ช่วงใกล้โค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่วันเลือกตั้งแบบนี้ พรรคการเมืองต่างๆ ก็เร่งงัดกลยุทธ์การหาเสียงในหลากหลายรูปแบบออกมาเพื่อเรียกคะแนนเสียงจากกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงที่ยังไม่ตัดสินใจ…
ยิ่งเมื่อสำนักโพลล์ต่างๆ ทยอยเปิดผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนว่าจะเลือกพรรคการเมืองใด ทั้งในระบบเขตและระบบบัญชีรายชื่อแล้ว ยิ่งทำให้การหาเสียงเข้มข้นขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ตาม จากผลโพลล์ของสำนักต่างๆที่ออกมา ต้องยอมรับว่า มีผลสำรวจของบางสำนักค่อนข้างจะค้านสายตาของบรรดาพ่อยกแม่ยกพรรคประชาธิปัตย์อยู่พอสมควร โดยเฉพาะผลการสำรวจในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาธิปัตย์เพิ่งชนะพรรคเพื่อไทยมาอย่างขาดลอยในการเลือกตั้งสภาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2553 โดยประชาธิปัตย์ได้ 45 ที่นั่ง ขณะที่เพื่อไทยได้เพียง 15 ที่นั่ง โดยบอกว่าประชาธิปัตย์จะชนะเพียง 6 เขตจาก 33 เขต
เหตุผลนี้เอง ที่ทำให้ผู้สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์หลายคน บ่นใน Timeline ของ Twitter ว่าทำไมตัวเองไม่เคยถูกสำนักโพลล์มาถามเลยว่า จะไปเลือกใคร และถ้ามาถาม ผลการสำรวจที่ออกมาก็คงไม่ค้านสายตาแฟนคลับมากมายขนาดนี้
เดือดร้อนนักวิชาการจากสำนักโพลล์ต้องมาชี้แจงเป็นการใหญ่ว่า ผลการสำรวจนี้ อาจมีความคลาดเคลื่อนจากผลการเลือกตั้งที่จะออกมาจริงๆได้ เพราะมีผู้ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคใดอยู่มากพอสมควร ขณะที่บางโพลล์ก็ยอมรับว่า มีการเก็บข้อมูลในวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ จึงอาจไม่ได้ข้อมูลจากกลุ่มคนทำงานในออฟฟิศมากนัก
ประกอบกับสถานการณ์ในวันนี้ กับเมื่อปลายเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ย่อมไม่เหมือนกัน เพราะตอนนั้น คน กทม.ยังอาจเชื่อว่า การชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงซึ่งเกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทยอย่างแยกกันไม่ออก เป็นต้นเหตุของการเผาบ้านเผาเมือง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนครบปี ผลการสอบสวนต่างๆ ก็ยังไม่อาจชี้ชัดไปได้ว่า ใครเป็นคนเผากันแน่ ขณะเดียวกันในช่วงต้นปีนี้ ประชาชนต้องเผชิญกับภาวะสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น ไข่และน้ำมันพืชราคาแพงและขาดแคลน จนเดือดร้อนกันไปทั่ว จึงอาจเป็นสาเหตุให้คน กทม.เบื่อหน่ายรัฐบาลปัจจุบันที่มีประชาธิปัตย์เป็นแกนนำ
อีกทั้ง พรรคเพื่อไทยยังเปิดตัวสินค้าใหม่ อย่าง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มาเป็นตัวเลือกใหม่ที่แม้จะติดภาพนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อย่างชัดเจน แต่ผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทยรายนี้ ก็ดูเหมือนจะประสบความสำเร็จในการเน้นขายความใหม่สด ที่มาพร้อมความนุ่มนวลด้วยวลีเด็ด “ไม่แก้แค้น แต่จะแก้ไข” จนอาจทำให้คนกรุงที่อยู่ตรงกลางเริ่มปันใจไปจากพรรคประชาธิปัตย์
แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามที่จะเป็นตัวบอกว่า โพลล์ของสำนักใดมีความน่าเชื่อถือ หรือไม่น่าเชื่อถือ เหตุผลว่าโพลล์นั้นๆ มีความเป็น “วิทยาศาสตร์” หรือไม่ น่าจะเป็นคำตอบได้ดีที่สุด
การที่จะพิจารณาดูว่าโพลล์ใด มีความเป็น “วิทยาศาสตร์” หรือไม่ ต้องเริ่มจากวิธีการเก็บข้อมูลว่าใช้วิธี “สุ่มตัวอย่าง” หรือการทำให้ประชากรทุกคนที่จะไปสำรวจมีโอกาสในการเป็น “กลุ่มตัวอย่าง” อย่างเท่าเทียมกันหรือไม่
แน่นอนว่า การส่งนักศึกษาไปยืนรอบๆ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อถามคำถามกับคนที่เดินผ่านไปผ่านมาแถวนั้น ย่อมไม่ใช่วิธีการสุ่มตัวอย่างที่ถูกต้องตามหลักวิชา เพราะคนที่จะมีโอกาสเป็นกลุ่มตัวอย่าง คือคนที่สัญจรไปมาผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเท่านั้น คนที่ไม่เคยผ่านแถวนั้น หรือนานๆ ผ่านที จะไม่มีโอกาสถูกเลือกเป็นกลุ่มตัวอย่างเลย
นอกจากนี้ คนที่ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถามของนักศึกษา ก็น่าจะเป็นคนที่เป็น “คอการเมือง” จริงๆ เท่านั้น เพราะคนทั่วไปที่ไม่ใช่คอการเมือง อาจจะไม่ยอมเสียเวลามายืนตอบแบบสอบถามเป็นส่วนใหญ่
ยังมีโพลล์อีกบางสำนัก อาจใช้วิธีให้นักศึกษาโทรไปสอบถามกลุ่มตัวอย่างที่ใช้บริการสอบถามเพื่อขอความเห็นเป็นประจำ ซึ่งคนกลุ่มนี้ ก็จะเป็นผู้ที่สนใจการเมืองอยู่แล้ว จึงเป็นการปิดโอกาสคนอื่นๆ ที่จะมีโอกาสถูกเลือกเช่นกัน
หรือบางโพลล์ อาจใช้วิธีกำหนดกลุ่มอาชีพไว้ล่วงหน้า แล้วให้นักศึกษาไปวิ่งถามคนตามกลุ่มอาชีพให้ครบตามจำนวนที่กำหนดไว้ ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้สูงที่นักศึกษาจะเลือกไปถามคนที่คุ้นเคยและเข้าถึงง่าย ทำให้คนอื่นๆ ที่ควรจะมีสิทธิถูกเลือกต้องขาดโอกาสไป
ดังนั้น วิธีที่ง่ายที่สุดและไม่ซับซ้อนในการพิจารณาว่าโพลล์ไหนเป็นโพลล์แท้ หรือโพลล์เทียม ก็คือ ดูว่าสำนักที่ทำโพลล์มีการเปิดเผยวิธีการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดหรือไม่ (แต่เท่าที่ติดตามดู สำนักโพลล์ในประเทศไทยมักไม่ค่อยเปิดเผยวิธีการสุ่มตัวอย่างมากนัก) ขณะที่จำนวนตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถาม หากน้อยเกินไป ก็อาจทำให้โพลล์นั้นขาดความน่าเชื่อถือเช่นกัน
แต่ส่วนใหญ่ เรื่องจำนวนกลุ่มตัวอย่าง มักไม่ค่อยมีปัญหา หากสำนักโพลล์มีการแจ้งค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานในการสำรวจ รวมทั้งบอกวิธีการสัมภาษณ์และรายละเอียดของคำถาม จะยิ่งทำให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น
หากสำนักโพลล์ยังคงปกปิดข้อมูลวิธีเก็บข้อมูล หรือใช้กลยุทธ์แบบบอกไม่หมด ก็เป็นหน้าที่ของสื่อมวลชนที่ทำข่าวนั้น จะต้องซักถามให้ละเอียด จึงจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของสำนักโพลล์ที่ต้องการสร้างชื่อเพื่อไปเรียกราคาจากบริษัทเอกชนหรือราชการที่จะมาใช้บริการจ้างทำโพลล์ในอนาคต…
ชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี
ぷぷ
未经允许不得转载:综合资讯 » โพลล์แท้ VS โพลล์เทียมดูอย่างไร