ผ่าสถานการณ์ “แก้รัฐธรรมนูญ” สังคมไทยเผชิญหน้า
การประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญวาระแรก ขั้นรับหลักการ ผ่านพ้นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยที่ประชุมได้มีมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่
ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทย และร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคชาติไทยพัฒนา
พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา โดยใช้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่งมีเนื้อหาสาระสำคัญ คือ
เป็นการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดช่องให้มีสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนจังหวัดละ 1 คน รวม 77 คน
และมาจากผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ที่รัฐสภาเป็นผู้คัดเลือกอีก 22 คน รวมเป็น 99 คน
เพื่อเข้ามาทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แทนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะมีที่มาจากการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549
อย่างไรก็ตาม ภายใต้บรรยากาศของการเริ่มต้นกระบวน การแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ภาพที่ปรากฏอย่างเห็นได้ชัดก็คือ
ทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายคัดค้าน การแก้ไขรัฐธรรมนูญออกมาเคลื่อนไหวกันอย่างเข้มข้น
ม็อบเสื้อแดง ยกพลมาเชียร์ที่หน้ารัฐสภา หนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
ขณะที่ม็อบเสื้อหลากสีก็ยกพลมาต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยื่นหนังสือคัดค้านถึงประธานวุฒิสภา โดยเน้นย้ำว่า ไม่ต้องการให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องช่วยเหลือล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
นัดชุมนุมคนเสื้อหลากสีทุกวันเสาร์ ลากเกมยาวต่อต้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับแกนนำม็อบเสื้อเหลือง กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่ดาหน้าออกแถลงการณ์ “หยุดนิติกรรมอำพรางล้มล้างรัฐธรรมนูญ ยึดอำนาจประเทศไทย”
ประกาศคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะนำไปสู่การล้างผิดให้ พ.ต.ท.ทักษิณและพวกพร้อมขู่จะดำเนินคดีอาญาต่อผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ยื่นร้องถอดถอน ส.ส. ส.ว. คณะรัฐมนตรี และร้องยุบพรรคการเมือง ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้
รวมทั้งนัดระดมพลแกนนำและตัวแทนกลุ่มพันธมิตรฯทั่วประเทศในวันที่ 10 มีนาคมนี้ เพื่อวางแนวทางในการขับเคลื่อนต่อต้านการล้มล้างรัฐธรรมนูญ
ขณะที่แกนนำม็อบเสื้อแดง กลุ่ม นปช. ก็ไม่ยอมน้อยหน้า ส่งสัญญาณให้มวลชนคนเสื้อแดงเตรียมพร้อมที่จะออกมาเคลื่อนไหวแสดงพลัง
สนับสนุนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และต่อต้านกลุ่มอำนาจนอกระบบ
ทุกกลุ่ม ทุกสีเสื้อ เตรียมเคลื่อนไหวก่อม็อบ โดยใช้ประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นหัวเชื้อ
“ทีมข่าวการเมืองไทยรัฐ” ขอบอกว่า รูปแบบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ คล้ายคลึงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
ที่เริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 เพื่อเปิดช่องให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมา ยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่
โดยในการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 ส.ส.ร.ชุดนั้นมีจำนวน 99 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมใน 76 จังหวัด โดยให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเองให้เหลือจังหวัดละ 10 คน และให้รัฐสภาลงมติเลือก ให้เหลือจังหวัดละ 1 คน รวม 76 คน และให้ตัวแทนสถาบันอุดมศึกษาเสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเข้ามาให้รัฐสภาเลือกอีก 23 คน
แต่เนื้อหาและบรรยากาศ แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
เพราะในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
มีปัจจัยเหตุมาจากการเมืองในขณะนั้นไม่ได้สนองตอบเจตนารมณ์การปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ยึดผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก
ฝ่ายการเมืองมีการใช้อำนาจรัฐแสวงหาผลประโยชน์ ทุจริตคอรัปชัน ทำให้ประเทศต้องเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ จนขาดความชอบธรรมในการใช้อำนาจ และเป็นสาเหตุนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร
ทำให้สังคมส่วนใหญ่พร้อมใจกันผลักดันให้มีการปฏิรูปการเมือง ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อควบคุมนักการเมืองให้อยู่ในกรอบกติกา
ไม่มีปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างกลุ่มมวลชนในสังคม
ต่างจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ ที่เพียงแค่เริ่มต้นกลุ่มมวลชนต่างสีต่างขั้ว ทั้งฝ่ายหนุน ฝ่ายต้าน ก็ออกมาฮึ่มๆขู่ปลุกม็อบแสดงพลัง ท้าทายกันแล้ว
สถานการณ์เสี่ยงต่อการเผชิญหน้ารอบใหม่
ยิ่งมีการจุดชนวนออกมาจาก ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายก-รัฐมนตรี แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ล่าสุดประกาศเปรี้ยงกลางสภาว่า
พร้อมจะพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน โดยออกพระราชบัญญัติปรองดอง
โยงไปถึงการปราศรัยของ ร.ต.อ.เฉลิม บนเวทีคนเสื้อแดง จังหวัดอุดรธานี ที่โหมนำร่องว่าหลังพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จจะเสนอร่าง พ.ร.บ.ปรองดองทันที เร็วๆวันนี้จะพา พ.ต.ท.ทักษิณกลับบ้าน
ก็ยิ่งเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้ฝ่ายหนุน และฝ่ายต้าน “ทักษิณ” ขยับแข้งขยับขาเตรียมพร้อมกันฝุ่นตลบ
พูดง่ายๆการจุดประเด็นเรื่องพา “ทักษิณ” กลับบ้านขึ้นมาในท่ามกลางบรรยากาศที่กำลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ก็เหมือนเป็นการปลุกเร้าให้ฝ่ายมวลชนคนเสื้อแดง ยิ่งเกิดความฮึกเหิม พร้อมบุกตะลุยไปข้างหน้า เพื่อให้ทุกอย่างบรรลุเป้าหมาย
ในขณะเดียวกัน ก็เป็นการปลุกให้ฝ่ายต้านทั้งกลุ่มเสื้อหลากสี กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ตื่นตัวเตรียมสกัดขัดขวาง
เหมือนตั้งใจ กระพือกระแส
จุดชนวน “วิกฤติทักษิณ” รอบใหม่ ให้ปะทุขึ้นมาอีก
ที่สำคัญ ในห้วงที่ผ่านมา รัฐบาลและ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาเรียกร้องหาความปรองดองในชาติ
ลงทุนเปิดทำเนียบฯจัดงานใหญ่ “รักเมืองไทย เดินหน้าประเทศไทย” เชิญผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านเมือง อย่าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ มาร่วมงาน
เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ส่งสัญญาณเรื่อง “ความปรองดอง”
แต่ในภาคปฏิบัติจริง ที่กำลังดำเนินการกันอยู่ กลับสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง
เหนืออื่นใด การออกมาประกาศเดินหน้าเสนอพระราชบัญญัติปรองดอง ที่ต้นร่างก็คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ล้างความผิดและคดีความทั้งหมดให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ
เปิดประตูให้ “ทักษิณ” กลับบ้าน
เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ยังเดินตามยุทธศาสตร์หลักของ “ทักษิณ”
ที่ต้องการกลับประเทศไทย โดยไม่ต้องรับโทษทางอาญา ไม่ต้องเผชิญคดีความต่างๆ
ยิ่งมองย้อนกลับไปที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ล่าสุดได้ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยระบุว่า
ตัวเลขความขัดแย้งทางการเมืองไทยยังเพิ่มมากที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้าใจ โดยการโดนทำรัฐประหารในปี 2006 คือความพ่ายแพ้ที่น่ากลัวสำหรับประชาธิปไตย เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญบางส่วนที่ยังไม่ค่อยมีความยุติธรรม
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าการให้อภัยเป็นกุญแจสำคัญ จึงต้องการที่จะให้อภัย และให้คนทั้งประเทศให้อภัยซึ่งกัน และกัน เพื่อให้บ้านเมืองเป็นหนึ่งเดียว ยืนยันไม่คิดแก้แค้น”
พร้อมทั้งยอมรับว่า ต้องการกลับประเทศไทย แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี
เป็นการตอกย้ำให้เห็นถึงเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่แน่วแน่ของ “ทักษิณ” ที่ต้องการ “กลับเมืองไทย โดยไม่ต้องติดคุก”
จึงไม่แปลกที่ช่วงปลายปีที่แล้ว ส.ส.พรรคเพื่อไทย และแกนนำกลุ่มเสื้อแดง พยายามเร่งผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตีคู่กับเร่งรัดให้มีการเสนอพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
แต่สุดท้ายก็ต้องชะลอออกไป เพราะ “น้ำ” มาก่อน
มาถึงตอนนี้เมื่อ “น้ำ” ผ่านไปแล้ว ก็ได้เวลาเร่งเครื่องทั้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดช่องโละรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมไปถึงการเร่งออกพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ในชื่อใหม่ที่ปรับใหม่ เป็นพระราชบัญญัติปรองดอง
หวังล้างโทษ โละคดีความ
เพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ ที่รอคอยมานาน
“พาทักษิณกลับบ้าน โดยไม่ต้องติดคุก”
จากปรากฏการณ์ ที่ ร.ต.อ.เฉลิม ตั้งใจโหมประเด็นร้อนในห้วงที่สังคมการเมืองกำลังเขม็งเกลียวในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ประกาศจะเสนอร่างพระราชบัญญัติปรองดอง หลังพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น เพื่อนิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ
หวังพา “ทักษิณ” กลับบ้าน โดยไม่ต้องติดคุก
แน่นอน เมื่อรัฐบาลพรรคเพื่อไทยตั้งเป้าเดินเกมแบบนี้
มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเริ่มต้นฉายหนังม้วนเก่า สถานการณ์ความเคลื่อนไหวของมวลชนทั้งฝ่ายสนับสนุน และฝ่ายต่อต้าน กำลังเดินย่ำซ้ำรอยเดิม
ฝันร้ายของผู้คนในสังคมเริ่มตั้งเค้า
ภาพม็อบหนุน ม็อบต้าน ลุกฮือเผชิญหน้า ภาพเหตุการณ์ปะทะรุนแรง เสียเลือดเสียเนื้อ เกิดเหตุจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง ผุดขึ้นมาให้เห็นเป็นฉากๆ
ทีมของเราขอชี้ว่า ในยามที่ประเทศไทยมีปัญหามากมาย ทั้งการฟื้นฟูและการวางระบบป้องกันน้ำท่วม การป้องกันสถานการณ์ก่อการร้าย การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้องของประชาชน ข้าวยากหมากแพง ที่รอการแก้ไข
แต่รัฐบาลกลับเลือกที่จะเร่งพา “ทักษิณ” กลับบ้าน จุดประเด็นขัดแย้งรอบใหม่ขึ้นในประเทศ
นั่นก็เท่ากับ “การเมือง” ไม่ให้โอกาสประเทศโงหัว.
“ทีมการเมือง”
ぱぱ
未经允许不得转载:综合资讯 » วิกฤติ "ทักษิณ" รอบใหม่ เค้นคอประเทศไทย