มันเป็นพุทธบัญญัติที่ปรากฏมาแต่พุทธกาลนานแล้วว่า เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝนย่อมไม่เหมาะกับการที่ภิกษุจะเที่ยวโคจรไปยังที่หนึ่งที่ใด พระพุทธเจ้าจึงได้กำหนดให้ช่วงดังกล่าว เป็นเวลาที่ผู้รักษาศีลทั้งหลายพึงอยู่จำพรรษา ณ ที่ตั้ง อันหมายถึงเขตขัณฑสีมา นานเป็นเวลา 3 เดือน กับให้รอจนกว่าฝนจะสั่งลาฟ้า และไม่มีอุปสรรคต่อการจาริกแล้ว ถึงค่อยละจากการจำพรรษา เพื่อมุ่งหน้าไปแสวงหาเพียรปฏิบัติกันใหม่ในเวลานั้น
ด้วยข้อบัญญัติอันว่าด้วยฤดูกาลจำพรรษานี่เอง ที่ส่งผลให้บรรดาพุทธศาสนิกชนผู้เลื่อมใสในบวรศาสนามาช้านาน พากันสืบสานศาสนกิจเพื่อทนุบำรุงซึ่งศาสนา ด้วยการนำเอาเทียนที่ช่วยส่องสว่างไปน้อมถวายเป็นปัจจัยในพุทธบูชา จนกลายเป็นกิจกรรมประเพณีที่สืบทอดกันต่อ ๆ มา โดยมีวิวัฒนาการของการถวายเทียนจากเล่มน้อย ค่อย ๆ พัฒนาขึ้นเป็นแท่นเทียนเล่มใหญ่ ที่เกิดขึ้นจากการหลอมรวมของเทียนเล่มน้อย โดยกลุ่มผู้มีจิตศรัทธาที่พร้อมใจกันหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เพื่อให้สามารถส่องสว่างได้ตลอดช่วงจำพรรษา
และด้วยไทยเป็นชนที่ตกผลึกอยู่กับงานศิลปะเป็นสายใยในชาติกำเนิดมาแต่ไหนแต่ไร การคิดจะนำเทียนพรรษาไปถวาย เพื่อให้เกิดเนื้อนาบุญในศรัทธาประสาพุทธ หลายคุ้มชุมชนจึงไม่พ้นที่จะถ่ายทอดงานศิลปะประดิษฐ์ ขึ้นเป็นงานฝีมือบนแท่นเทียนบูชาแต่ละต้น จนนำพามาสู่งานแกะสลักลายอันวิจิตรตามภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือแม้กระทั่งการหล่อหลอมเยื่อเทียนลงบนเบ้าพิมพ์ ก่อนนำไปประดิดประดอยให้ดูสวยงามตามแนวคิดของศิลปินแต่ละยุคสมัย
การบรรจงแต่งเทียนพรรษาให้ดูอร่ามตา ตลอดจนการถวายเทียนแท่นที่ว่านี้ มิได้มีอยู่เพียงถิ่นหนึ่งถิ่นใด หากแต่เป็นวัฒนธรรมประเพณีที่สาธุชนทั่วทุกภูมิภาค ต่างพร้อมใจกระทำกันในวันเข้าพรรษาหรือวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8
แต่ถ้าจะถามกันว่า แหล่งใดคือถิ่นที่มีการพัฒนา และนำเสนอรูปแบบงานประเพณีที่เป็นรูปธรรมชัดเจนที่สุด ก็น่าจะตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า จังหวัดอุบลราชธานี เมืองที่มีประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มนุษย์และเคยเจริญรุ่งเรืองอยู่แถบฝั่งลำน้ำโขง ตลอดจนประวัติศาสตร์ด้านวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมายาวนานนั่นเอง คือท้องถิ่นที่สามารถสร้างงานประเพณีแบบจับต้องได้มากสุด!
โดยได้ชื่อว่าเป็นประเพณี ที่มีความโดดเด่นในเชิงเอกลักษณ์ ตรงการสร้างสรรค์เทียนแต่ละต้นอย่างประณีตบรรจง คงเก็บรักษาไว้ซึ่งพุทธชาดกที่เป็นตำนานด้านศาสนา มาสื่อความหมายให้รู้กันที่รายรอบต้นเทียนเหล่านั้น
ด้วยองค์ประกอบของงานศิลปะ ซึ่งบ่งบอกถึงคุณภาพจากชนชั้นปรมาจารย์แห่งท้องถิ่น ผสมกลมกลืนกับความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของผู้คนในแต่ละคุ้มบ้าน ที่ขยันขันแข็งร่วมแรงบรรจงสร้างต้นเทียนแต่ละต้นออกมาให้ดูงดงาม เป็นผลให้หน่วยงานด้านการท่องเที่ยว มองเห็นถึงคุณค่าของเนื้องาน ซึ่งหมายถึงงานประเพณี ที่เหมาะสำหรับการนำมาเป็นวัตถุดิบในการส่งเสริมการท่องเที่ยว
ปี พ.ศ. 2519 องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มีชื่อเรียกว่า “อสท.” ในขณะนั้น หรือ “ททท.” ในวันนี้ ได้เริ่มเข้าไปทำการศึกษาถึงศักยภาพของงานในระดับท้องถิ่นที่เป็นอยู่ของ จ.อุบลราชธานี และเมื่อเห็นว่าสามารถที่จะผลักดัน หรือยกระดับให้สูงกว่าที่เป็นอยู่ได้ ในปีถัดมาจึงได้มุ่งส่งเสริมพร้อมกับสนับสนุนให้มีการแปลงสภาพจากงานท้องถิ่น เติบใหญ่ขึ้นเป็นงานระดับประเทศ เพื่อชักชวนคนไทยในแต่ละภูมิภาคให้เดินทางไปท่องเที่ยว และชมงานประเพณีดังกล่าว กระทั่งต่อมาถึงหนุนนำขึ้นจนเป็นงานระดับนานาชาติ เพื่อให้ชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
มีการโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ ทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ อีกทั้งบรรจุไว้ในปฏิทินท่องเที่ยวประจำปี ที่ใครนึกจะเดินทางมาท่องเที่ยวเมืองไทยในช่วงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ก็สามารถจะสัมผัสได้กับวัฒนธรรมอันทรงคุณค่านี้
34 ปี ของการทุ่มส่งเสริมอย่างเป็นจริงเป็นจัง อุบลราชธานีจึงกลายเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยว ในช่วงเทศกาลแห่เทียนเข้าพรรษามากหน้าหลายตาแต่ละปี ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในท้องถิ่น ถูกนำมาเป็นโครงข่ายควบคู่ กันไป อาทิ การปรุงแต่งดินแดนอันเป็นแหล่งประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์มนุษย์ ที่โกรกผาด้านหน้าลำน้ำโขง ก็ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานแห่งชาติผาแต้มในเวลาต่อมา
หรือการเปิดประตูพรมแดนเชื่อมสู่ประตูอินโดจีนทางด้านด่านช่องเม็ก ทอดไปสู่แขวงจำปาสักนครอันเก่าก่อนของอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของแผ่นดินลาว ก็ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีส่วนเข้ามาเกื้อหนุนอุบลราชธานีให้กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับแนวหน้า ไปพร้อมกับการลงทุนในปัจจัยต่าง ๆ ที่พากันเติบโตขึ้นมารองรับ นับแต่ธุรกิจการบิน โรงแรม บริษัทนำเที่ยว ร้านค้าของที่ระลึก และอื่น ๆ
คงไม่มีใครปฏิเสธหรอกว่า งานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษา ถึงจะมีอยู่มากในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นที่นครราชสีมา สุพรรณบุรี หรือที่ไหนก็ตามที แต่ถ้าหมายถึงต้นแบบที่มีการเสกสรรค์ชิ้นงานกันอย่างพิถีพิถันแล้วนั้น อุบลราชธานี ยังถูกจัดให้อยู่ในอันดับแนวหน้าเหนือกว่าใคร โดยเฉพาะการทุ่มเทแรงกายแรงใจ และแรงทุนหนุนนำในการสร้างเทียนแต่ละต้นของแต่ละคุ้มบ้านออกมา ซึ่งมันสูงเกินกว่าเงินรางวัลที่จะได้รับจากการชนะประกวดถึงหลายเท่าตัวนัก
แต่พวกเขาก็พร้อมใจทำกันโดยไม่เกี่ยงงอนในเรื่องนี้!
และถึงแม้ว่าช่วงหนึ่งของงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษาระดับนานาชาติที่เมืองนี้ จะถูกอิทธิพลของกระแสต่างประเทศเข้าไปรบกวน ตรงที่มีการคัดนำเอาสาวงามประเภทลูกครึ่งผสมไทย-ตะวันตกขึ้นไปนั่งเป็นเทพีประดับต้นเทียน จนถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมกันอย่างแพร่หลายนั้น
ท้ายที่สุด…ถึงวันนี้กลับไม่มีภาพของสาวงามเหล่านั้น หลุดออกมาให้เห็นเป็นที่อุจาดตากันอีกแล้ว!
และเมื่อถึงวันนี้อีกเช่นกัน วิวัฒนา การของงานประเพณีแห่เทียนเข้าพรรษานานาชาติอุบล ราชธานี ก็ใช่ว่าจะมีกิจกรรมอยู่เฉพาะการอวดผลงานศิลปะต้นเทียน หรือสาวงามประดับเทียนแต่ละต้น ไปจนถึงการจัดขบวนแห่ให้ดูอลังการ กระทั่งการประดับตกแต่งเรือนรัศมีต้นเทียนให้ดูสุกใสในยามราตรีเท่านั้น
หากแต่เมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ททท. ซึ่งได้ชื่อว่าคือผู้สนับสนุนกิจกรรมตัวจริงนั้น ได้เพิ่มสีสันการจัดเทศกาลให้สมกับการยกระดับขึ้นเป็นงานนานาชาติมากขึ้น นั่นคือการ จัดกิจกรรมเสริมด้วยงานแสดงประติมากรรมเทียนนานาชาติ ก่อนวันจัดขบวนแห่เทียนเข้าพรรษา โดยปีนี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4-31 กรกฎาคม 2554
กิจกรรมล่าสุดนี้เริ่มจากการประกาศชวนเชิญเหล่าศิลปิน ผู้มีความสามารถด้านงานแกะสลักจากทั่วโลก มาแสดงฝีมือในการแกะสลักเทียนขี้ผึ้งตามตำรับไทย ซึ่งปีนี้ปรากฏว่ามีศิลปินยื่นความจำนงเข้าร่วมงานจากทั่วทุกมุมโลกมากถึง 80 ราย
แต่ได้รับการคัดเลือกให้เดินทางมาร่วมงานเพียง 8 ราย จาก 8 ประเทศ อันประกอบด้วย ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส บราซิล เบลเยียม เนปาล ยูเครน ลัตเวีย และไทย
กิจกรรมที่ว่านี้ศิลปินทั้งหมดต่างได้รับก้อนเทียนขี้ผึ้งขนาด 1 ตารางเมตร คนละ 3 ก้อน พร้อมอุปกรณ์เครื่องมือในการแกะสลัก กับจะมีนักศึกษาด้านประติมากรรมของไทย จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ อันได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ศิลปากร มหาสารคาม และวิทยาลัยอาชีวอุบลราชธานี คอยเป็นผู้ช่วยให้อีกรายละ 10 คน
สำหรับแนวคิดของการผลิตงานนั้น ได้ถูกกำหนดไว้ภายใต้คำเชื้อชวนให้ช่วย “หลอมใจเพื่อโลกยั่งยืน” หรือ Sustain Heart…Sustain World
เหล่าศิลปินที่เข้าร่วมงานครั้งนี้ ต่างใช้ลานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติอุบลราชธานี เป็นเวทีผลิตงานกันจนถึงวันที่ 14 ที่ผ่านมา จากนั้นงานทั้งหมดได้ถูกนำออกแสดงให้ประชาชนทั่วไปได้เข้าชม ณ สถานที่เดียวกัน ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม ศกนี้
ถึงตรงนี้มีเรื่องอยากจะบอกอยู่อย่างหนึ่งว่า ที่เมืองซับโปโร เกาะฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ที่นั่นเขานำเอากิจกรรมปั้นหิมะของเหล่าเด็ก ๆ ในช่วงฤดูหนาว มาเป็นแบบอย่าง แล้วพัฒนาขึ้นเป็นงานเทศกาลแกะสลักหิมะนานาชาติ เพียงไม่กี่ปีเท่านั้น ก็สามารถสร้างแรงจูงใจคนจากทั่วโลกให้เดินทางไปร่วมงานปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน !
ของไทยเราถ้าช่วยกันอย่างจริง จัง…ไม่แน่เหมือนกัน งานแกะสลักเทียนนานาชาติอุบลราชธานีอาจจะได้รับความสนใจไม่แพ้แกะสลักหิมะแห่งเมืองซับ โปโรเลยก็ว่าได้…
รู้ไว้ก่อนไปเที่ยว : รอบรู้เกี่ยวกับวัด
วัดทุ่งศรีเมือง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง มีพระอุโบสถศิลปะรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผสมกับศิลปะเวียงจันทน์ และยังมีหอไตรสร้างด้วยไม้อยู่กลางสระน้ำ ศิลปะผสมไทย พม่า ลาว
พระแก้วบุษราคัม อยู่ทางทิศใต้ของศาลากลางจังหวัด ประดิษฐานอยู่ในวัดศรีอุบลรัตนาราม (วัดศรีทอง) เป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองปฏิมากรปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน แกะสลักจากแก้วบุษราคัม
วัดแจ้ง ตั้งอยู่ถนนสรรพสิทธิ์ มีพระอุโบสถที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2455 รูปทรงสวยงามมาก คือมีงานจำหลักไม้ฝีมือแบบพื้นฐานโดยแท้
วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตั้งอยู่ตรงถนนเสด็จ สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2393 มีพระอุโบสถที่แปลกโดยแบ่งออก เป็นสามส่วน คือส่วนหลังคาศิลปะแบบไทย ส่วนกลางเป็นศิลปะตะวันตก และส่วนฐานเป็นศิลปะแบบขอม.
งานแสดงประติมากรรมเทียนนานาชาติ ครั้งที่ 6 ณ พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติอุบลราชธานี ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 กรกฎาคม 2554…ศิลปินร่วมงานจาก 8 ประเทศ
1. นางสาวลิวด์มายลา มายสโค จากเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน สร้างสรรค์งานชื่อ “Song of my heart”
2. นายโจนาธาน เมนคาเรลลี่ ชาวฝรั่งเศส สร้างสรรค์งานชื่อ “Sunrise Energy”
3. นายโอจารส์ อาร์วิดส์ เฟลเบิร์ก ชาวลัตเวีย สร้างสรรค์งานชื่อ “Vertical Knot”
4. นายโอม แคททรี ชาวเนปาล สร้างสรรค์งานชื่อ “Infinity”
5. นายเทียร์รี่ เลาเวอร์ส ช่างแกะสลักชาวบรู๊กก์ ประเทศเบลเยียม สร้างสรรค์งานชื่อ “Sustain my heart…Sustain my world”
6. นายอิเคดะ ชิเกรู จากเมืองฟูกูโอกะ ประเทศญี่ปุ่น สร้างสรรค์งานชื่อ “Heart”
7. นายจอร์จ ลุยซ์ โชเดอร์ จากเมืองซานตา คัททารินา ประเทศบราซิล สร้างสรรค์งานชื่อ “Wrapper”
8. นายพุทธิพงษ์ วงศ์วรรณา ชาวอุบลราชธานี สร้างสรรค์งานชื่อ “Light of Dhama”
ōō
未经允许不得转载:综合资讯 » เที่ยววัฒนธรรมสืบสานประเพณี 34ปี แห่เทียนพรรษาฯเมืองอุบลฯ