แม้จะยังงงๆกับปมใช้รถประจำตำแหน่งกันกระสุนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับสถานะนายกรัฐมนตรีหลังยุบสภา จะส่งผลให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในผลคะแนนเลือกตั้งตรงไหน
แต่ก็ “จัดให้” ทันทีเลยเหมือนกัน รุ่งขึ้นอีกวัน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปลี่ยนจากการใช้รถกันกระสุนประจำตำแหน่งนายก- รัฐมนตรีของศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (ศรภ.) ยี่ห้อ BENZ 600 สีดำ ทะเบียน ษห 3834 กรุงเทพมหานคร มาเป็นรถ BENZ S500 สีเทาดำ ทะเบียน กท 654 นครปฐม
โดยไม่ระบุว่า “กันกระสุน” ด้วยหรือไม่
ตามข่าวเป็นรถที่จัดหามาเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนคนหนึ่งของ “เทพเทือก” นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง และเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์
นัยว่า ตัดปัญหาเรื่องหมิ่นเหม่ข้อกฎหมาย ภายหลังจากได้เข้าหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถึงแนวปฏิบัติและข้อห้ามในการทำงานช่วงที่มีการเลือกตั้ง และหนึ่งในข้อแนะนำคือในส่วนของการรักษาความปลอดภัย โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้รถกันกระสุนของทางราชการในการลงพื้นที่หาเสียงนอกเวลาราชการ
ตามถ้อยแถลงของนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ ชี้แจงการเปลี่ยนรถของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเรื่องของการปรับแนวทางการรักษาความปลอดภัยตามที่ กกต.ให้คำแนะนำให้เหมาะสมไม่ให้ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
และเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการหาเสียงที่ถูกจับตาอย่างมาก โดยการหาเสียงของนายอภิสิทธิ์อาจจะมีการลากิจ หรือหาเสียงนอกเวลาราชการ นอกจากนี้ในส่วนของชุด รปภ.กำลังมีการหารือกันว่าจะปรับอย่างไรเพื่อให้มีความเหมาะสมด้วย
เหลี่ยมมวยเชี่ยวกระแส ถึงตรงนี้ “อภิสิทธิ์” ก็ได้เล่นแต้มเรื่อง “สปิริต” ไปแต่ที่ไม่แน่ว่า ระหว่างคะแนน “สะใจ” กับคะแนน “เห็นใจ” อย่างไหนจะมากกว่ากัน
ล่าสุด ศาลอาญาออกนั่งบัลลังก์เพื่อออกคำสั่งกรณีที่พนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิจารณาประกอบการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการอนุญาตปล่อยชั่วคราว 9 แกนนำ นปช. ได้แก่ นายวีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ อดีต ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ นพ.เหวง โตจิราการ นายก่อแก้ว พิกุลทอง นายขวัญชัย สาราคำ นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก นายนิสิต สินธุไพร และนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไท ในคดีร่วมกันก่อการร้าย
หลังจากที่จำเลยทั้ง 9 คนได้ขึ้นเวทีปราศรัยหมิ่นสถาบันเบื้องสูง เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2554 ในเวทีครบรอบ 1 ปีรำลึกถึงแนวร่วมที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า มีคำพูดของจำเลยที่ 2 คือ นาย จตุพร และจำเลยที่ 8 คือนายนิสิต บางตอนที่อาจจะส่อไปให้เกิดความวุ่นวายต่อบ้านเมือง ซึ่งผิดเงื่อนไขประกันที่ศาลกำหนดไว้ในการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีก่อการร้าย จึงให้ถอนประกันจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 8 ดังกล่าว ส่วนจำเลยอื่นให้ยก
และผลจากที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว ทำให้นายจตุพร และนายนิสิต ต้องถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯทันที โดยในส่วนของนายจตุพรไม่มีเอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มครอง เนื่องจากเพิ่งยุบสภาไปก่อนหน้า
ปัญหาก็คือ “จตุพร” ต้องอยู่ในคุกไปจนถึงวันเลือกตั้งเลยหรือไม่
ตามสัญญาณจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้แยกระยะห่างระหว่างการเมืองของพรรคเพื่อไทย กับการเคลื่อน-ไหวของกลุ่มเสื้อแดง นปช.
ถึงขั้นมีคำสั่งห้ามแกนนำเสื้อแดงที่ลงสมัคร ส.ส. ขึ้นเวทีปราศรัยม็อบแดง
โดยยุทธศาสตร์รักษากระแสพรรคเพื่อไทยที่กำลังแรง ถือแต้มต่อคู่ต่อสู้อย่างพรรคประชาธิปัตย์ ไม่อยากให้การเคลื่อนไหวของม็อบเสื้อแดงขัดแข้งขัดขา สำคัญเลยก็คือ ประเด็นล่อแหลมหมิ่นเหม่สถาบันเบื้องสูง เสี่ยงกระแสตีกลับ
ตามเงื่อนไขไฟต์บังคับ “จตุพร” น่าจะต้องเสียสละตัวเอง สงบสติอารมณ์อยู่ในเรือนจำ
อย่างน้อยก็เข้าเหลี่ยมเรียกกระแสสงสารจากแนวร่วมเสื้อแดง ดึงแต้มเห็นใจให้พรรคเพื่อไทย ช่วยหาเสียงอยู่ในเรือนจำ จนกว่าการเลือกตั้งจะผ่านไป ตามสถานะของว่าที่ ส.ส.ระบบปาร์ตี้ลิสต์ในลำดับที่รับประกันความชัวร์ได้ “จตุพร” ก็จะได้สถานะผู้แทนฯพร้อมเอกสิทธิ์ ส.ส.คุ้มหัว
ออกมารับบท “ยั่วบาทา” ฝ่ายคุมเกมอำนาจได้อีก.
"ทีมข่าวการเมือง รายงาน"
未经允许不得转载:综合资讯 » ช่วยปั่นแต้มอยู่ในคุก!