"กษิต" และคณะ เดินทางไปกรุงเฮกกลางดึก ฟังคำตัดสินของศาลโลก กรณีที่กัมพูชาร้องขอให้ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว บริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร เผยทุกคนต่างเดินทางไปด้วยใจระทึก แต่ด้วยความคาดหวังที่ดี…
เมื่อเวลา 23.00 น.วันที่ 14 ก.ค. ที่อาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศขาออก ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยก่อนเดินทางไปกรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ด้วยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG 920 เพื่อฟังคำพิพากษาของศาลโลกว่า ในวันที่ 18 ก.ค. เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือเวลา 15.00 น. (ตามเวลาในประเทศไทย) ศาลโลกได้นัดทั้งไทย และกัมพูชาให้ไปรับฟังคำตัดสินกรณีที่กัมพูชาร้องขอให้ ออกมาตรการคุ้มครองชั่วคราว บริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ซึ่งการเดินทางไปครั้งนี้ ทุกคนต่างก็เดินทางไปด้วยใจระทึก แต่ก็ด้วยความคาดหวังที่ดี เพราะจากการเตรียมการมาเป็นร่วมปีรวมกับที่ได้พบปะกับคณะที่ปรึกษาของไทย ทั้ง 3 คน รวมถึงจากการที่ตนและคณะไปให้การในวันที่ 30-31 พ.ค.ที่ผ่านมา พบว่ามีความหนักแน่นตามหลักกฎหมาย และครอบคลุมทุกประเด็น ที่เกี่ยวกับการปฏิเสธคำขอของกัมพูชา ตนและคณะจึงมีความมุ่งหวังว่าเหตุและผลและหลักกฎหมายนั้น จะเพียงพอให้ทางคณะผู้พิพากษาศาลโลกทั้ง 15 คนรับทราบและพิจารณาด้วยดี
ส่วนเอกสารที่ทางคณะผู้พิพากษาให้ยื่นเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาคดีนั้น ก็เป็นเรื่องเล็กน้อยเพราะเป็นเอกสารเกี่ยวกับการปะทะ บริเวณปราสาทตาเหมือนธม และปราสาทตาควาย อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ ซึ่งเป็นการยื่นข้อเท็จจริง รวมถึงการป้องกันตนเองที่ไทยกระทำ ในขอบเขตพื้นที่ไม่ได้มีการขยายการสู้รบ ส่วนความหนักหน่วงนั้นจะอยู่ที่ว่า จะถูกโจมตีมากน้อยแค่ไหน ซึ่งในช่วงของการสู้รบนั้น ทางรัฐบาลก็ได้การติดต่อที่จะให้มีการหยุดยิงหยุดปะทะ ด้วยการเรียกร้องต่อกัมพูชาโดยตรง และผ่านไปทางรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ถึงกรอบการเจรจา สมุดคู่มือที่จะให้มีการเจรจาคือบันทึกช่วยจำ หรือ MOU ปีพ.ศ. 2543 หรือกรอบการเจรจาเจบีซี จีบีซี โดยต่างๆ เหล่านี้ที่ทางไทยพร้อมจะพูดคุยเพื่อให้มีการหยุดยิงหยุดปะทะ แต่จนกระทั่งถึงวันนี้ ทางรัฐบาลกัมพูชาก็ยังปฏิเสธอยู่
สำหรับประเด็นปัญหาที่ทางกัมพูชาระบุว่ารัฐสภาของไทยไม่พิจารณาและให้ความเห็นชอบ ต่อบันทึกช่วยจำ 3 ฉบับ ที่สืบเนื่องมาจากผลการประชุมเจบีซี ล่าสุดทางสภาฯ ก็ได้ส่งเรื่องกลับมาให้ที่ฝ่ายบริหาร ตามข้อคิดเห็นของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งทั้งหมดก็พร้อมแล้วอยู่ที่กัมพูชาจะนำขึ้นมาพูดคุยกันหรือไม่ แต่การที่ทางรัฐบาลกระทำอยู่อย่างนี้ บ่งบอกถึงเจตนาว่าไม่อยากจะเจรจา แต่อยากจะใช้เวทีระหว่างประเทศเพื่อจะบีบคั้นประเทศไทย
นอกจากนี้ นายกษิต กล่าวเพิ่มว่า ตั้งแต่ได้อยู่ในคณะรัฐบาลของนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มา 2 ปีครึ่งนั้น ก็คิดว่ารัฐบาลและการดำเนินการของไทย ได้ยื่นมือเข้าไปให้ความร่วมมือกับกัมพูชาในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการศึกษา วัฒนธรรม ด้านสาธารณสุข การพัฒนา การค้าขาย การลงทุน เป็นต้น ซึ่งไทยก็ไม่เคยไปสร้างปัญหาหรือ ไปทำอะไรที่ถือเป็นการแทรกแซงในกิจการภายในของรัฐบาลของกัมพูชา ดังที่ฝ่ายกัมพูชาได้กระทำมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา ถือว่าเป็นการแทรกแซงในกิจการภายในเพราะเข้ามาการเล่นการเมืองภายใน และพยายามทำอะไรหลายอย่าง ที่เป็นการบั่นทอนเสถียรภาพของรัฐบาล และก็ทันทีที่แพ้เลือกตั้ง ทางรัฐบาลกัมพูชา ก็ได้มีการประกาศว่า สามารถทำงานร่วมกับรัฐบาลใหม่ได้ ตนคิดว่าหากจะตั้งใจทำงานกับรัฐบาลชุดนี้ ก็ไม่ได้มีข้อหามใดๆ แต่เมื่อไม่ต้องการจะทำงานด้วย มันก็เป็นประเด็นปัญหา และก็พยายามที่จะป้ายสี สาดโคลนมาที่รัฐบาลตลอดเวลา เพื่อสร้างความสับสนในสังคมไทย เนื่องจากทางรัฐบาลก็ได้พูดมาตลอดเวลา ในที่แจ้งที่ลับในทุกเวที ว่าไทยไม่มีผลประโยชน์ซับซ้อน และไม่มีเหตุผลอันใดที่ไทยจะไม่เป็นมิตรต่อประชาชนชาวกัมพูชา และหากรัฐบาลกัมพูชา อยากจะมีความสัมพันธ์ที่ดี กับรัฐบาลชุดต่อไป ก็ขอแสดงความยินดีด้วย
อย่างไรก็ดี นายกษิต กล่าวด้วยว่า อยากให้พี่น้องชาวไทยรับทราบว่าที่ผ่านมานั้นคิดว่า เราถูกกระทำถูกกลั่นแกล้งเสียมากกว่า แต่ก็ดำเนินนโยบายด้วยความอดทน ที่สำคัญถึงแม้ไทยจะมีข้อขัดแย้งเรื่องที่เกี่ยวกับปราสาทพระวิหาร ก็ไม่เคยเอาเรื่องนี้ไปกระทบกับความสัมพันธ์ในด้านอื่นๆ ไม่เคยไปปิดชายแดน ไม่เคยทำให้พี่น้องชาวไทยและชาวกัมพูชาตามแนวชายแดนเดือดร้อน ทั้งนี้ นายกษิต และคณะจะเดินทางกลับถึงประเทศไทยในวันที่ 19 ก.ค.นี้.
ⅵⅵ
未经允许不得转载:综合资讯 » บินฟังคำศาลโลก กษิตระทึก ตัดสิน’พระวิหาร’