ภาษิตว่า “น้ำมาปลากินมด น้ำลดมดกินปลา”
และ “ในวิกฤติ มักมีโอกาส” น้ำท่วมครั้งนี้จึงมีโอกาสได้เห็นในหลายสิ่งที่ไม่ค่อยได้เห็นยามปกติ
เช่น ได้เห็นพรานเบ็ด พรานข่าย และพรานแหหลายคนพิชิตปลาตัวเขื่องติดไม้ติดมือกลับไปเป็นกับข้าวที่บ้าน หรือได้เห็นปลาน้ำจืดแปลกๆที่ไม่ค่อยได้เห็น กลับมาวางขายกันกลาดเกลื่อนตลาดสดอีกครั้ง
แต่ใช่ว่าชั่วโมงนี้จะเป็นชั่วโมงทองของบรรดาปลากินมด และคนที่ชื่นชอบ เมนูปลาเท่านั้น ยังมีแขกไม่รับเชิญ ใช้จังหวะเดียวกัน ถือโอกาสลี้ภัยแฝงตัวกับสายน้ำ บุกเข้าไปขออาศัยตามบ้านเรือนผู้คนให้ยั้วเยี้ยไปหมด
โดยธรรมชาติแล้วทั้ง งู ตะขาบ แมงป่อง จระเข้ และ อีกสารพัดอสรพิษแขกไม่ได้รับเชิญ ที่พาเหรดยกพลขึ้นบกชั่วโมงนี้ มักเลือกหาที่แห้งยึดหัวหาด ตามต้นไม้ และกอหญ้าที่น้ำท่วมไม่ถึงเป็นเป้าหมายแรกก่อน แต่หากในพื้นที่นั้นพ้นวิสัยที่จะเลือกหาทำเลดังว่าได้ เป้าหมายถัดไปพวกมันจึงจำเป็นต้องไปขออาศัยในบ้านเรือนผู้คน
โดยเฉพาะ งู แขกไม่ได้รับเชิญในยามน้ำท่วม ที่สร้างปัญหาหนักอกให้แก่คนมากที่สุดในลำดับต้นๆ ดังนั้น เพื่อให้รู้เท่าทันถึงเภทภัยที่แฝงมากับงูเงี้ยวเขี้ยวขออสรพิษยามน้ำท่วม จึงควรมาทำความรู้จักทั้งรูปร่างและความรุนแรงของพิษงูแต่ละชนิด ที่หลายคนอาจต้องเผชิญกับมันซึ่งหน้าอย่างไม่คาดฝันกันไว้บ้าง
ในโปสเตอร์ดังกล่าว จำแนกชนิดของงูที่มีโอกาสพบได้ในช่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้ 4 กลุ่ม หลักๆ คือ 1. งูไม่มีพิษ 2. งูมีพิษอ่อนมาก ไม่เป็นอันตรายกับคน 3. งูมีพิษอ่อน แต่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และ 4. กลุ่มงูพิษที่อันตรายถึงชีวิต
กลุ่มแรก งูไม่มีพิษ ที่อาจพบเห็นได้บ่อยในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ งูปลิง งูสิง งูก้นขบ (บางที่เรียกงู 2 หัว มักอาศัยอยู่ตามกอผักตบชวา) งูลายสอบ้าน งูปล้องฉนวนสร้อยเหลือง งูแสงอาทิตย์ (บางคนเรียก งูสายรุ้ง เพราะที่เกล็ดมันวาวเลื่อมพรายยามเมื่อต้องแสง คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเป็นงูพิษ เมื่อถูกกัดตอนกลางคืน รุ่งเช้าพระอาทิตย์ขึ้นจะทำให้ตาย) งูปี่แก้ว ลายแต้ม (ถึงแม้ว่าไม่มีพิษ แต่ฟันแหลมคมมาก)
งูไม่มีพิษ ที่พบได้ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังมี งูเหลือม และ งูหลาม แม้ว่างูทั้ง 2 ชนิดนี้จัดอยู่ในจำพวกงูไร้พิษก็ตาม แต่ผู้รู้เรื่องงูบางคนบอกว่า ทั้งฟันและเขี้ยวของงูเหลือมและงูหลามนั้น นอกจากแหลมคมใช่เล่น ในช่องปากของมันยังเต็มไปด้วยเชื้อแบคทีเรียมหาศาล ฉะนั้น ใครถูกมันฉกกัดจนเป็นแผลฉีกขาด ก็อย่าชะล่าใจ อาจเสี่ยงต่อการเป็นบาดทะยักหรือติดเชื้อในกระแสเลือด ถึงแก่ความตายได้เช่นกัน
งูไม่มีพิษย่าน กทม.และปริมณฑลอีกประเภท แม้ปัจจุบันจะพบเห็นได้น้อย แต่เมื่อพบแล้วมักสร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้พบเห็นเสมอ คือ งูงวงช้าง
เพราะมันเป็นงูน้ำจืดขนาดใหญ่ มีลำตัวป้อมอ้วนสั้น ไม่มีลวดลายผิวหนังสากย่นคล้ายเปลือกขนุน ส่วนหัวแบนเล็ก เกล็ดที่หนังมีลักษณะเป็นตุ่มส่วนท้องขาว ไม่มีเกล็ดที่ท้อง ฟันแหลมคม ยามอยู่พ้นน้ำจะมีสีเหลืองนวล เมื่ออยู่ในน้ำจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลดำ ความยาวลำตัวประมาณ 1 เมตร
งูชนิดนี้ชอบอาศัยอยู่ในน้ำ ขุดรูอยู่ตามตลิ่ง และมักกินปลาเป็นอาหาร จึงพบได้ตามแหล่งน้ำทุกภาคของประเทศ ปกติมีนิสัยชอบอยู่นิ่ง และไม่ดุร้ายแต่ถ้าถูกรบกวนมักจะใช้ลำตัวรัดพัน เมื่อมีคนลงไปว่ายน้ำในถิ่นที่งูงวงช้างอาศัยจึงมักจะถูกมันรัดเอา ซึ่งคนสมัยก่อนมักเข้าใจผิดคิดว่า ถูกผีพรายรัดในขณะเล่นน้ำ
กลุ่มถัดมา งูมีพิษ แต่พิษอ่อนมาก ได้แก่ งูเขียวพระอินทร์ กับ งูเขียวปากแหนบ (บางคนเรียก งูเขียวปากจิ้งจก) งูทั้งสองชนิดนี้บางคนอุตรินำมาเป็นสัตว์เลี้ยง แม้ว่าระดับความเป็นพิษของมันจะอ่อน แต่ก็ทำเอาเลือดไหลซึม และปวดแผลได้เช่นกัน
กลุ่มที่สาม งูพิษอ่อน แต่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ คือ งูเขียวหางไหม้ตาโตท้องเขียว งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง และ งูลายสาบคอแดง
ยกตัวอย่าง พิษของงูเขียวหางไหม้ทั้ง 2 ชนิด ส่งผลโดยตรงต่อระบบเลือดและเม็ดเลือด จึงทำให้ปวดบวมบริเวณที่ถูกกัด มีเลือดออกใต้ผิวหนัง บางรายอาจถึงกับอาเจียนออกมาเป็นเลือด เกิดภาวะช็อก และผู้ถูกกัดบางรายอาจถึงแก่ความตายด้วยอาการไตวายได้
กลุ่มสุดท้าย งูพิษ (ในเมือง) ที่อันตรายถึงชีวิต มี 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ งูเห่า งูสามเหลี่ยม และ งูแมวเซา
อสรพิษร้ายทั้งสามชนิดนี้ พบเห็นที่ไหน ให้อยู่ห่างเอาไว้ เป็นไปได้ควรรีบโทร.แจ้งผู้เชี่ยวชาญ (เบอร์โทร.อยู่ท้ายเรื่อง) มาช่วยจัดการให้ดีที่สุดเพราะหากถูกฉกกัดแล้วหาเซรุ่มฉีดแก้พิษไม่ทัน ภายใน 1-2 ชั่วโมงอาจได้ไปพบยมทูตก่อนกำหนด
โดยเฉพาะพิษของ งูเห่า นั้น มีผลโดยตรงต่อระบบประสาท ผู้ที่ถูกกัด จะหนังตาตก เหมือนคนจะหลับ ขากรรไกรค้าง ลิ้นแข็ง กลืนน้ำลายไม่ได้พูดลำบาก เพราะพิษทำให้ระบบหายใจล้มเหลว
ความรู้จาก วัชรินทร์ วันนาม เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยสถานีดับเพลิงบางเขน ซึ่งมีประสบการณ์ไปช่วยกู้ภัยงูให้ชาวบ้านมานานกว่า 7 ปี บอกว่า งูที่มักอาศัยอยู่ในเมือง และพบได้บ่อยสุด คือ งูเห่า งูเขียวหางไหม้ งูเขียวธรรมดา งูสิง งูทางมะพร้าว และงูแสงอาทิตย์
วัชรินทร์บอกว่า ปกติงูเมืองเหล่านี้ ไม่ค่อยว่ายน้ำ จึงไม่ต้องกังวลว่าเวลาที่ต้องเดินลุยขาจมอยู่ในน้ำ แล้วงูเหล่านี้จะมาฉกกัด แต่กระนั้นก็ไม่ควรเดินเข้าไปในบริเวณกอหญ้า หรือขอนไม้ หรือเข้าใกล้กิ่งไม้ต้นไม้ในช่วงที่น้ำท่วม เพราะงูมักจะว่ายหนีน้ำไปขดตัวอยู่ในบริเวณดังกล่าว
เขาแนะนำให้สังเกตดูระดับน้ำท่วมว่าสูงถึงแค่ไหน โดยมากงูมักจะอพยพขึ้นไปสูงกว่าระดับนั้น ยกเว้นงู 2 ชนิด คือ งูเหลือม และ งูหลาม ที่อาจ ขดตัวอยู่ใต้น้ำ แล้วชูเฉพาะส่วนหัวขึ้นมาพ้นน้ำ ระหว่างที่เดินลุยน้ำ หากใครไปเหยียบโดนส่วนหางหรือลำตัวของมันเข้า ก็มีโอกาสถูกกัดหรือรัดเอาได้เช่นกัน
อีกข้อมูลที่เป็นประโยชน์จาก สัญชัย เมฆฉาย นักวิชาการด้านสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก แห่งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สัญชัยบอกว่า
“ปกติงูเป็นสัตว์ขี้อาย และไม่พุ่งเข้าทำร้ายคนก่อน แม้แต่งูพิษก็จะหลบคน ยกเว้นคนจะไปเหยียบหางมัน”
สัญชัยบอก ถ้าอยากรู้ว่างูตัวนั้นมีพิษหรือไม่ วิธีสังเกตเบื้องต้นให้ดูที่ลักษณะการแผ่แม่เบี้ย ซึ่งเป็นลักษณะของงูมีพิษ เมื่อพบเห็นที่ไหนพยายามอยู่ห่าง
นอกจากนี้ งูส่วนใหญ่จะยกหัวขึ้นฉกเป็นความยาวประมาณ 1 ใน 3 ของความยาวลำตัวงู เช่น งูจงอาง (ซึ่งเป็นงูป่า ไม่ใช่งูเมือง) สามารถยกหัวขึ้นฉกได้สูงถึง 1 เมตร จึงฉกได้เป็นระยะ 1 เมตร เป็นต้น
เจ้าหน้าที่จากสวนงูของสถานเสาวภาผู้หนึ่ง ให้คำแนะนำทิ้งท้ายไว้น่าสนใจ
“เมื่อถูกงูกัด ให้พยายามตั้งสติ อย่าตื่นตระหนกหรือกระวนกระวายจนเกินเหตุ เพราะถ้าเป็นงูพิษ การตื่นตระหนกจะยิ่งมีผลต่อการสูบฉีดเลือดของหัวใจ นำพาเอาพิษงูเข้าสู่ร่างกายและกระจายได้เร็วขึ้น ฉะนั้นต้องตั้งสติให้ดี”
“ขั้นตอนถัดมาพยายามรีดพิษออกจากบาดแผลให้มากที่สุด ล้างแผลด้วยแอลกอฮอล์ หรือทิงเจอร์ไอโอดีน จดจำลักษณะของงูที่กัดให้ได้ หรือนำเอาซากของมันไปโรงพยาบาลด้วยยิ่งดี เพราะหากไม่รู้ว่าเป็นงูชนิดใดกัด แพทย์จะรอดูอาการก่อนฉีดเซรุ่มให้ การฉีดเซรุ่มให้โดยไม่รู้แน่ชัดว่าเป็นงูพิษชนิดใด จะยิ่งเป็นการเพิ่มพิษงูให้แก่ผู้ป่วย”
ข้อแนะนำถัดมา ควรเคลื่อนไหวอวัยวะบริเวณที่ถูกงูกัดให้น้อยที่สุด หากจะใช้ไม้กระดานดามไว้เหนือแผลที่ถูกงูกัดและขันชะเนาะให้แน่น ควรใช้ผ้ารัดในตำแหน่งเหนือแผลงูกัด ห้ามใช้เชือกหรือยางรัด และต้องขันชะเนาะแบบให้เลือดไหลเวียนได้ด้วย ถ้าขันแน่นเสียจนไม่ยอมให้เลือดเดินเลย จะมีความเสี่ยงต่ออวัยวะที่ถูกงูกัดในภายหลัง
ใครเจองูเลื้อยเข้าบ้าน ต้องการความช่วยเหลือ สามารถโทร.แจ้งได้ที่สวนงู สถานเสาวภา 0–2252–0161, 0–2252–0167 สถานีดับเพลิงกู้ภัยบางเขน 0–2521–0397 สถานีวิทยุร่วมด้วยช่วยกัน 0–2644–6996 สายด่วน 191 หรือสายด่วนดับเพลิง 199 และศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ กทม. สายด่วน 1555 เป็นต้น.
未经允许不得转载:综合资讯 » เคราะห์ซ้ำน้ำท่วมงูขออยู่ด้วยทำไงดี