นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หนุ่มรูปหล่อ ในที่สุดก็ได้ฤกษ์ประกาศยุบสภาเสียที หลังจากศาลรัฐธรรมนูญ มีมติชี้ร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 ฉบับ ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทางเลยสะดวกอย่างที่มีการคาดการณ์กันไว้ ก็เป็นอันเรียบร้อยเสร็จโรงเรียนมาร์ค เมื่อเย็นวันที่ 9 พ.ค.ที่ผ่านมา มีพระราชกฤษฎีกาประกาศยุบสภาอย่างเป็นทางการลงมา พร้อมกับกำหนดวันเลือกตั้งวันที่ 3 ก.ค. เพื่อมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้งเป็นที่เรียบร้อย และน่าจะได้รัฐบาลใหม่ประมาณต้นเดือนส.ค.ตามแผนเดิมที่กำหนดไว้
หากย้อนกลับไป การยุบสภาที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่านับเป็นครั้งที่ประชาชนมีการเรียกร้องมากที่สุดครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อการเมืองเกิดวิกฤติการณ์กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือนปช. ออกมาชุมนุมใหญ่เมื่อเดือนเม.ย.-พ.ค.2553-2554 ถึง 2 ปีซ้อน ขอให้รัฐบาลต้องยุบสภาโดยไม่มีเงื่อนไข จนเกิดเหตุความรุนแรงไปทั่ว ทำความสูญเสียอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ทั้งลอบใช้อาวุธยิงใส่สถานที่สำคัญทางราชการ ปิดถนน เผาบ้านเผาเมือง มีทั้งประชาชน ทหาร ตำรวจ เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
นายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรีในเวลานั้น ถึงกับต้องตัดสินใจเปิดให้มีการเจรจา 2 ฝ่าย ระหว่างรัฐบาลกับผุ้ชุมนุม แถมถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศ และยื่นข้อเสนอ แนวทางปรองดองสมานฉันท์ และรัฐบาลพร้อมประกาศยุบสภาในวันที่ 14 พ.ย.53 แต่แล้วกลุ่มแกนนำนปช.กลับไม่ตอบรับ และยืนกรานจะต้องยุบสภาทันที ทำให้การเจรจาครั้งนั้นล่มไม่เป็นท่า นำมาซึ่งเหตุทหารกระชับพื้นที่แยกราชประสงค์ ในวันที่ 19 พ.ค.53 ซึ่งหากคิดให้ดี ถ้าตอนนั้นแกนนำนปช.ตอบตกลง ป่านนี้รัฐบาลก็คงยุบสภาไปตั้งแต่ปีที่แล้ว รวมเวลาที่เงื้อกันมากว่า 1 ปี แต่หากนับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ย.53 มา ก็เป็นเวลาเกือบ 6 เดือน จึงเป็นการเตรียมการยุบสภาที่นานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเลยทีเดียว
ประเทศไทยผ่านการยุบสภาของประเทศไทย มีการยุบสภามาแล้วทั้งสิ้น ดังนี้
1. 11 กันยายน พ.ศ. 2481 พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา
รัฐบาลขัดแย้งกับสภา
2. 15 ตุลาคม พ.ศ. 2488 หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช
สภาผู้แทนมีการยืดอายุมานานในช่วงสงคราม จนสมควรแก่เวลา
3. 16 ธันวาคม พ.ศ. 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์
สมาชิกสภานิติบัญญัติลาออก จนไม่อาจทำหน้าที่ของสภาได้
4. 12 มกราคม พ.ศ. 2519 หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช
ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
5. 19 มีนาคม พ.ศ. 2526 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
สภาผู้แทนราษฎรขัดแย้งกับวุฒิสภา กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
6. 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
รัฐบาลขัดแย้งกับสภา กรณีการตราพระราชกำหนด
7. 29 เมษายน พ.ศ. 2531 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
8. 29 มิถุนายน พ.ศ. 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน
เกิดวิกฤติทางการเมือง
9. 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 นายชวน หลีกภัย
ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
10. 27 กันยายน พ.ศ. 2539 นายบรรหาร ศิลปอาชา
ความขัดแย้งภายในรัฐบาล
11. 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 นายชวน หลีกภัย
ใกล้ครบวาระ
12. 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549 พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร
เกิดวิกฤติการณ์การเมือง
13. ปัจจุบัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
อายุครบเทอม
รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีตราพระราชกฤษฎีกายุบสภาลงมาแล้ว พร้อมกำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 3 ก.ค.54 และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้บันทึกเทปออกทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง11 (NBT) ในเวลา 20.30 น.
จากนี้ไป สังคมก็จะหันไปจับตาที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ทั้ง 5 คน ที่จะเป็นผู้จัดการเลือกตั้งว่า จะสามารถทำให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรมเพียงใด การเมืองของประเทศตอนนี้ เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการแบบเต็มรูปแบบแล้ว หลังจากหลายปีที่ผ่านมา เกิดวิกฤติขึ้นมาอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุด
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ถือเป็นความหวังที่จะนำให้สถานการณ์ของประเทศกลับมาสงบสุขอีกครั้ง ถึงแม้จะมีหลายฝ่ายออกมาชี้ว่า เลือกตั้งไปแล้ว การเมืองจะยังไม่จบก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีการเลือกตั้ง…
未经允许不得转载:综合资讯 » ที่สุด!ก็ได้ฤกษ์ ประกาศ ยุบสภา!