อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ ผุดเอานโยบาย “เปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า” ยังผลให้การสู้รบตามแนวชายแดนไม่เกิด การทำมาค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านก็คึกคัก
แม้เขตแดนยังไม่ชัดเจน แต่ด้วยการสานสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านดี ไม่ว่าจะเป็นไทยกับมาเลเซีย พม่า ลาว และกัมพูชา ทุกทิศเรียกได้ว่าสงบสุข แต่เมื่อการเมืองในประเทศกัมพูชาและไทยเล่นกันแรง แนวรบด้านกัมพูชาจึงเกิดขึ้น โดยอาศัยเชื้อดั้งเดิมที่มอดไปแล้ว แต่ยังไม่ดับสนิทดี นั่นคือปัญหาเรื่องเขตแดน
แนวตะเข็บแดนไทยกัมพูชา เรามีด้านเดียวแต่มีแผนที่กันคนละฉบับ
ปูมปัญหา เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยนักล่าอาณานิคมฝรั่งเศส เข้ามากระชับพื้นที่กัมพูชาที่มีสยามเข้าไปมีอิทธิพลทางการปกครองอยู่ การเข้ามาของฝรั่งเศสอย่างเป็นรูปธรรมเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2406 คือวันที่องค์พระนโรดมพรหมบริรักษ์ พระมหากษัตริย์แห่งกัมพูชา ทำสนธิสัญญากับแม่ทัพฝรั่งเศส เปิดทางให้ฝรั่งเศสเข้ามาดูแลประเทศกัมพูชา
ในสนธิสัญญาข้อที่ 16 ระบุว่า “เจ้ากรุงฝรั่งเศสไว้เจ้าเมืองเขมรเป็นเจ้าจริงๆก็สัญญาจะช่วยให้ได้เป็นไปตรีราบคาบในนครเมืองเขมร แล้วช่วยทำนุบำรุงเมืองเขมรไม่ให้มีสัตรูแต่เมืองอื่นมากฎขี่เบียดเบียน เจ้าฝรั่งเศสมีใจซื่อตรง จะช่วยให้เจ้าเมืองเขมรชักภาษีจากลูกค้าวานิชแล้วใช้ใบไปทะเล”
ความโดยสรุปของสัญญาข้อที่ 16 และข้ออื่นๆในสัญญาฉบับนี้ก็คือ ฝรั่งเศสเข้ามาดูแลเขมรนั่นเอง
ผลจากสนธิสัญญา ทำให้ฝรั่งเศสเข้ามาดูแลและจัดการเรื่องราวภายในกัมพูชาเนื่องจากสมัยนั้นสยามยังเข้าไปมีอิทธิพลต่อกัมพูชาเป็นอย่างสูง แถมเมืองในมณฑลบูรพา คือ พระตะบอง เสียมราฐ และศรีโสภณ สยามยังมีเจ้าพระยาอภัยภูเบศรไปดูแลอยู่
การเข้าไปดูแลนี้ สืบเนื่องกันมาตั้งแต่รัชกาลที่ 1 แห่งราชวงศ์จักรี เรื่อยมาสิ้นสุดในสมัยรัชกาลที่ 5
เจ้าพระยาอภัยภูเบศรเป็นชื่อตำแหน่ง คนแรกชื่อจริงคิือ แบน
เมื่อฝรั่งเศสเข้ามามีอิทธิพลในกัมพูชาแล้วก็เริ่มกระชับพื้นที่ สยามไม่อาจเลี่ยงความสั่นสะเทือนได้ แรงสั่นสะเทือนแรกที่แรงที่สุดคือ ฝรั่งเศสนำเรือรบเข้ามาปิดอ่าว เมื่อ พ.ศ.2436 ในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 เหตุการณ์ครั้งนั้นเรียกกันว่า วิกฤตการณ์ รศ.112
หลังวิกฤตการณ์ สยามในนามพระราชอาณาจักรสยาม กับฝรั่งเศสในนามอินโดจีนฝรั่งเศส ได้ทำสนธิสัญญาร่วมกันในเรื่องเขตการครอบครอง นำมาซึ่งการจัดทำแผนที่ เบื้องแรกกำหนดคร่าวๆก่อน สืบมาค่อยสำรวจและจัดทำหลักเขตแดน
เรื่องเขตแดนที่ชัดเจน เพิ่งมาเกิดขึ้นสมัยนักล่าอาณานิคมเข้ามา ก่อนหน้านั้นไม่มีเขตแดนที่แน่นอน การตั้งคณะกรรมการเขตแดนชุดแรกและครั้งแรกในสยามก็คือ ทำกันระหว่างสยามกับอินโดจีนฝรั่งเศส เกิดขึ้นหลังจากสนธิสัญญาฉบับวันที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2446 คือหลังจากวิกฤตการณ์ รศ.112 เป็นเวลา 10 ปี
เบื้องต้นกำหนดให้มีประธานทั้งสองฝ่ายคือ พลตรีหม่อมชาติเดชอุดม เป็นประธานฝ่ายสยาม และ พันเอกแบร์นาร์ด เป็นประธานฝ่ายฝรั่งเศส คณะกรรมการชุดนี้เรียกว่า คณะกรรมการผสมชุดแรก
ผลงานที่คณะกรรมการชุดนี้ทำไว้คือ สำรวจภูมิประเทศ เพื่อเป็นไปตามหลักการของการปักปันเขตแดนซึ่งเป็นเรื่องใหม่ของสยาม ทำให้เกิดแผนที่ “คร่าวๆ” ขึ้นมา แต่ยังไม่เป็นเขตแดนสมบูรณ์ เพราะยังไม่ได้ทำเครื่องหมายใดๆไว้
แผนที่ผลงานของคณะกรรมการผสมชุดแรกนี้ เป็นแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 และเป็นแผนที่ที่ยังไม่ได้ระบุเส้นเขตแดนแน่นอน ชัดเจน
สืบมาปี พ.ศ.2451-2452 คณะกรรมการผสมชุดที่สอง อาศัยเค้าแผนที่ของคณะกรรมการผสมชุดแรกเป็นแนวทาง ดำเนินการตามขั้นตอนปักปันเขตแดน โดยเดินทางลงพื้นที่ ทำเครื่องหมายให้เป็นรูปธรรม โดยบากไว้บนต้นไม้ใหญ่ และสร้างหลักเขตแดนชั่วคราวไว้เป็นหมุดหมายสำคัญ
การปักเขตแดน หลักแรกเริ่มต้นที่ช่องสงำ จังหวัดศรีสะเกษ มุ่งไปทางทิศตะวันตกตามแนวเทือกเขาพนมดงรัก ลากยาวไปยังเทือกเขาบรรทัดลงไปทางทิศใต้ ไปสิ้นสุดที่หลัก 73 บริเวณรอยต่อระหว่างบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด กับบ้านจามเยียม จังหวัดเกาะกง ของกัมพูชา
เมื่อเครื่องหมายเขตแดนที่ทำไว้ชำรุด ทั้งไทยและกัมพูชาจึงทำหลักเขตแดนขึ้นมาใหม่ เป็นหลักคอนกรีตมั่นคงถาวร เมื่อ พ.ศ. 2462 หลักเขตชุดนี้เองที่คนไทยกลุ่มหนึ่งเดินทางไปดู แล้วถูกกัมพูชาจับตัวไป 7 คน
ครั้นเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ขึ้น ฝรั่งเศสที่ปกครองกัมพูชาอยู่เกิดความอ่อนแอ รัฐบาลไทยสมัยนั้นเห็นเป็นโอกาส จึงบุกเข้าไปยึดดินแดนกัมพูชาที่เคยปกครองอีกครั้ง ในปี พ.ศ.2484 แต่เข้าไปปกครองได้ไม่นานก็ต้องคืนให้ฝรั่งเศสไป เมื่อสงครามโลกสิ้นสุดลง
หลังกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส เกิดปัญหาภายในประเทศอย่างหนัก มีการแบ่งเป็นฝ่ายต่าง ๆ รบพุ่งกันเอง ทหารกัมพูชาส่วนหนึ่งอาศัยแนวตะเข็บแดนไทยเป็นที่อิงและสร้างฐาน ระหว่างสู้รบกันนั้น มีการโยกย้ายหลักเขตเพื่อพรางศัตรู ทำให้หลักเสียหาย ชำรุด และบางหลักหายไป
เมื่อฝ่ายพอลพต ยึดอำนาจได้ปี พ.ศ.2518 ปกครองอยู่ได้ไม่นานก็ถูกฝ่ายเฮงสัมริน โดยความช่วยเหลือของเวียดนามยึดอำนาจได้ในปี พ.ศ.2522 หลังจากนั้น บ้านเมืองกัมพูชาก็กลับมาสงบสุขอีกครั้ง
แต่หลักเขตแดนที่ทำไว้นั้นหาปกติไม่ มีการชำรุดและเสียหายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาตามมาคือ ความไม่ชัดเจนในเรื่องเขตแดน
แต่ปัญหาระหว่างไทยกับกัมพูชาก็ยังไม่เกิดขึ้น เนื่องจากรัฐบาลทั้งสองฝ่ายตระหนักในสร้อยสัมพันธ์อันดี มีนโยบายเอื้อไมตรีกันเสมอมา ที่ชัดเจนคือนโยบายเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า ของคณะรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
แม้จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างตระหนักร่วมกันว่า ถ้าปล่อยให้หลักหาย ชำรุด ต่อไปย่อมไม่เกิดผลดีต่อประเทศทั้งสองแน่ ในปี พ.ศ.2540 รัฐบาลไทยและกัมพูชาจึงเห็นพ้องต้องกันว่า ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมไทย–กัมพูชาขึ้นมา เพื่อจัดการปัญหาให้สิ้นไป
คณะกรรมาธิการนี้ ฝ่ายไทยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน เพื่อรับผิดชอบการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนร่วมกัน มีผลให้ต่อมามีการบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2543 เพื่อกำหนดกรอบทางกฎหมายในการสำรวจ และจัดทำเขตแดนทางบกให้เรียบร้อย
แต่ระหว่างคณะกรรมการปักปันเขตแดนทำงานอยู่ เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ขึ้น เมื่อกัมพูชายื่นขอจดทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลก ทั้งๆที่ตัวปราสาทพระวิหารเป็นของกัมพูชาอย่างเป็นทางการไปแล้ว อย่างน้อยก็ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2505 วันที่ศาลโลกตัดสิน
แต่ด้วยการใช้เส้นเขตแดนมาใช้โค่นล้มกันทางการเมืองของทั้งฝ่ายกัมพูชาและไทย เรื่องเขตแดนและแผนที่ที่มีปัญหา แต่อยู่กันมาอย่างปกติสุข ก็ได้กลายเป็นปัญหาขึ้นมาอย่างรุนแรง
การนำเอาเรื่องเขตแดนหรือแผนที่ไปเล่นการเมือง ทำให้ผลที่ตามมาก็คือ ทหารต้องบาดเจ็บล้มตาย ชาวบ้านที่ไม่มีผลได้ใดๆทางการเมืองต้องมาหลบกระสุนปืน สะเก็ดระเบิด
แผนที่แทนที่จะช่วยให้ยุติข้อขัดแย้ง กลายเป็นเส้นทางทอดสู่สงคราม ยังความเดือดร้อนให้กับประชาชนทั่วตะเข็บแดน.
未经允许不得转载:综合资讯 » แผนที่ไทย-ฝรั่งเศส แผนทางสู่สงคราม