ยังหาทางลงไม่ได้สำหรับเรื่องคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร.
จากเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ตุลาคม 2551 ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่บุกปิดล้อมรัฐสภาเพื่อขัดขวางการแถลงนโยบายของรัฐบาล นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี
คำสั่งดังกล่าวได้ส่งผลหลายประการต่อการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจกับการชุมนุมประท้วงฝ่าฝืนกฎหมายหลายรูปแบบหลายประการ
เมื่อมองย้อนกลับไป นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้อาศัยอำนาจของ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด และมีคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. ออกจากตำแหน่งในวันที่ 19 ตุลาคม 2552
วงการสีกากีถือว่าเป็นบทเรียนเจ็บปวดที่สุดของเหล่าข้าราชการตำรวจ…
ตอกย้ำความเชื่อที่ว่านักการเมืองที่เข้ามาล้วงลูก แทรกแซง ทำลายขวัญและกำลังใจผู้ปฏิบัติ
เสียหายใหญ่หลวงจากความไม่เชื่อมั่นคำสั่งรัฐบาล ไม่มั่นใจในการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการชุมนุม
การชี้มูลความผิดและมีคำสั่งปลด ผบ.ตร. รวมทั้ง ผบช.น.ขณะนั้นออกจากตำแหน่ง ทำให้เหตุการณ์ชุมนุมแต่ละครั้งไม่มีนายตำรวจหน้าไหนกล้าใช้ความเด็ดขาดของกฎหมายเข้ามาควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปโดยสงบ ทั้งที่กลุ่มผู้ชุมนุมจงใจฝ่าฝืนกฎหมายหลายบท
เป็นภาพที่สะท้อนผลกระทบจากนโยบายรัฐบาลในเรื่องการชุมนุมประท้วง
เป็นอุทาหรณ์ให้เห็นว่า หากฝ่ายการเมืองปล่อยวาง ไม่คิดแทรกแซงตำรวจ ไม่มีอคติส่วนตัวปนเรื่องงาน ปล่อยให้ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น
บ้านเมืองไหนไม่มีขื่อไม่มีแป บ้านเมืองนั้นก็หาความสงบปลอดภัยไม่ได้
คำชี้มูล ป.ป.ช. กลายเป็นความไม่เชื่อมั่นในเรื่องการชุมนุมประท้วง
พล.ต.อ.พัชรวาท อดีตผู้นำตำรวจ และเป็นน้องชายแท้ๆของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม อาจกล่าวได้ว่าตกเป็น “แพะรับ บาป” จนต้องดิ้นรนขอความเป็นธรรมด้วยตัวเอง เพื่อเรียกร้องความถูกต้องชอบธรรมให้กับองค์กรตำรวจ
แต่ดูเหมือนกลับถูกปิดกั้นทุกทาง จะไปยื่นฟ้องศาลปกครองก็ไม่รับ จะส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกรัฐบาลค้าน
จนทำให้ตำรวจมองกันว่า ชนวนเหตุที่มาของคำสั่งปลด พล.ต.อ.พัชรวาท น่าจะเกิดมาจากปมขัดแย้งคนสนิทผู้มีอำนาจเคลื่อนไหว กดดัน เลื่อยเก้าอี้ ผบ.ตร. และจนใช้เหตุสลายการชุมนุม 7 ตุลาคม ปลดพ้นตำแหน่ง
เป็นเรื่องที่อนาถใจของตำรวจที่ก้มหน้ารับสภาพการเมืองแทรกแซงอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน
พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากต้องหาทางเพื่อเรียกร้องขอความเป็นธรรมให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้เป็น “บรรทัดฐาน” เพื่อให้ป้องกันการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย และทำตามคำสั่งของรัฐบาล
ก.ตร. เป็นที่พึ่งพาสุดท้ายของอดีต ผบ.ตร.
พล.ต.อ.พัชรวาท ยื่นคำขออุทธรณ์ตามระบบอุทธรณ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 และ ก.ตร. ได้มีการพิจารณาคำอุทธรณ์ของ พล.ต.อ.พัชรวาท แล้วมีมติว่า การกระทำของ พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ได้เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง และให้ยกโทษปลดออกจากราชการ
แต่ที่เป็นเหตุผลสำคัญของ ก.ตร.คือ คณะกรรมการตำรวจเชื่อว่า การพิจารณาไต่สวน และชี้มูลความผิดทางวินัยของ ป.ป.ช.เป็นการกระทำเกินกว่าขอบเขตอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด
สอดรับความเห็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตอบข้อหารือของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับข้อโต้แย้งของ ก.ตร. ว่า มีความเป็นไปได้ที่การไต่สวนชี้มูลความผิดทางวินัยของ ป.ป.ช.เป็นการกระทำที่เกินกว่าอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด
เพราะกฎหมายกำหนดให้ ป.ป.ช.มีอำนาจหน้าที่ไต่สวนและวินิจฉัยในกรณีที่ร่ำรวยผิดปกติ กระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม
กฎหมายรัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจ ป.ป.ช.ไต่สวนวินิจฉัยชี้มูลความผิดทางวินัยมาตั้งแต่ต้น
ผู้ร้องเชื่อว่าองค์กรภาครัฐ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ล้วนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมาย
อยู่ใต้กฎเกณฑ์ของกฎหมายตาม “หลักนิติรัฐ”
ในเมื่อคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯ ตามกฎหมายในฐานะผู้บังคับบัญชา ผบ.ตร. ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของ ครม. ตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทย
แต่นายกรัฐมนตรีกลับเลือกใช้อำนาจ ครม.
ทางฝ่ายผู้ร้องจึงอาจเชื่อว่าเป็นการประวิงเวลาสั่งให้ พล.ต.อ.พัชรวาท กลับเข้ารับราชการ
ทั้งที่คณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่า กรณี พล.ต.อ.พัชรวาท นายกรัฐมนตรีอาจปฏิบัติได้ 2 ทาง คือ ปฏิบัติตามมติ ก.ตร.โดยการเพิกถอนคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องปลด ผบ.ตร.ออกจากราชการ หรือนายกรัฐมนตรีอาจโต้แย้งมติของ ก.ตร.โดยขอให้ ก.ตร.พิจารณาทบทวนมติใหม่
ก.ตร.มีมติให้ยกโทษ พล.ต.อ.พัชรวาท ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2552
มีการทบทวน และแจ้งมติให้นายกรัฐมนตรี ทราบเพื่อดำเนินการเพิกถอนคำสั่งปลดออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2553
ซึ่งถือว่าครบกระบวนการตามกฎหมาย…
แต่นายกรัฐมนตรีกลับวางเฉยไม่ปฏิบัติตามมติ ก.ตร. และใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อาศัยการประวิงเวลาดึงดันส่งเรื่องให้ ป.ป.ช.ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นในเรื่องข้อกฎหมาย
เพราะคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ตอบข้อหารือทางกฎหมายในเรื่องนี้ชัดเจนแล้ว และได้ชี้ชัดลงไปแล้วว่า ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการชี้มูลความผิด พล.ต.อ.พัชรวาท
กรณีนี้จึงยังคาราคาซังนายกรัฐมนตรี ไม่สนใจปฏิบัติหน้าที่ตามมติ ก.ตร.ทั้งที่เป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย
จึงเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้รักษากฎหมายบ้านเมือง
ตลอด 2 ปี ที่อดีตผู้นำตำรวจต่อสู้ตามครรลองกฎหมาย เพื่อปกป้องรักษาสถาบันอันทรงเกียรติ
สมควรได้รับการคืนความชอบธรรมเพื่อตอบแทนคุณงามความดีตลอดชีวิตราชการตำรวจ
เป็นความคาดหวังของตำรวจทั้งประเทศว่า เมื่อไรจะได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายการเมือง
พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่อาจหนีวงเวียนการเมืองที่มีอิทธิพลอยู่เหนือข้าราชการประจำ ถูกขย่มจนต้องพ้นจากเก้าอี้ ผบ.ตร. แต่ พล.ต.อ.พัชรวาท ไม่ได้คิดตอบโต้รัฐบาล เพราะความเชื่อมั่นในระบบคุณธรรม และวินัยของตำรวจ เป็นสิ่งที่ผู้นำตำรวจต้องทำให้เป็นตัวอย่างรุ่นน้องตำรวจ
แม้ต้องกล้ำกลืนรับสภาพที่ไม่เป็นธรรมจากฝ่ายการเมือง อาศัยบุคลิก “ความอ่อนนอก แข็งใน” ที่หล่อหลอมความเด็ดเดี่ยวอดีตผู้นำตำรวจที่ไม่ยอมก้มหัวให้ฝ่ายการเมือง แม้จะถูกกดขี่ข่มเหงทุกทาง
แต่ตัดสินใจลาออกจากอาชีพตำรวจ เพื่อไม่ให้เป็นเครื่อง มือของฝ่ายการเมือง และบั่นทอนเกียรติยศศักดิ์ศรีของตระกูล “วงษ์สุวรรณ” ที่ทุ่มเทเสียสละเป็นข้ารับใช้แผ่นดินมาหลายชั่วคน
ออกมาต่อสู้เรียกร้องความชอบธรรมให้กับองค์กรตำรวจ ไม่ยอมให้ “กฎหมู่เหนือกฎหมาย” และไม่ยอมก้มหัวให้ “ฝ่ายการเมือง” เข้ามาแทรกแซงตำรวจได้ง่ายๆ
แม้เวลาจะผ่านพ้นนานกว่า 2 ปี แต่เป็นแผลบาดลึกในใจของตำรวจทั่วประเทศ
ตัวอย่างของข้าราชการที่ครองตัวครองตนจนขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดขององค์กรไม่ใช่เรื่องง่าย คำสั่งของฝ่ายการเมืองไม่ปฏิบัติก็ถูกกล่าวหาละเว้น ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ก็ถูกชี้มูลมีความผิด
บ้านเมืองเราจึงดูพิกลพิการหาความชอบธรรมอะไรไม่ได้
ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงนักการเมืองที่คิดแต่ใช้อำนาจเกินความจำเป็น
ยังไม่สายเกินไปที่จะคืนความชอบให้กับนายตำรวจดีๆคนหนึ่ง.
ทีมข่าวอาชญากรรม
未经允许不得转载:综合资讯 » บทเรียนราคาแพงการเมืองปลด “พัชรวาท” ขอคืนความชอบธรรม