เปรียบมวย วัดลำหักลำโค่น ว่ากันว่า ในเหลี่ยมของนักเลือกตั้งอาชีพชั้นเซียน แค่อ่านฟอร์มหลังคิวรับสมัคร ส.ส.เขตเลือกตั้ง รู้หน้าคู่แข่งขัน ก็พอจะประเมินตัวเลขคร่าวๆกันได้แล้ว
ใครจะเข้าวิน ใครจะเข้าเพลส
เอา เป็นว่า เบื้องต้นเลย ประเมินตามกระแสที่นิ่งมาตลอดตั้งแต่ก่อนคิวรับสมัคร ส.ส.ปาร์ต้ีลิสต์ ประทับเบอร์กันอย่างเป็นทางการ ยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกเหตุว่า “แต้มพลิกผัน” ภาคอีสานพื้นที่โซนแดง แนวโน้มพรรคเพื่อไทยกวาดยกจังหวัดใหญ่ทั้งอุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ หนองคาย เลย ชัยภูมิ หนองบัวลำภู ฯลฯ
แต่ก็ยังมี ยกเว้นพื้นที่พิเศษจังหวัดนครราชสีมา ตัวเต็งหนึ่งตกเป็นของยี่ห้อชาติพัฒนา-เพื่อแผ่นดิน ของ “สุวัจน์ ลิปตพัลลภ” ที่ได้ทีมงานศิษย์เก่าของ “น้าชาติ” พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาฟื้นตำนาน “โคราชชาติพัฒนา” ตั้งเป้ากันไว้ถึง 8 เก้าอี้
ขณะที่ทีมผู้สมัครของพรรค เพื่อไทย ก็รู้ตัว ขอลุ้นแค่ 5 ที่นั่ง ส่วนยี่ห้อภูมิใจไทยภายใต้การนำทีมของนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ ยังเป็นแค่ “ตัวสอดแทรก” ไม่ใช่คู่ท้าชิง
เช่นเดียวกับ จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่กระแสเสื้อแดงไม่เข้มถ้าเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคอีสาน นั่นก็ทำให้ทีมผู้สมัครของพรรคเพื่อไทยยังไม่แกร่งพอที่จะ เหมาเข่งยกจังหวัด
แนวโน้มแบ่งโควตากระจัดกระจายกันไปตามกำลังยุทธ์
ไม่ ว่าจะเป็นทีมของนายวิฑูรย์ นามบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังไงก็ต้องทุ่มหมดหน้าตักเพื่อรักษาฐานที่มั่นสุดท้าย ไม่ให้ยี่ห้อประชาธิปัตย์ “กินไข่” ในภาคอีสาน
เช่นเดียวกัน ทีมของพี “ปรีชา เลาหพงศ์ชนะ” ที่ยึดจังหวัดอุบลฯเป็นฐานที่มั่นมายาวนาน งานนี้ก็คงเดินกำลังภายในร่วมกับมือขวาอย่างนายสิทธิชัย โควสุรัตน์ ปั่นแต้มเพิ่มตัวเลขให้ยี่ห้อ “ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน” ตามเดิมพันต่ำกว่า 4 เก้าอี้ ถือว่า “ขี้เหร่”
แต่ที่ลุ้นกันมันหยดเหมือนดูหนังบู๊ยุคโบราณ ก็คือจังหวัดบุรีรัมย์ เมืองหลวงของ “เนวิน ชิดชอบ” ที่ไฟต์บังคับต้องเหมาหมดทั้ง 9 เก้าอี้ เพื่อแสดงบารมีของ “ครูใหญ่” พรรคภูมิใจไทย ในขณะที่พรรคเพื่อไทยของ “นายใหญ่” ก็ต้องการสั่งสอน “คนทรยศ” ตามเกมส่ง “ทหารเฒ่าไม่มีวันตาย” อย่าง พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี อดีตรอง ผอ.รมน. บุกไปประกบถึงถิ่น
แบ่ง “บุรีรัมย์” มาได้ครึ่งหนึ่ง หักหน้า “เนวิน” ได้ ก็ถือว่าน่าพอใจสำหรับ “นายใหญ่”
ประเมิน กระแส ว่ากันตามเงื่อนไข “นครราชสีมา–อุบลราชธานี–บุรีรัมย์” 3 จังหวัดที่จะทำให้ตัวเลขในภาคอีสานของพรรคเพื่อไทยหายไป ยังไงก็ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
ขณะที่ภาคเหนือ ไล่ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ ฐานบัญชาการใหญ่ บ้านเกิดของตระกูล “ชินวัตร” รอบนี้คงต้องเดินหน้ากวาดให้หมดเพื่อประกาศศักดา เช่นเดียวกับที่เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน แนวโน้มกระแสพรรคเพื่อไทยเหมาเข่งยกจังหวัด
ตามพิกัดพื้นที่ “โซนแดงเข้ม”
แต่ จะแผ่วลงมาในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ไล่ตั้งแต่จังหวัดตาก ฐานปึ้กของยี่ห้อประชาธิปัตย์ แค่เจาะมาได้ 1 เก้าอี้ก็ถือว่ากำไร สำหรับพรรคเพื่อไทย ในสถานการณ์เดียวกันกับที่จังหวัดพิจิตร อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ที่มีเจ้าที่เก่า ครอบครองเป็นฐานที่มั่น
แบ่งฐานกำลังกระจัดกระจายทั้งยี่ห้อชาติไทยพัฒนา ชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน ภูมิใจไทย ฯลฯ
อย่างไร ก็ตาม “นับแต้มรวม” ภาคเหนือ ยี่ห้อเพื่อไทยก็ยังโกยได้เป็นกอบเป็นกำ นำเอาไปชดเชยกับ “ช่องโหว่” ในพื้นที่ปักษ์ใต้ที่ยี่ห้อ “เพื่อไทย” หวังชัวร์ได้แค่จังหวัดยะลา ด้วยอานุภาพของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา อดีต รมว.มหาดไทย “ไม่กินไข่” ก็นับว่าเก่งแล้ว
ที่ลุ้น กันสนุกจริงๆก็คือสนามปราบเซียน 33 เขตเลือกตั้งของกรุงเทพฯ ตามเป้าที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศก่อนสวมเสื้อหมายเลข 10 ยิงประตูเบอร์ 1 “เอาฤกษ์เอาชัย” ไม่หวังมากมายจะกวาดแค่ 33 เก้าอี้เมือง กทม.
เพราะเป็นสนามชี้วัดผลแพ้ชนะระหว่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย ใครจะได้จัดตั้งรัฐบาล
แต่ โดยสภาพแห่งความเป็นจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ วันนี้ไม่เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ปี 2550 ที่ทั้งกระแสและ “ตัวช่วย” เอื้อให้ประชาธิปัตย์ ขณะที่กติกาเลือกตั้งก็เปลี่ยนไปจากเขตใหญ่ให้โหนแต้มกันได้ มาเป็นการวัดดวงแบบใครดีใครอยู่ ในการต่อสู้แบบตัวต่อตัว เขตเดียวเบอร์เดียว
อย่าว่าแต่เขตชานเมืองรอบนอก พื้นที่รอบใน กทม. ประชาธิปัตย์ก็ยังมีเสียว
นั่น ก็เพราะ 2 ปีกว่าๆที่เป็นรัฐบาล “อภิสิทธิ์” ก็ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน พอจะโชว์ผลงานขอโอกาสสานต่อ โดยฟอร์มความเป็นมือบริหารก็ติดภาพ “ดีแต่พูด” ผลงานเทียบกับอดีตรัฐบาลไทยรักไทยและอดีตรัฐบาลพรรคพลัง ประชาชน ก็ยังถือว่าไม่ติดตา
เอาเป็นว่า “กรุงเทพโพล” ล่าสุด คือคำตอบ.
ทีมข่าวการเมือง รายงาน
未经允许不得转载:综合资讯 » กรุงเทพฯก็แต้มไหล