综合资讯
当前位置:综合资讯 > 资讯 > 泰国新闻 > 正文

จาก "ดีแต่พูด" ถึง "โกหกคนทั้งชาติ" วาทกรรมเพื่อดิสเครดิตฝ่า

จาก "ดีแต่พูด" ถึง "โกหกคนทั้งชาติ" วาทกรรมเพื่อดิสเครดิตฝ่า

ในระหว่างที่การจัดตั้งรัฐบาลยังฝุ่นตลบอันเนื่องมาจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังประกาศรับรองผู้ที่ชนะการเลือกตั้งให้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ยังไม่ครบตามจำนวนที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าสามารถเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้
นั่นคือ กกต.จะต้องรับรอง ส.ส.ให้ได้อย่างน้อย 475 คนจากทั้งหมด 500 คนหรือที่กฎหมายระบุไว้ร้อยละ 95 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด นับถึงวันนี้ กกต.ประกาศรับรองไปแล้วทั้งสิ้น 370 คน โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้รับรองเพิ่มเพียง 12 คนจากที่ประกาศรับรองไปก่อนหน้านั้น 358 คนเมื่อ 12 กรกฎาคม
ในจำนวน 12 คนนี้ รวมถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ผู้สมัครในระบบบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคเพื่อไทย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รักษาการหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รวมอยู่ด้วย สร้างความโล่งใจให้กับบรรดากองเชียร์ของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง
แต่ในช่วงที่การจัดตั้งรัฐบาลยังไม่ลงตัวเพราะยังมีความสับสนว่า ใครเป็นผู้มีอำนาจในการจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ตัวจริงระหว่างคนที่อยู่ในประเทศหรือนอกประเทศ ก็เริ่มมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการนำเอานโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ประกาศไว้ในระหว่างการหาเสียงว่าจะสามารถนำมาปฏิบัติได้หรือไม่
ประเด็นที่เกิดปัญหามากคือ เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น แกนนำของพรรคเพื่อไทยต่างออกมาให้สัมภาษณ์กันไปคนละทิศละทาง บางคนถึงขึ้นบอกว่า การประกาศนโยบายก่อนการเลือกตั้งเป็นเพียงกลยุทธ์ในการหาเสียง ส่วนนโยบายใด จะสามารถทำได้จริงหรือไม่ แค่ไหน และเมื่อไหร่นั้น ต้องมาพิจารณากันอีกที
ทั้งนี้ ก็สอคคล้องกับคำให้สัมภาษณ์ล่าสุดของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ยืนยันว่า การเดินหน้าทุกนโยบายจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะไม่เดินหน้าทำโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
ตรงนี้เองที่เป็นช่องให้ฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะบรรดาว่าที่ ส.ส.ฝีปากกล้าของพรรคประชาธิปัตย์ที่พยายามออกมาสร้างวาทกรรม “โกหกคนทั้งชาติ” ให้เป็นตราประทับไว้กับว่าที่นายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่มลงมือทำงานบริหารประเทศ
เมื่อกล่าวถึงวาทกรรมทางการเมืองที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทิ่มแทงรักษาการนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อย่างได้ผล ทั้งก่อนและระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งแล้ว คงไม่มีวาทกรรมใดที่จะร้ายไปกว่าข้อกล่าวหาว่า “ดีแต่พูด” นั่นเพราะบุคลิกที่ที่โดดเด่นของนายอภิสิทธิ์คือการพูดหรืออภิปรายในที่สาธารณะ
ดังนั้น ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นายกฯอภิสิทธิ์ จึงถูกเชิญไปเป็นประธานเปิดงานพร้อมแสดงปาฐกถาเป็นประจำ และเมื่อเป็นการพูดในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารจึงทำให้ต้องพูดถึงสิ่งที่รัฐบาลจะดำเนินการอยู่เป็นประจำ ทำให้เกิด “สัญญาประชาคม” อยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน
แต่เมื่อคำนึงถึงสภาพการทำงานของรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมมาจากหลายพรรคการเมืองแล้ว การที่นายกฯอภิสิทธิ์จะผลักดันนโยบายต่างๆ ที่เคยไปพูดไว้ให้เป็นรูปธรรมจริงๆ ย่อมเป็นเรื่องยาก เพราะกระทรวงสำคัญๆหลายกระทรวงอยู่ในความดูแลของพรรคร่วมรัฐบาล
ประกอบกับสไตล์การทำงานส่วนตัวของนายกฯอภิสิทธิ์ที่มักจะสั่งการนโยบายต่างๆ ผ่านข้าราชการประจำโดยไม่ลงไปกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะเกรงว่าจะถูกครหาว่าลงไป “ล้วงลูก” แต่บางครั้งการไม่ลงไปกำกับดูแลทำให้ข้าราชการบางส่วนมองว่า นายกฯไม่มาร่วมรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายจากนโยบาย จึงมักไม่กล้าลงมือทำตามฝ่ายนโยบายที่สั่งการลงมาเพราะเกรงว่าจะมีความผิดในภายหลัง
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด น่าจะเป็นเรื่องมาตรการในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมและดินถล่มทั้งในภาคอีสานและภาคใต้ที่ดำเนินไปอย่างล่าช้า ประชาชนบางพื้นที่ถูกน้ำท่วมครั้งที่ 2 แล้ว แต่เงินช่วยเหลือจากการที่ถูกน้ำท่วมครั้งแรก ยังไม่ได้รับเลย ทั้งนี้ เพราะหน่วยราชการจะอ้างกฎระเบียบต่างๆ ทำให้ไม่สามารถดำเนินการได้
ทั้งนี้ ยังไม่นับเรื่องที่ว่าที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้ไปรับปากประชาชนกลุ่มต่างๆ ว่าจะแก้ไขปัญหานั้น ปัญหานี้ แต่ปัญหาเหล่านั้น ไม่ได้รับการแก้ไขด้วยเหตุผลเดิมๆ คือ เป็นกระทรวงที่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ดูแลโดยตรง หรือสั่งการไปแล้ว แต่ข้าราชการประจำยังไม่ได้ดำเนินการ
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่วาทกรรม “ดีแต่พูด” จึงถูกนำมาใช้อย่างได้ผลในการทำลายความน่าเชื่อถือหรือ “ดิสเครดิต” นายกฯอภิสิทธิ์ จนต้องยอมรับว่า เป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่พรรคประชาธิปัตย์พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งนี้
ประเด็นที่น่าจับตาต่อจากนี้ไปก็คือ วาทกรรม “โกหกคนทั้งชาติ” ที่ถูกเริ่มนำมาใช้กับว่าที่นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของประเทศไทย ซึ่งหากจะให้ความเป็นธรรมแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพรรคเพื่อไทยแล้ว คงจะต้องรอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลและลงมือบริหารประเทศไปก่อน แล้วจึงจะมาตัดสินกันว่าโกหกหรือไม่
แต่เงื่อนไขที่ต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างนายกฯอภิสิทธิ์กับว่าที่นายกฯยิ่งลักษณ์คือ ฝ่ายหลังคงไม่สามารถใช้ข้ออ้างว่า ไม่สามารถสั่งการข้ามกระทรวงได้ เพราะพรรคเพื่อไทยมีเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐบาลผสม จึงมีอำนาจต้อรองเหนือพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
ที่สำคัญกว่านั้น การพูด “ตามสคริปต์” ของว่าที่นายกฯ ยิ่งลักษณ์ที่ถูกกลั่นกรองมาจากทีมงานอย่างเข้มข้น ย่อมมีความปลอดภัยกว่าการพูดด้วยตนเองโดยไม่มีทีมงานสนับสนุนแบบนายกฯอภิสิทธิ์ เพราะมีคนช่วยกลั่นกรองและหาข้อมูลมาอย่างดีแล้ว
ส่วนผลลัพธ์ที่แท้จริงจะเป็นอย่างไร อีกไม่เกินรอก็คงจะได้เห็น เพราะรัฐบาลชุดใหม่นี้ ไม่น่าจะมีเวลาได้ “ฮันนีมูน” เหมือนกับรัฐบาลก่อนๆนี้ เพราะได้สร้างฝันให้กับคนไทยทั้งประเทศตั้งแต่ยังไม่เข้ามาบริหารประเทศซะแล้ว…

︶︶

未经允许不得转载:综合资讯 » จาก "ดีแต่พูด" ถึง "โกหกคนทั้งชาติ" วาทกรรมเพื่อดิสเครดิตฝ่า

赞 (0)
分享到:更多 ()