียงบางจังหวัดที่ยังมีน้ำท่วม ขณะที่ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับความเดือดร้อนต่อไป เนื่องจากบ้านเรือนถูกน้ำป่าและดินโคลนถล่มราบเป็นหน้ากลอง ต้องอาศัยหลับนอนที่ศูนย์อพยพชั่วคราว และตกอยู่ในสภาวะของความเครียด จนบางคนถึงกับคิดสั้นกระโดดน้ำฆ่าตัวตาย ขณะที่รัฐบาลพยายามเร่งเยียวยาผู้ประสบภัยครั้งใหญ่หลังน้ำลดนั้น
ด้านนายธีระ มินทราศักดิ์ ผวจ.นครศรีธรรมราช สรุปความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มทั้ง 23 อำเภอ ว่ามีประชาชนเดือดร้อน 165 ตำบล 1,551 หมู่บ้าน จำนวน 292,500 ครัวเรือน จำนวน 909,500 คน บ้านพังทั้งหลัง 200 หลัง บ้านพังบางส่วน 9,000 หลัง ปศุสัตว์เสียหาย 1,639,148 ตัว พื้นที่การเกษตรเสียหาย 580,816 ไร่ ถนนเสียหาย 3,364 สาย สะพานพัง 329 แห่ง วัด 124 แห่ง มูลค่าความเสียหายล่าสุดประมาณ 2,400 ล้านบาท โดยในจำนวนผู้เสียชีวิต 27 ราย มี อ.สิชล 5 ราย, อ.ขนอม 2 ราย, อ.ฉวาง 3 ราย, อ.นบพิตำ 2 ราย, อ.ท่าศาลา 2 ราย, อ.เมือง 3 ราย, อ.ปากพนัง 3 ราย, อ.พิปูน, พระพรหม, ทุ่งใหญ่, บางขัน, ทุ่งสง, ลานสกา, เชียรใหญ่ อำเภอละ 1 ราย ซึ่งทางการจะให้การช่วยเหลือตามระเบียบต่อไป
ทางด้านการช่วยเหลือชาวบ้านหมู่ 6 หมู่ 7 และหมู่ 8 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ ที่ถนนหนทางถูกตัดขาดนั้น ล่าสุดตำรวจ ตชด. ทหารช่าง เจ้าหน้าที่แขวงการทางและกรมทางหลวงชนบทพยายามเข้าไปซ่อมสะพานและถนนหลายแห่งที่ถูกดินโคลนถล่มปิดทับหลายจุด แต่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถนำเครื่องจักรกลหนักเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวได้ จึงต้องใช้เฮลิคอปเตอร์ ซีนุก ขนย้ายเครื่องจักรเข้าไปในพื้นที่แทน ขณะที่นายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย จัดส่งชุดช่างของ กทม. และทหารช่างเข้าปรับปรุงสภาพผิวถนนให้ประชาชนสัญจรได้ชั่วคราว และนำแพทย์เคลื่อนที่เข้ารักษาประชาชนใน อ.นบพิตำ และ อ.สิชลแล้ว เนื่องจากยังมีผู้เจ็บป่วยอีกจำนวนมาก
ส่วนกรณีที่นายวิทยา เทพบุรี อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 1796/18 ถนนท่าโพธิ์ ต.ท่าวัง อ.เมืองนครศรีธรรมราช ครูโรงเรียนมารีย์พิทักษ์ศึกษา อ.เมืองนครศรีธรรมราช ที่กระโดดแม่น้ำตาปีฆ่าตัวตายตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา บริเวณสวนสาธารณะตลาดทานพอ หมู่ 3 ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เนื่องจากเครียดที่บ้านถูกน้ำท่วมจนหมด โดยเจ้าหน้าที่พบศพนายวิทยาเมื่อคืนวันที่ 9 เม.ย. ห่างจากจุดเกิดเหตุราว 800 เมตร ก่อนนำศพมาไว้ที่มูลนิธิสยามรวมใจปู่อินทร์ทุ่งใหญ่ ล่าสุดช่วงเช้าวันที่ 10 เม.ย. นางปียารัตน์ เทพบุรี อายุ 63 ปี พี่สาวผู้ตาย ติดต่อขอรับศพแล้ว
โดยนางปียารัตน์เปิดเผยว่า นายวิทยา น้องชาย เพิ่งย้ายมาสอนที่โรงเรียนดังกล่าวได้ปีเดียว ปกติเป็นคนเงียบขรึม กระทั่งเกิดน้ำท่วมบ้าน ทำให้ผู้ตายเกิดความเครียดฆ่าตัวตาย โดยญาติกำหนดฌาปนกิจศพในวันที่ 14 เม.ย. ที่วัดหน้าพระบรมธาตุ อ.เมืองนครศรีธรรมราช ส่วนการช่วยเหลือก็แล้วแต่ทางราชการว่าจะช่วยอย่างไร
ด้านนายยงยศ แก้วเขียว กำนันตำบลเขาพระบาท อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ในฐานะนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในหลายอำเภอของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวบรวมรายชื่อและหลักฐานต่างๆ ในการขอรับเงินช่วยเหลืออุทกภัยปลายปี 2553 จากรัฐบาลครอบครัวละ 5,000 บาท รวมทั้งหลักฐานเกี่ยวกับมติ ครม.และการจ่ายเงินในพื้นที่จังหวัดต่างๆ หลังพบว่ามีการแจกเงินช่วยผู้ประสบภัยอย่างไม่เป็นธรรม โดยนายยงยศเผยว่า มีหลักฐานชัดเจนว่าการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.นครศรีธรรมราช รอบที่ 2 ปี 53 ที่มีการแจ้งยอดไปประมาณ 79,000 ราย แต่โดนตัดเหลือแค่ 30,000 กว่าราย กำนันผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งร่วมตรวจสอบพบว่ารายชื่อที่โดนตัดไปยกตำบล เช่น ต.ปากนคร อ.เมือง ส่วนพื้นที่อื่นๆ ตัดไปกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เช่น อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอหัวไทร ได้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้น
นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในวันที่ 11 เม.ย. เวลา 09.00 น. ตน กำนันผู้ใหญ่บ้านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและชาวบ้านที่ประสบภัยที่โดนตัดรายชื่อเมื่อปี 53 อย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10,000 คน จากทั้งหมดกว่า 40,000 คน จะไปรวมตัวกันที่ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อทวงถามความเป็นธรรมจากรัฐบาล นอกจากนี้ในส่วนของยอดผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปี 54 ทางจังหวัดแจ้งผู้ประสบภัยไปจำนวน 292,500 ครอบครัว ทั้งที่ความเป็นจริงจังหวัดประกาศเขตภัยพิบัติฉุกเฉินและระบุครอบครัวที่ได้รับความเดือดร้อนชัดเจนอยู่แล้วจำนวนกว่า 350,000 ครอบครัว ซึ่งทั้งหมดต้องได้รับการช่วยเหลือเช่นกัน
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.สุราษฎร์ธานี เหลือเพียง อ.พุนพิน ที่ยังคงมีน้ำท่วมตามริมฝั่งแม่น้ำตาปี ขณะที่นายวิสูตร อินทรกำเนิด ผบ.ร้อย. อส.จ.สุราษฎร์ธานี ได้นำเจ้าหน้าที่นั่งเรือออกไล่ล่าจระเข้ที่หลุดออกจากฟาร์ม กระทั่งได้รับแจ้งจากนายสมพงษ์ ทองรักษ์ อายุ 48 ปี อยู่บ้านเลขที่ 102 หมู่ 2 ต.ตะปาน อ.พุนพิน ว่าระหว่างนำอวนไปดักปลาภายในสวนปาล์มน้ำมันติดกับแม่น้ำตาปี ซึ่งยังคงมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร พบลูกจระเข้ 3 ตัว ลอยคออยู่ หลังทราบเรื่องเจ้าหน้าที่ได้นำอุปกรณ์ไปจับลูกจระเข้ทั้ง 3 ตัวไว้ได้ แต่ละตัวยาวประมาณ 2 ฟุต อายุประมาณ 6 เดือน
ด้านนายวิสูตร อินทรกำเนิด ผบ.ร้อย. อส.จ.สุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ปัญหาอุปสรรคที่ทีมล่าจระเข้ประสบอยู่ในขณะนี้คือ เจ้าหน้าที่ยังไม่ทราบว่าแต่ละฟาร์มมีจระเข้หลุดออกมากี่ตัว เนื่องจากเท่าที่สอบถามเจ้าของฟาร์มไม่ค่อยให้ความร่วมมือเท่าที่ควร บางฟาร์มทราบว่ามีจระเข้หลุดออกมานับร้อยตัว แต่ส่วนใหญ่จะเป็นลูกจระเข้ ทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ค่อนข้างยากลำบาก ที่น่าห่วงคือชาวบ้านบางกลุ่มกลัวว่าเด็กจะไม่ปลอดภัยเลยออกล่าจระเข้กันเอง จุดนี้อาจเกิดอันตรายจากอาวุธปืนได้ ทางที่ดีหากพบจระเข้ขอให้แจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันที
ที่ จ.กระบี่ เจ้าหน้าที่ยังคงออกค้นหาผู้สูญหายจากเหตุการณ์เทือกเขาพนมเบญจาถล่มในพื้นที่ ต.หน้าเขา อ.เขาพนม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 12 คน และสูญหายอีก 5 คน พร้อมอพยพชาวบ้านมาอยู่ในที่ปลอดภัย ทั้งนี้นางปรีดา สุสวัสดิ์ อายุ 39 ปี อยู่บ้านเลขที่ 263 หมู่ 10 ต.เขาพนม ชาวบ้านที่ประสบภัยเผยว่า บ้านของตนเปิดเป็นร้านค้าของชำ มี 2 คูหา อาศัยด้วยกันกับลูกๆรวม 5 คน ส่วนสามีแยกกันอยู่ วันเกิดเหตุมีฝนตกหนัก จากนั้นเกิดน้ำท่วมและมีโคลนไหลลงมา ตนและลูกๆ วิ่งหนีออกจากบ้านขึ้นไปยังที่สูง จากนั้นมีโคลนจำนวนมากซัดต้นไม้ถล่มบ้านเสียหายทั้งหลัง แต่ถือว่าโชคดีที่ไม่มีใครเสียชีวิต ครอบครัวตนมีทั้งหมด 5 คน แต่บ้านน็อกดาวน์ที่ทางการสร้างให้มีขนาดเล็กมากทำให้คับแคบ แต่ก็ต้องทนอยู่ไปก่อนจนกว่าจะมีที่ใหม่ให้อยู่ อย่างไรก็ตาม คงจะไม่ไปสร้างบ้านในจุดเดิมอีกแล้วเพราะกลัวจะเกิดเหตุซ้ำอีก
ส่วนที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนหน้าเขา อ.เขาพนม ซึ่งเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่เกิดดินภูเขาถล่มลงมา ล่าสุดทางวิทยาลัยเทคนิคกระบี่ วิทยาลัยสารพัดช่างกระบี่ และวิทยาการอาชีพคลองท่อม ร่วมกันนำนักศึกษามาเปิดศูนย์ช่วยเหลือซ่อมเครื่องใช้ทั้งเครื่องยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน โดยนายจรัญ ชุมนุ้ย อาจารย์แผนกช่างยนต์ วิทยาลัยสารพัดช่างกระบี่ กล่าวว่า มีประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมและดินโคลนถล่มนำรถ จยย.มาซ่อมฟรีที่ศูนย์แห่งนี้แล้วกว่า 100 คัน ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งตู้เย็น เครื่องซักผ้ากว่า 100 เครื่อง รวมถึงปั๊มน้ำที่มีอีกกว่า 100 เครื่อง แต่จากสภาพความเสียหายค่อนข้างหนัก เพราะโดนทั้งน้ำท่วมและโคลน ทำให้บางอย่างไม่สามารถซ่อมได้ แต่ก็จะพยายามอย่างเต็มที่
ขณะที่นายเชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้ากลุ่มงานฝึก อบรมศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 18 ภูเก็ต กล่าวว่า ในการสร้างบ้านน็อกดาวน์ให้กับผู้ประสบภัยที่ ต.หน้าเขาสร้าง ที่โรงเรียนบ้านควนผึ้งเสร็จแล้ว 4 หลัง ขึ้นโครงอีกกว่า 10 หลัง โดยจุดนี้สร้างทั้งหมด 44 หลัง ส่วนที่ ต.เขาพนม สร้าง 10 หลังในพื้นที่ของสวนป่า ออป. หมู่ 10 ต.เขาพนม และที่บ้านช่องไม้ดำ ต.คลองหิน จัดตั้งเต็นท์ 10 หลัง ส่วนระบบน้ำขณะนี้ สำนักงานทรัพยากรน้ำกำลังดำเนินการเพื่อต่อระบบให้กับผู้ที่จะมาพักอาศัย ชั่วคราวต่อไปแล้ว
ขณะเดียวกันผลพวงจากน้ำท่วมทำให้ไข่แพงและขาดตลาด โดยผู้ส่ือข่าวรายงานว่า ที่ตลาดทรัพย์สิน พลาซ่าสงขลา อ.เมืองสงขลา ขณะนี้เกิดปัญหาราคาไข่ไก่และไข่เป็ดปรับราคาขึ้น แถมยังขาดตลาด โดยเฉพาะไข่เป็ด เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้าจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี มากว้านซื้อไข่เป็ดจากฟาร์มในจังหวัดสงขลา ทั้งที่อำเภอสทิงพระ กระแสสินธุ์ และระโนด ซึ่งมีฟาร์มเป็ดแหล่งใหญ่ของจังหวัด เพ่ือเอาไปใช้ทำไข่เค็มไชยาเนื่องจากไข่เป็ดที่ อ.ไชยาขาดแคลนจากภาวะน้ำท่วมทำให้ฟาร์มเลี้ยงเป็ดได้รับความเสียหายอย่างมาก
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยไปแล้วในการประชุม ครม.ที่ผ่านมา ทั้งเงินช่วยเหลือครอบครัวละ 5,000 บาท ที่เป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น เป็นกรณีพิเศษ ให้ประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วมฉับพลัน หรือน้ำท่วม เป็นเวลานานเกิน 7 วัน ซึ่งจะใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท คาดว่าเงินจะถึงมือประชาชนได้หลังสงกรานต์ โดยจะมีการสำรวจบัญชีรายชื่อผู้ที่ส่งเข้ามาที่สอดคล้องกับ ความเป็นจริง เพราะต้องตรวจสอบกับภาพถ่ายทาง อากาศด้วย เนื่องจากเงินเหล่านี้เป็นภาษีของประชาชน ทั้งประเทศ ส่วนพื้นที่ที่มีการจ่าย เงินล่าช้าจากสถานการณ์ น้ำท่วมครั้งที่ผ่านมาเหลืออยู่ร้อยละ 10 เนื่องจาก มีการส่งรายชื่อเกินความเป็นจริงจำนวนมาก ขณะเดียวกันการ ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรจะต้องรอหลังน้ำลดก่อนจึงจะมีการสำรวจความเสียหายได้ คาดว่าจะใช้เงินอีกกว่า 3,000 ล้านบาท
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ระหว่างเดินทางไปตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลตะกั่วป่า จ.พังงา เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมว่า ขณะนี้ สธ.เน้นหนักระยะของการฟื้นฟูหลังน้ำลด 3 เรื่องหลัก ได้แก่ 1.การฟื้นฟูสุขภาพกายและสุขภาพจิตผู้ประสบภัย รวมทั้งครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งหมด 2. การควบคุมป้องกันไม่ให้เกิดโรคระบาดตามมา โดยจัดหน่วยกำจัดยุง แมลงวัน หรือพาหะนำโรคอื่นๆ โดยเฉพาะ ในกองขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ และ 3.การฟื้นฟูด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รณรงค์ทำความสะอาดสถานที่ต่างๆ อย่างถูกวิธีและถูกสุขลักษณะ เช่น สุขา ที่อยู่อาศัย ตลาดสด รวมทั้งปรับคุณภาพน้ำในบ่อน้ำกินน้ำใช้ แหล่งน้ำสาธารณะให้มีความสะอาดปลอดภัย
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า ส่วนผลการดูแลด้านจิตใจผู้ประสบภัยตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.จนถึง 9 เม.ย. พบผู้ประสบภัยมีความเครียดระดับสูง 179 ราย มีอาการซึมเศร้า 286 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 96 ราย โดยมีผู้ประสบภัยที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ต้องติดตามดูแลสภาพจิตใจอย่างต่อเนื่องทั้งหมด 164 ราย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูญเสีย เช่น คนในครอบครัวเสียชีวิต บ้านพังทั้งหลัง พืชผลเสียหาย สำหรับครอบครัวผู้ที่เสียชีวิตจำนวน 63 ราย ขณะนี้ได้ส่งทีมสุขภาพจิตเข้าไปเยี่ยมแล้วกว่าร้อยละ 60 ซึ่งจะติดตามเยี่ยมดูแลให้ครบทั้งหมด สำหรับผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ พบผู้เจ็บป่วย 82,005 ราย ส่วนใหญ่เป็นไข้หวัดและโรคน้ำกัดเท้า ไม่มีรายใดอาการหนัก
未经允许不得转载:综合资讯 » โวยเงินช่วยนําท่วม ไม่ถึงมือ คนนครฮือประท้วง